ยอดขอบีโอไอ Q1 พุ่ง 94% “ทุนจีน” ในสิงคโปร์ตั้งโรงงาน PCB

city

การลงทุนนับเป็นหนึ่งในเครื่องจักรเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลเศรษฐา 2 ต้องดำเนินการมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้มีการ “ปิดดีล” ได้สำเร็จ ภายหลังจาก ครม.เศรษฐา 1 ได้ไปเปิดความสัมพันธ์ไว้ตลอด 6-7 เดือนที่ผ่านมา เพื่อสร้างเม็ดเงินจากการลงทุนให้เติบโตไม่น้อยไปกว่า ปี 2566 ซึ่งมีการส่งเสริมการลงทุน 2,307 โครงการ มูลค่า 848,318 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี

ขอบีโอไอลงทุนพุ่ง 94%

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ฉายภาพการลงทุนในไตรมาส 1/2567 เทียบกับปี 2566 ว่า ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 397 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่า 185,730 ล้านบาท

ขณะที่การอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 785 โครงการ เงินลงทุนรวม 254,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยประโยชน์ของโครงการเหล่านี้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาท/ปี มีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 2.4 แสนล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด และเกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 50,000 ตำแหน่ง สำหรับการออกบัตรส่งเสริม

ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยมี 647 โครงการ เงินลงทุนรวม 256,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107%

สิงคโปร์แซงเกาหลีใต้

หากวิเคราะห์ไส้ในการลงทุนจะพบว่า ไตรมาส 1 ปีนี้ “สิงคโปร์” มีการขอบีโอไอมาเป็นอันดับ 1 มูลค่า 42,539 ล้านบาท รองลงมาคือ จีน 34,671 ล้านบาท ฮ่องกง 26,573 ล้านบาท ไต้หวัน 19,960 ล้านบาท และออสเตรเลีย 17,248 ล้านบาท

“ไตรมาส 1 ปีก่อน เกาหลีใต้ มาเป็นอันดับ 1 มูลค่า 31,400 ล้านบาท จากการขอรับการส่งเสริมโครงการใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิงคโปร์เป็นอันดับ 2 มี 30 โครงการ เงินลงทุน 29,742 ล้านบาท แต่มาปีนี้มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 จากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทสิงคโปร์ที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board : PCB)”

Advertisment

ในแง่พื้นที่พบว่า เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง มีมูลค่า 97,651 ล้านบาท จาก 300 โครงการ รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออก 95,112 ล้านบาท ภาคเหนือ 17,665 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,849 ล้านบาท ภาคใต้ 7,045 ล้านบาท และภาคตะวันตก 2,885 ล้านบาท

ท็อป 5 อุตสาหกรรมลงทุนสูงสุด

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก จะพบว่า อันดับ 1 อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 77,194 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน 21,328 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 17,672 ล้านบาท ดิจิทัล 17,498 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร 13,278 ล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเงินลงทุนสูงสุด

Advertisment

ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนใน PCB กิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Wafer Fabrication) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์สำหรับ Power Electronics และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart และ Sustainable Industry ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ ในไตรมาสแรก ปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 105 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 5,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28

กราฟฟิก การลงทุน

ปัจจัยบวก-ลบ ต่อการลงทุน

ปัจจัยสำคัญที่เสริมให้การลงทุนไตรมาส 1 คึกคักมาจากการที่รัฐบาลไทยเดินหน้าบุกดึงการลงทุนจากกลุ่มบริษัทชั้นนำทั่วโลก การแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ ของคณะกรรมการบีโอไอ บวกกับแรงผลักดันจากกระแสการย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หลาย ๆ คู่

“จังหวะเวลานี้มีความสำคัญ และเป็นโอกาสทองของประเทศไทยในการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค ด้วยความโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ความเสถียรไฟฟ้าและความพร้อมด้านพลังงานสะอาด ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง คุณภาพของบุคลากร สภาพแวดล้อมที่ดี”

ซึ่งไทยไม่เพียงออกมาตรการส่งเสริมด้านการลงทุน แต่ยังมีปัจจัยที่เอื้อสำหรับการเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยของผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ จึงทำให้ในไตรมาสแรก มีการลงทุนโครงการสำคัญ ๆ เกิดขึ้นในไทยหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ และล่าสุดทางไมโครซอฟท์เป็นอีกหนึ่งรายที่ประกาศที่จะลงทุนในไทยเช่นกัน สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าไทยสามารถตอบโจทย์เทรนด์โลกได้เป็นอย่างดี

แนวโน้มลงทุน Q2 โตต่อ

ขณะที่แนวโน้มการลงทุนในไตรมาส 2 ในมุมมองของ “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อมั่นว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ชะลอก่อนหน้านี้จะเริ่มเดินหน้าต่อ รัฐจะเร่งเบิกจ่ายหลังจากงบประมาณออกแล้ว นอกจากนี้ยังเห็นสัญญาณของนักลงทุนต่างชาติที่สนใจตอบรับเข้ามาลงทุนในไทย

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้หารือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เกี่ยวกับการปลดล็อกกฎระเบียบเพื่อดึงดูดการลงทุนไทย และลดอุปสรรคการลงทุนที่เอกชนทั้งไทยและต่างชาติเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลต่อภาพรวมการลงทุนในปี 2567 คือเรื่องของภัยแล้ง ที่กินระยะเวลานานกว่าเดิม ดังนั้นในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการใช้น้ำในกระบวนการผลิตอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำขึ้นมา จะทำให้มีผลต่อการตัดสินใจการลงทุนอย่างแน่นอน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีแผนน้ำที่ชัดเจน