พิมพ์ภัทรา เยือนซาอุฯร่วมเวที ‘แร่แห่งอนาคต’ หารือรัฐมนตรี 70 ประเทศ

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

พิมพ์ภัทรา ร่วมขบวนพีระพันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เตรียมเยือนซาอุดีอาระเบีย 9-11 มกราคม 2567 นี้ ร่วมประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในการประชุมฟอรั่มแร่ธาตุแห่งอนาคต (Future Minerals Forum หรือ FMF) กว่า 70 ประเทศ พร้อมดันอุตสาหกรรมฮาลาล

วันที่ 5 มกราคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีกำหนดการร่วมคณะกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เพื่อหารือความร่วมมือในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในการประชุมฟอรั่มแร่ธาตุแห่งอนาคต (Future Minerals Forum หรือ FMF)

ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติคิง อับดุล อาซิซ (King Abdul Aziz International Conference Center) ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุม FMF เป็นเวทีหารือเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญด้านแร่ธาตุในระดับพหุภูมิภาค โดยหัวข้อสำคัญของการหารือในปีนี้ จะเน้นไปที่การพัฒนากรอบยุทธศาสตร์และการกำหนดเป้าหมายระดับภูมิภาคในการจัดหาแร่ธาตุที่สำคัญ (Critical minerals) การสร้างห่วงโซ่คุณค่าหรือซัพพลายเชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของโลก

การสร้างขีดความสามารถผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านแร่ (Centers of Excellence) และการกำหนดแนวทางสนับสนุนการผลิตแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังมีเวทีการประชุมย่อยในระดับเจ้าหน้าที่อีกกว่า 75 เรื่อง

Advertisment

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำ เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ต้องใช้แร่จำนวนมากในการผลิต การขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้ความต้องการแร่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ไทยต้องเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในประเทศ

ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มของความต้องการใช้แร่เหล่านี้เพิ่มขึ้น ภายใต้นโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ดังนั้นการหารือความร่วมมือในครั้งนี้เป็นโอกาสในการเชื่อมโยงการลงทุนในระดับพหุภูมิภาค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเชิงวัตถุดิบแก่ภาคอุตสาหกรรมของไทย

“นอกจากการเข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมเรื่องแร่ธาตุแห่งอนาคตแล้ว นางสาวพิมพ์ภัทรา ยังมีกำหนด
ร่วมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรณีของซาอุดีอาระเบีย เพื่อผลักดันความร่วมมือในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ รวมทั้งร่วมหารือกับ Saudi Standards, Metrology and Quality Organization หรือ SASO หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องมาตรฐานต่าง ๆ ของซาอุฯ

ซึ่งเป็นตลาดสินค้าฮาลาลขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและแถบตะวันออกกลาง ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย”

Advertisment