เช็กสถานการณ์ “น้ำ” ก่อนเข้าฤดูฝน “ลานิญา” มาช่วงสั้น เขื่อนใหญ่น้ำยังน้อย

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2563 ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม หรือเหลือเวลาอีกประมาณ 20 วัน ก็จะสิ้นสุดฤดูแล้ง ทว่าฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับสถานการณ์น้ำในฤดูแล้งปี 2564 เนื่องจากปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำสำคัญ ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ถูกใช้ไปต่ำกว่าครึ่งของความจุอ่างเป็นจำนวนมาก

เฉพาะสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 35 แห่ง ปรากฏมีปริมาณน้ำต่ำกว่าร้อยละ 30 ถึง 26 แห่ง ตั้งแต่ร้อยละ 31-51 จำนวน 8 แห่ง ตั้งแต่ร้อยละ 51-80 มีแค่ 1 แห่ง และไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แห่งใดเลยในตอนนี้ที่มีปริมาณน้ำเกินมากกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไป สอดคล้องกับสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั่วประเทศ ปรากฏมีปริมาณต่ำกว่าร้อยละ 30 อยู่ถึง 221 แห่ง อยู่ระหว่างร้อยละ 31-50 จำนวน 128 แห่ง ตั้งแต่ร้อยละ 50-80 จำนวน 57 แห่ง และมากกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไป มีแค่ 6 แห่งเท่านั้น

ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5%

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า วันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมาถือเป็นวันสุดท้ายของการจัดการน้ำภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563 ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม “แต่ปีนี้คาดการณ์ว่าฝนจะตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีที่ 5%” โดยจะเกิดปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และเข้าสู่ปรากฏการณ์ “ลานิญา” ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และมีฝนตกชุกในระดับปานกลาง “จะมีน้ำท่วมบ้างในบางพื้นที่ กรมชลประทานเชื่อว่า หลังวันที่ 1 พฤศจิกายน (เริ่มต้นปีน้ำของปี 2564) น้ำในเขื่อนจะมีปริมาณมากกว่าปี 2562”

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กรมชลประทานได้สิ้นสุดการจัดสรรน้ำตามแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งของปี 2562/2563 แล้ว และเริ่มจัดสรรน้ำตามแผนสำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 ที่จะใช้ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 จำนวน 11,340 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น การจัดสรรน้ำอุปโภค-บริโภค จำนวน 4,909 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 43) และหากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงขึ้นจริงก็จะมีน้ำสำรองไว้อีก 6,431 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 57

4 เขื่อนหลักเหลือน้ำแค่ 10%

ด้านปริมาณน้ำใช้การได้ คงเหลือ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝน ปรากฏสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 4 แห่ง ที่จะมีผลต่อลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขื่อนภูมิพล ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือแค่ 667 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 7, เขื่อนสิริกิติ์ 821 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 12 แต่ยังคงมีน้ำไหลลงอ่างอยู่ระหว่าง 2-4 ล้าน ลบ.ม./วัน, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 234 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 26 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 122 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 13 รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักเหลือน้ำอยู่แค่ 1,845 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 10 เท่านั้น

Advertisment

ปริมาณน้ำที่เหลือน้อยมากใน 4 เขื่อนหลัก มีผลต่อการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มไม่ให้ขึ้นมาถึงแหล่งน้ำดิบของการประปา ที่ปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี จากปัจจุบันที่มีน้ำไหลผ่านสถานี C.29A ที่ อ.บางไทร เฉลี่ยแค่ 60 ล้าน ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น

“จุฬาภรณ์-อุบลรัตน์” ขอดน้ำก้นอ่าง

ส่วนปริมาตรน้ำใช้การได้คงเหลือของอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 20 ณ วันที่ 5 พ.ค.ได้แก่ แม่งัดสมบูรณ์ 36 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 14, แม่กวงอุดมธารา 48 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19, แม่มอก 10 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 10, ห้วยหลวง 25 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19, จุฬาภรณ์ 1 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 1, อุบลรัตน์ -236 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ -13, ลำพระเพลิง 12 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 8, มูลบน 20 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 15, ลำแซะ 34 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 13, ลำนางรอง 16 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 13, ทับเสลา 15 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11, กระเสียว 14 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5, ขุนด่านปราการชล 31 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 14

ในขณะที่ปริมาตรน้ำใช้การได้ในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ในช่วงนี้กำลังเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ จ.ระยอง และชลบุรีบางส่วน (พนัสนิคม) ปรากฏคลองสียัดเหลือน้ำอยู่แค่ 23 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 6, บางพระ 12 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11, หนองปลาไหล 11 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 7 และประแสร์ 5 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 2 เท่านั้น

แล้งหน้ายังคงยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือที่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 247 แห่ง ที่จะมีนัยสำคัญต่อสถานการณ์น้ำในปี 2563/2564 ที่จะเริ่มต้นปีน้ำในเดือนพฤศจิกายน 2563 แน่นอน ประกอบกับการคาดการณ์ฤดูฝนปีนี้

Advertisment

จะมีฝนตก “น้อยกว่า” ค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 5 และปรากฏการณ์ลานิญา หรือฝนตกมากก็จะเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเท่านั้น โดยการใช้น้ำทั้งประเทศที่ผ่านมาในปี 2563 นั้น มีปริมาณ “น้อยกว่า” ปี 2562 ถึง 6,328 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้อยกว่าถึง 3,103 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในปี 2564 ยังคงตกอยู่ในสถานะลำบากและคงต้องเผชิญกับภัยแล้งที่จะรุนแรงมากกว่า

………………..

ระยองเสี่ยงขาดน้ำ

โครงการชลประทานจังหวัดระยองได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ ณ วันที่ 22 เมษายน-30 มิถุนายน 2563 กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตโดยอ่างเก็บน้ำดอกกราย-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ รวมทั้ง 3 อ่าง เหลือน้ำแค่ 17.71 ล้าน ลบ.ม. การส่งน้ำของบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกได้ปรับลดการใช้น้ำลง 580,000 ลบ.ม. และไม่มีการส่งน้ำไปยังพื้นที่ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา ในขณะที่การประปาพัทยาต้องปรับลดการใช้น้ำลงเหลือ 80,000 ลบ.ม./สัปดาห์

คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างจากฝนตก (12 ล้าน ลบ.ม.)-การสูบน้ำจากประแสร์-การใช้น้ำก้นอ่าง คิดเป็นปริมาณน้ำต้นทุน 71.95 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีแผนการใช้น้ำอยู่ที่ 62.14 ล้าน ลบ.ม. ณ สิ้นเดือนมิถุนายนจะเหลือน้ำอยู่ 9.81 ล้าน ลบ.ม. แต่ถ้าไม่มีฝนตกในพื้นที่ ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง

ที่ 12 ล้าน ลบ.ม.ก็จะหมดไป ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ปริมาณน้ำคงเหลือใน จ.ระยอง จะขาดน้ำไปถึง -2.19 ล้าน ลบ.ม.ทันที ส่วนความหวังที่จะนำน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จันทบุรี มาช่วยก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปริมาณเหลือน้อยกว่า 10 ล้าน ลบ.ม.ไปแล้ว