ใกล้งวดเต็มทีสำหรับการเตรียมเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทยทั้ง 2 แหล่งคือ แหล่งบงกช และเอราวัณ ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2565-2566 นี้ ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงการพิจารณาร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้งหมดที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ จากนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะได้เริ่มขั้นตอนต่าง ๆ ที่เหลือต่อไป
5 กลุ่มท้าชิง
“ประชาชาติธุรกิจ” จัดกลุ่มบริษัทในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่คาดว่าจะเข้าร่วมประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ 5 กลุ่มคือ 1) กลุ่มบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมด้วยพาร์ตเนอร์คือบริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด (บริษัทในเครือ มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. 2) กลุ่ม ปตท.สผ.ร่วมด้วยพาร์ตเนอร์คือ บริษัท โททาลอี แอนด์พี ไทยแลนด์ (ฝรั่งเศส) และกลุ่มบริษัท เชลล์ 3) กลุ่มบริษัท มูบาดาลา (Mubadala Petroleam หรือ MP) 4) กลุ่มคูเวต บริษัท KUFPEC Thailand Holdings Pte. Limited บริษัทในเครือ Kuwait Foreign Exploration Company และ 5) กลุ่มบริษัท ไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชั่น หรือซีนุค (CNOOC : China National Petroleum)
ส่องจุดแข็ง-จุดอ่อน
ทั้ง “เชฟรอน” และ “ปตท.สผ.” ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานในแหล่งบงกช และเอราวัณอยู่แล้ว ค่อนข้างได้เปรียบ โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญในพื้นที่ ถ้ามองในเง่ประโยชน์ของประเทศ ปตท.สผ.เป็นบริษัทพลังงานของไทย ผลประโยชน์จากการพัฒนาปิโตรเลียมทั้งหมดก็จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศ และยังมีประโยชน์ทางอ้อมด้วย เพราะ ปตท.สผ.มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งกระทรวงการคลังก็ถือหุ้นใน ปตท.อีกด้วย ในกรณีที่ทั้ง 2 บริษัทเป็นผู้ชนะในการประมูลครั้งนี้ จะทำให้การผลิตปิโตรเลียมจากทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณมีความต่อเนื่อง ซึ่งในประเด็นนี้กรมเชื้อเพลิงฯ ให้ความสำคัญอย่างมาก
ทางด้านกลุ่มบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม บริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานประเทศสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกลุ่มคูเวต นับว่ามีจุดแข็งสำคัญคือ มีเงินมหาศาลที่พร้อมสำหรับการลงทุน มีประสบการณ์ รวมถึงยังมีเทคโนโลยีด้านการสำรวจและผลิตขั้นสูงที่เป็นจุดแข็ง แต่ก็ต้องแก้โจทย์เรื่องรอยต่อของในปี”65-66 ว่าจะทำอย่างไรให้ยังรักษาการผลิตตามที่กรมเชื้อเพลิงฯกำหนด
มาที่กลุ่มซีนุค (CNOOC) มีความพร้อมในเรื่องเงินลงทุน แต่ก็มีจุดอ่อนในแง่ของความเชี่ยวชาญในธุรกิจสำรวจและผลิตที่ยังน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ข้างต้น นอกจากนี้นโยบายการลงทุนของกลุ่มซีนุค ไม่ว่าจะลงทุนที่ใดก็ตามจะเลือกใช้แรงงานจีนก่อนเป็นอันดับแรก ในขณะที่มีการคาดการณ์กันว่า เงื่อนไขการประมูล (TOR) ครั้งนี้จะกำหนดไว้ชัดเจนให้มีการใช้แรงงานไทยก่อนเป็นอันดับแรก
รัฐเชิญเอกชนร่วมประมูล
สำหรับความคืบหน้าเรื่องกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณนั้น นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า ขณะนี้เหลือเพียงแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ที่กำลังพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ในขณะที่เงื่อนไขการประมูล หรือ TOR ที่กรมเชื้อเพลิงฯเป็นผู้ดำเนินการนั้นแล้วเสร็จไปร้อยละ 95 แล้ว ส่วนที่เหลือที่ยังไม่สรุปคือ “ข้อตกลง” ต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอต่อพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาได้ในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้กรมเชื้อเพลิงฯ ได้เข้าไปหารือกับผู้รับสัมปทานทั้งในและต่างประเทศเพื่อเชิญชวนให้เข้ามาร่วมประมูลครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าเร็ว ๆ นี้ จะเชิญชวนบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท พลังโสภณ จำกัด (เป็นพาร์ตเนอร์ของเชฟรอนฯ) เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ด้วย