ผลสอบ 3 เจ้าหน้าที่ อคส. ผิดวินัยจ่อไล่ออก ปมซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง

ถุงมือยาง

“พาณิชย์” สรุปผลสอบ 3 เจ้าหน้าที่ อคส.ปมถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง 1.12 แสนล้าน ชี้ขาดผิดวินัยจ่อไล่ออก ไม่ได้รับเงินบำเน็จ หรือบำนาญ แจ้งรับทราบข้อกล่าวหาใน 15 ส.ค.นี้

วันที่ 11 สิงหาคม 2564 รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ว่า คณะกรรมการพิจารณาความผิดทางวินัย ที่มีนายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้พิจารณาความผิดทางวินัยกรณีเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) จำนวน 3 ราย ที่ถูก อคส.แจ้งข้อกล่าวหาจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท โดยมิชอบด้วยกฎหมายเสร็จแล้ว โดยทั้ง 3 คน มีความผิดวินัยร้ายแรง และได้ออกหนังสือลงวันที่ 30 ก.ค. 2564 ให้มารับทราบข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน หรือภายในวันที่ 15 ส.ค. 2564

โดยหลังจากครบกำหนดแล้ว คณะกรรมการจะสรุปการรับทราบข้อกล่าวหา และเสนอความเห็นเรื่องการลงโทษไปให้นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ อคส. พิจารณาลงโทษตามที่เสนอ คาดว่า น่าจะลงโทษสถานเดียว คือ ไล่ออก ส่งผลให้ทั้ง 3 คนไม่ได้รับเงินบำเน็จ หรือบำนาญใด ๆ และ อคส.จะฟ้องร้องเรียกเงินเดือนกลับจากทั้ง 3 คนนับตั้งแต่ที่ความผิดเกิดขึ้น หรือตั้งแต่เดือน ส.ค. 2563 เป็นต้นมาด้วย

สำหรับทั้ง 3 รายที่ถูกสอบวินัยร้ายแรง ได้แก่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ อคส. มีอัตราเงินเดือนกว่า 80,000 บาท และเจ้าหน้าที่บริหาร ระดับ 8 คือ นายเกียรติขจร แซ่ไต่ เงินเดือนกว่า 30,000 บาท และนายมูรธาธร คำบุศย์ เงินเดือนกว่า 20,000 บาท

Advertisment

อย่างไรก็ตาม จนถึงวันที่ 10 ส.ค. 2564 มีเพียงนายเกียรติขจร คนเดียวที่รับทราบข้อกล่าว และให้การปฏิเสธ โดยยืนยันว่า ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บริหารซึ่งเป็น 1 ในคณะกรรมการ (บอร์ด) อคส.

ส่วนการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิด ที่มีนายวันชัย วราวิทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ล่าสุดได้ทยอยเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคำแล้ว คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จ และทำคำวินิจฉัยได้อย่างช้าไม่เกินกลางเดือน ก.ย. 2564 เพื่อเสนอต่อผู้อำนวยการ อคส. จากนั้น อคส.จะเสนอคำวินิจฉัยไปให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิด กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง

หากมีความเห็นตรงกัน อคส.จะออกคำบังคับ แจ้งให้เจ้าหน้าที่ อคส. รวมถึงกรรมการในบอร์ด อคส. ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ชดใช้ความเสียหายให้ อคส. เบื้องต้นราว 2,000 ล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย และค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ แต่หากไม่ชดใช้ให้ อคส. สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครอง หรือถ้าไม่มีเงินชดใช้ ต้องบังคับคดีและยึดทรัพย์

ทั้งนี้ คาดว่า ผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับ อคส. นอกจากเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ราย และ 1 ในบอร์ด อคส. ที่เป็นผู้สั่งการแล้ว ยังจะมีเจ้าหน้าที่ อคส. รายอื่นอีก เช่น เจ้าหน้าที่การเงิน ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการทุจริต แต่มีความประมาทเลินเล่อในหน้าที่ จนทำให้ อคส.เสียหาย รวมถึงกรรมการในบอร์ด อคส.ชุดปัจจุบันทุกคน ที่อาจทราบเรื่องการจัดซื้อถุงมือยาง และมีอำนาจ หน้าที่ควบคุมแลกิจการของ อคส. ตามมาตรา 17 พระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อคส. พ.ศ. 2498 แต่กลับไม่ยับยั้ง หรือไม่สั่งการให้ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ รายงานบอร์ด

Advertisment

ในส่วนของการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังจากได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด และให้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ทั้งหมดได้ทยอยรับทราบข้อกล่าวหา และแก้ข้อกล่าวหา คาดว่า ป.ป.ช.จะสรุปผลการไต่วน และชี้มูลความผิดได้ในเร็ว ๆ นี้ ก่อนส่งให้อัยการส่งฟ้องดำเนินคดีอาญา ขณะที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะดำเนินคดีแพ่ง และยึดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องชดใช้ความเสียหายให้ อคส.