สหรัฐคว่ำบาตรบริษัทปิโตรเลียมเมียนมากระทบไทยอย่างไร

โรงกลั่นน้ำมัน

ทีดีอาร์ไอ ประเมินความเสี่ยงปมสหรัฐคว่ำบาตรทางการเงิน MOGE ปิโตรเลียมเมียนมา ไขข้อสงสัยกระทบนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือไม่ ชงข้อเสนอแนะหลัก เร่งเจรจามหาอำนาจขอยกเว้นพลังงานที่โยงไทย-เร่งปรับแผนพลังงานหนุนใช้พลังงานสะอาด ลดการพึ่งพาต่างประเทศ

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายศุภเกษม เกษมศรี ณ อยุธยา นักวิจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาที่รุนแรงต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของไทย

รวมถึงการประเมินความเสี่ยงที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าในประเทศแพงขึ้น ว่า มีประเด็นที่จะต้องจับตาหลังจากที่สหรัฐ เพิ่มมาตราการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมา ด้วยการคว่ำบาตรทางการเงินรัฐวิสาหกิจด้านปิโตรเลียมของรัฐบาลเมียนมา หรือ MOGE ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้บางส่วนอาจเกิดข้อสงสัยและมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบถึงภาคพลังงานของไทยหรือไม่ ในฐานะที่ไทยเป็นผู้รับซื้อก๊าซธรรมชาติจาก MOGE เพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในประเทศซึ่งคิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณไฟฟ้าทั้งปีของไทย

ศุภเกษม เกษมศรี ณ อยุธยา
ศุภเกษม เกษมศรี ณ อยุธยา

เปิด 2 ฉากทัศน์ชี้ชะตาค่าไฟฟ้า

นายศุภเกษมระบุด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นตัวอย่างของสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยผ่านความไม่แน่นอนในภาคพลังงาน เพราะไทยยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาเพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ อย่างไรก็ตามทีดีอาร์ไอได้ศึกษาผลกระทบและประเมินความเสี่ยงดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายพลังงานไทย โดยสรุปได้เป็น 2 ฉากทัศน์ ดังนี้ ฉากทัศน์ที่ 1 ไทยยังนำเข้าก๊าซเมียนมาได้ปกติ ซึ่งฉากทัศน์นี้มีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะรัฐบาลเมียนมาไม่มีแรงจูงใจใดที่จะระงับการส่งก๊าซให้ไทย

แต่อุปสรรคสำคัญคือมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ ที่อาจส่งผลให้ ไทยไม่สามารถชำระค่าก๊าซเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐได้เหมือนอย่างเคย แต่หากไทยสามารถเจรจาเพื่อให้สามารถชำระค่าก๊าซด้วยเงินสกุลอื่น เช่น เงินบาท หรือผ่านช่องทางอื่นที่ไม่อยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรได้ ก็ยังจะสามารถจัดหาก๊าซเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าราชบุรีได้ และหากสถานการณ์เป็นไปตามนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเงินเฟ้อและเศรษฐกิจไทยจะมีน้อย เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะไม่เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ

Advertisment

ส่วนฉากทัศน์ที่ 2 ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นต่ำ คือ ไทยไม่สามารถนำเข้าก๊าซเมียนมาได้และต้องหาแหล่งอื่นทดแทนมาทดแทน และจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น แต่หากเกิดขึ้นจริงมีความจำเป็นที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดหาแหล่งพลังงานจะต้องจัดหา LNG เพิ่มเติมจากตลาดที่มีการซื้อขายทันทีเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนสัดส่วนก๊าซจากเมียนมา โดยทีดีอาร์ไอประเมินเบื้องต้นว่าจะต้องมีการนำเข้า LNG อีก 458 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งราคา LNG นำเข้าสูงกว่าราคาก๊าซเมียนมา คาดว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3,705 ล้านบาทต่อเดือน

“ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกส่งต่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้า ประเมินว่าค่า Ft จะเพิ่มขึ้น 22 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.24 เปอร์เซ็นต์ และจีดีพีหดตัวลง 0.04 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ส่วน กฟผ. จะปรับค่า Ft ขึ้นตามตามข้อสมมติข้างต้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับนโยบายตรึงค่าไฟเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน และภาระหนี้สะสมของ กฟผ.” นักวิจัยทีดีอาร์ไอระบุ

ชงข้อเสนอรับมือความเสี่ยง

นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้เห็นว่าสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศไทย ฝ่ายนโยบายของไทยจำเป็นต้องติดตามและเตรียมพร้อมปรับนโยบายในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคพลังงาน โดยทีดีอาร์ไอ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน ให้ดำเนินการมาตรการด้านการต่างประเทศเพื่อเจรจาต่อสหรัฐ และประเทศต่าง ๆ ให้ยกเว้นไม่บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรกับธุรกิจด้านพลังงานของไทย

และในระยะยาว มีความจำเป็นที่ฝ่ายนโยบายด้านพลังงานของไทยต้องเร่งปรับแผนพลังงานโดยเร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาและ LNG ที่มีการนำเข้าเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณไฟฟ้าไทย

Advertisment

“การนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศทำให้ไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการขาดแคลนไฟฟ้าหากไม่สามารถนำเข้า LNG ได้ถ้าเกิดสถานการณ์ที่กระทบต่อการผลิตและขนส่ง LNG นอกจากนี้ไทยมีแนวโน้มจะต้องพึ่งพา LNG นำเข้ามากขึ้นเนื่องจากก๊าซในอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลงอีกหากยังไม่มีการสำรวจและขุดเจาะเพิ่มเติม ดังนั้นมีความจำเป็นที่ไทยต้องเร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งยังทำให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศและกระแสการลงทุนการค้าใหม่ของโลกที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย” นักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอระบุ

ธิปไตร แสละวงศ์
ธิปไตร แสละวงศ์