สรุปการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติโรงงาน ฉบับ กมธ.อุตสาหกรรม

วินโพรเสส

จากปัญหาโรงงานพลุระเบิดที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเดือนมกราคม 2567 เรื่อยมาจนถึงการพบสารแคดเมียมที่โรงงานใน จ.สมุทรสาคร จ.ชลบุรี และกรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน 2567 และการเกิดเพลิงไหม้ โรงงานวิน โพรเสส จ.ระยอง และโรงงานเก็บสารเคมีที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา 

นำมาสู่ประเด็นปัญหาการจัดการกับกากสารเคมีที่ตกค้างที่ยังไม่คืบหน้า จนกลายเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถามว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ซึ่งแนวทางหนึ่งคือการเร่งแก้ไข “กฎหมาย” เพื่อบังคับใช้อย่างจริงจังในการกำกับดูแล

กมธ.อุตสาหกรรมลุยแล้ว 

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้า การแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … กมธ.อุตสาหกรรมได้แบ่ง การยื่นแก้ไขเป็น 2 ส่วน คือ การยื่นแก้ไขเฉพาะในส่วน “นิยาม” โดยจัดขยายให้ครอบคลุม “โรงงานพลุ” ไว้ในนิยามด้วยหลังจากเกิดเหตุการณ์โรงงานพลุระเบิด พร้อมกับเรื่องการเพิ่มบทลงโทษโรงงานอุตสาหกรรมที่ทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการเพิ่มโทษอาญา และโทษปรับด้วย

“ส่วนนี้เป็นส่วนแรกที่ทาง กมธ.อุตสาหกรรมเสนอโดยใช้ช่องทางสภาผู้แทนราษฎร โดยอาศัย สส. 20 คน ให้การรับรอง ช่องทางนี้จะเร็ว เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นร่าง พ.ร.บ.ทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน”

สรุปสาระสำคัญการแก้กฎหมาย

ทั้งนี้ ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ต่อสภาผู้แทนราษฎร และได้จัดทำบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 110 ของ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ดังต่อไปนี้

Advertisment

1.เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ

โดยที่ภายหลังประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 พบว่ายังคงมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการควบคุมการประกอบกิจการขนาดเล็กที่มีความเสี่ยง และมีความเป็นอันตรายโดยสภาพของการประกอบกิจการนั้น รวมทั้ง ข้อจำกัดเกี่ยวกับอำนาจในการกำกับ ดูแลเอกชนที่เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรม

ข้อจำกัดของหน่วยงานเฉพาะที่ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่องที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ข้อจำกัดในการใช้มาตรการบังคับ ทางปกครอง ข้อจำกัดเกี่ยวกับหลักประกันในการนำมาเยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการประกอบกิจการโรงงาน ข้อจำกัดเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

และข้อจำกัด เกี่ยวกับบทกำหนดทางอาญาในการลงโทษผู้กระทำผิด ดังนั้น สมควรต้องแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดจำพวกของโรงงาน การกำหนดความรับผิดทางแพ่ง การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การ กำหนดอำนาจในการกำกับดูแลในพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรม การกำหนดให้มีการใช้มาตรการบังคับ ทางปกครองที่เหมาะสม การกำหนดให้ต้องจัดทำประกันภัย รวมทั้งการเพิ่มเติมบทกำหนดโทษทางอาญาให้สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

Advertisment

2.สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

2.1 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวง กำหนดให้การประกอบกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ทรัพย์สิน ประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งอาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 (ร่างมาตรา 3)

2.2 เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการประกอบกิจการโรงงานให้รัฐมนตรีมีอำนาจออก กฎกระทรวงในเรื่องดังนี้

2.2.1 กำหนดให้มีมาตรฐานโรงงานหรือมาตรฐานสากลเพื่อให้โรงงานมีความ รับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม (ร่างมาตรา 4)

 2.2.2 กำหนดให้มีหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรมให้มีภารกิจและหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเข้าตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการเฉพาะภายใต้การกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ร่างมาตรา 4) 

