เพลิงไหม้ “วิน โพรเสส” ซ้ำรอย หมิงตี้ โรงงานสารเคมีระเบิด ช่องโหว่จากตรงไหน ?

เครดิตภาพ ; มูลนิธิบูรณะนิเวศ

วิเคราะห์เหตุระเบิดโรงงานเก็บสารเคมี “วิน โพรเสส” บ้านค่าย จ.ระยอง โรงงานสารเคมีไฟไหม้ อพยพประชาชนวุ่นหวั่นอันตราย ย้อนรอยเหตุการณ์ระเบิด “โรงงานหมิงตี้เคมีคอล” กิ่งแก้ว ปี 2564 สารเคมีกระจายทั่วพื้นที่ ใครละเลยหน้าที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือเจ้าของบริษัท !??

จากกรณีเหตุเพลิงไหม้ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโรงงานสารเคมีร้าง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 และยังใช้ระยะเวลานานหลายชั่วโมงในการคุมเพลิง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง จนต้องเร่งอพยพให้ออกนอกพื้นที่ และประกาศเป็นพื้นที่เขตภัยพิบัต โดยสาเหตุเบื้องต้นคาดว่าจะมาจากถังน้ำมันที่เก็บไว้ภายใน

และยังมีการเปิดเผยจาก กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า โรงงานดังกล่าวได้ถูกสั่งปิดไปแล้ว แล้วเหตุใดจึงยังมีการเก็บสารเคมีไว้ภายในโรงงาน เรื่องนี้จึงมีการสั่งการจาก “นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบโดยด่วน

หากจำกันได้ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ผู้ผลิตเม็ดโฟม EPS หรือ Expendable Polystyrene รายใหญ่ของประเทศ ตั้งโรงงานอยู่ที่ซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ บนเนื้อที่ 2,068 ตร.ม. เกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้เสียหายทั้งหมด และเหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

และในครั้งนั้น ทำให้มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงว่า เกิดจากอะไร ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผู้เกี่ยวข้องหลัก 2 ส่วนคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะผู้กำกับ ควบคุม และดูแลโรงงานอุตสาหกรรม อีกส่วนที่สำคัญคือเจ้าของโรงงาน หรือเจ้าของบริษัท

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญอีก คือเรื่องของการเก็บสารเคมี ที่ต้องมีมาตรฐานในการจัดการสารเคมีทั้งเรื่องอุปกรณ์และการซ่อมบำรุงที่ต้องได้มาตรฐานการป้องกันการระเบิดระดับนานาชาติ และนั่นหากมีความละเลยทั้งอุปกรณ์ที่ใช้งานมานาน และขาดการดูแลซ่อมบำรุง ทำให้อุปกรณ์เสื่อมหรือชำรุดได้ ไม่มีระบบตรวจจับและแจ้งเตือนสารเคมีรั่วไหล หรือความผิดพลาดจากการปฎิบัติงาน การซ่อมบำรุงที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็ย่อมเป็นสาเหตุเช่นกัน

แต่ก็ไม่สามารถทิ้งประเด็นเรื่องของกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.โรงงาน ได้ ซึ่งแม้จะมีการปรับปรุงจาก พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2535 มาเป็น พ.ร.บ.โรงงาน 2562 แล้ว และนั่นย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การถ่ายโอนภาระกิจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังมีผู้ตรวจสอบเอกชน โดยกำหนดให้มีผู้ตรวจสอบเอกชนที่มาตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ และผู้ประกอบกิจการโรงงานต้อง Self-declared หรือกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจะต้องมีการรับรองตนเอง ว่าได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องตามระยะเวลาที่กำหนด

นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า “วิน โพรเสส” ต่างจาก “หมิงตี้เคมีคอล” คือรายแรกเป็นผู้รับจำกัดกาก แต่ไม่สามารถกำจัดได้ตามหน้าที่ที่ตนต้องทำ และเหล่ากาก สารเคมี ได้ถูกเก็บไว้ในโรงงานแบบไม่มีการป้องกันใด ๆ และยังมีความผิดปกติในการดำเนินงานรวมถึงความผิดปกติจาเหตุไหไหม้ครั้งนี้เช่นกัน ส่วนรายที่ 2 เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกที่ต้องใช้สารเคมี

ทั้ง 2 รายต่างกันตรงประเภทโรงงาน หน้าที่ แต่ที่เหมือนกันคือระบบการจัดการ การดูพวกสารเคมีถูกต้องหรือไม่ และที่สำคัญ พ.ร.บ.โรงงาน 2562 ฉบับใหม่นี่น่าจะเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีมุมมองต่อปัญหา และทางออกในการกำจัด Waste วัตถุอันตราย ว่า เอกชน ผู้ประกอบการ (ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภท 106 (Recycle) ที่ไม่มีหลักการกำกับดูแลกิจการ ที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า CG (Good Corporate Governance) และไม่เป็นมืออาชีพ (มีจำนวนน้อย สัดส่วนไม่เกิน 1% ของผู้ประกอบการโดยรวม ประมาณ 550 ราย) คือตัวปัญหาหลัก เพราะได้รับเงินค่ากำจัด waste มาจากผู้ประกอบการ (Waste generator) แล้ว แต่ไม่ไปดำเนินการรีไซเคิลของเสียดังกล่าว ตามวิธีการที่ถูกต้อง ภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนการทำลายหลักฐานอาจเป็นทางออก เมื่อเทียบกับบทลงโทษและบทปรับตามกฎหมาย ที่กำลังโดนเล่นงาน

ในขณะที่ ภาครัฐ ในอดีตก็สร้างปัญหาจากการ เร่งออกใบอนุญาตให้มีผู้ประกอบการ ประเภท 106 ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีเครื่องจักรอุปกรณ์ตามที่กฎหมายกำหนด เข้าสู่ระบบจำนวนมาก และขาดการควบคุมติดตามให้มีคุณภาพ ในการดำเนินการได้ตามที่กฎหมายกำหนด

บทสรุป ทางออกที่เหมาะสมคือ การกำกับดูแลผู้ประกอบการดังกล่าว อย่างจริงจังและลงโทษอย่างสูงสุด เช่น ยึดใบอนุญาตผู้ทำผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัดและรวดเร็ว การส่งเสริมและลดอุปสรรคต่อ ผู้ประกอบการที่ดี ออกจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้คุณภาพ

รวมทั้งการมีระบบออนไลน์ (E-manifest) และการทำ Mass Balance กระทบยอดปริมาณ เพื่อ ควบคุม และติดตาม การจัดเก็บและเคลื่อนย้าย Waste ทั้งหมดในระบบ โดยเฉพาะวัตถุอันตราย ได้อย่างทันการณ์ และรวดเร็ว

จะเห็นได้ว่า แม้ว่าการแก้กฎหมายต้องการ ทำให้การประกอบกิจการโรงงานได้รับความสะดวกและมีความคล่องตัวขึ้น โดยโรงงานขนาดเล็กจะประกอบกิจการง่ายขึ้น โรงงานขนาดใหญ่จะได้รับความสะดวกมากขึ้น และยังได้รับความคุ้มครองจากการกำกับดูแลที่จะทำให้โรงงานไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือความไม่ปลอดภัยใด ๆ แต่การ Self-declared ตนเองจะเชื่อใจโรงงานได้อย่างไร ซึ่งวิธีการนี้เหมาะกับ “ผู้ประกอบการที่ดีมากกว่า”

ไฟไหม้ โรงงานสารเคมีที่ระยอง

เครดิตภาพจาก : มูลนิธิบูรณะนิเวศ