2.2.3 กำหนดให้มีโรงงานบางชนิดหรือประเภทที่ต้องทำประกันภัยกับผู้รับประกันภัย ตามกฎหมายว่าด้วยประกันภัยเพื่อเป็นการคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน (ร่างมาตรา 4)

2.3 กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง เป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมโดยกำหนดให้ผู้บริหารเขตประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้บังคับ พระราชบัญญัตินี้โดยมีหน้าที่ความรับผิดและสิทธิใด ๆ เสมือนเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงาน (ร่างมาตรา 5)

2.4กรณีที่โรงงานจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือการประกอบกิจการของโรงงานจะก่อให้เกิดอันตรายความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานนั้นหยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวและปรับปรุง แก้ไขโรงงาน สั่งพักใช้ใบรับแจ้งสำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 หรือสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน สำหรับโรงงานจำพวกที่ 3 รวมทั้งสั่งปิดโรงงานและให้มีผลเป็นการเพิกถอนใบรับแจ้งสำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 หรือมีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสำหรับโรงงานจำพวกที่ 3 (ร่างมาตรา 6)

2.5 กำหนดให้เพิ่มความรับผิดทางแพ่งกับผู้ประกอบกิจการโรงงานและต้องร่วมรับผิด ในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างหรือบุคคลใดได้กระทำไปในการทำงานและให้โรงงานรับผิดชอบต่อความเสียหาย ดังนี้

2.5.1 บทบัญญัติหมวดนี้ไม่ลบล้างหรือจำกัดหน้าที่และความรับผิดทางแพ่ง ที่บุคคลมีอยู่ตามบทบัญญัติกฎหมายอื่น (ร่างมาตรา 7)

2.5.2 ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างหรือบุคคล ใดกระทำไปในการทำงานให้แก่ตน แต่ชอบที่จะได้ชดใช้จากบุคคลดังกล่าว เว้นแต่ตนมีผลโดยตรงให้เกิดการละเมิดขึ้น (ร่างมาตรา 7)

2.5.3 โรงงานที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต สุขภาพอนามัย ทรัพย์สินของผู้อื่น หรือของรัฐเสียหาย ผู้ประกอบกิจการมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายเพื่อ การนั้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบกิจการโรงงานหรือไม่ก็ตาม (ร่างมาตรา 7)

2.5.4 กรณีโรงงานก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือสิ่งแวดล้อม ถ้ารัฐได้รับความเสียหายเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าช่วยเหลือหรือดำเนินการใดเพื่อขจัดความเสียหายให้คืนสู่สภาพเดิม หรือเป็นความเสียหายต่อทรัพย์หรือเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินของแผ่นดิน เมื่อได้รับคำร้องขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายของรัฐดังกล่าวได้ (ร่างมาตรา 7)

2.6 กำหนดโทษกับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือประกาศของรัฐมนตรี ที่ออกตามกฎกระทรวง ตามมาตรา 8 และกำหนดให้โรงงานที่มีการฝ่าฝืนโดยกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินประชาชนหรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ให้ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกิน 10 เท่าของค่าสินไหมทดแทน (ร่างมาตรา 8)

ขณะที่การแก้ไขส่วนที่ 2 เรื่องการตั้งกองทุนอุตสาหกรรม และหลักประกันนั้น ทางนั้น กมธ.เตรียมจะยื่นในส่วนของร่าง พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … หมวด 2/1 กองทุนอุตสาหกรรมและหลักประกัน ซึ่งเป็นการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ อีกครั้งเมื่อเปิดสมัยประชุมรอบหน้า ด้วยเหตุที่จะนับเป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน ที่ทางประธานสภาต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรอง ซึ่งจะใช้ระยะเวลานานกว่า แต่ยังต้องติดตามลำดับต่อไปว่า รายละเอียดหลักเกณฑเกี่ยวกับกองทุนนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงานจะร่างออกมาอย่างไร