กฎหมาย ปิโตรเลียมยังค้างพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา และ ครม. กรมเชื้อเพลิงฯ ลุ้นกฎหมายระบบแบ่งปันผลผลิตต้องประกาศใช้เป็นอันดับแรกเพื่อเปิดประมูล แหล่งบงกช-เอราวัณ ที่จะหมดอายุสัมปทานก่อน ส่วนการเปิดให้สิทธิ์สำรวจและผลิตรอบใหม่ขอเตรียมความพร้อมก่อนเดินหน้า
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมขณะนี้ บางฉบับยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาข้อกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC (Production Sharing Contract) โดยในบางฉบับผ่านการพิจารณาแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายคือ การนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงจะสามารถประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวได้อย่างเป็นทางการ สำหรับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับระบบแบ่งปันผลผลิต อาจจะต้องมีความชัดเจนและประกาศใช้เป็นกฎหมายก่อน เพราะเร็ว ๆ นี้จะต้องดำเนินการเปิดประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ ที่จะหมดอายุสัญญาสัมปทานภายในปี 2565-2566 นี้ ซึ่งตามกำหนดเดิมจะต้องออกประกาศเงื่อนไขสำหรับการเปิดประมูล หรือ TOR สำหรับทั้ง 2 แหล่ง โดยใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตภายในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะต้องขยับเลื่อนเวลาออกไปอีก
ทั้งนี้ตามที่รัฐบาลได้ปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยมี ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (เดิมคือพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ นั่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) คาดว่าอาจจะต้องนำเรียนถึงความคืบหน้าการเตรียมเปิดประมูลทั้ง 2 แหล่ง รวมถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจต้องนำรายละเอียดของเงื่อนไขประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ เพื่อพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งในระดับรัฐมนตรีนั้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือรายละเอียดสำหรับการเปิดประมูลหรือไม่ นั้น ในทางปฏิบัติสามารถดำเนินการได้
หากว่ากำหนดออกมาเป็นนโยบายที่ชัดเจน แต่ในกรณีที่ต้องดำเนินการแก้ไขในรายละเอียดสำคัญ เช่น เงื่อนไขการประมูล ก็สามารถดำเนินการได้ แต่อาจจะทำให้การเปิดประมูลครั้งนี้อาจจะล่าช้าออกไปอีก
“ตอนนี้ยังไม่มีการปรับปรุงรายละเอียดใด ๆ เพิ่มเติม แต่หากนำเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้วต้องปรับแก้ไขก็สามารถ ดำเนินการได้ แต่ต้องใช้เวลาและขั้นตอนต่าง ๆ ที่อาจเรียกได้ว่าต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่”
นายวีระศักดิ์กล่าวเพิ่ม เติมถึงการเปิดให้สิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่นั้น ตามเป้าหมายเดิมต้องการให้ดำเนินการในส่วนของการเปิดประมูลเพื่อต่ออายุ สัญญาแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณให้แล้วเสร็จก่อน หลังจากนั้นจึงจะเปิดให้สิทธิ์สำรวจรอบใหม่เป็นลำดับถัดไป โดยในประเด็นนี้กรมเชื้อเพลิงฯมองว่ายังไม่ต้องรีบดำเนินการ แต่ขอเวลาให้มีความพร้อมที่สุดก่อนจึงจะเริ่มดำเนินการ
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการปิโตรเลียม กล่าวว่า ภาคเอกชนมั่นใจมากขึ้นภายหลังจากที่ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพราะเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญเรื่องปิโตรเลียมอยู่แล้ว ซึ่งขอให้เดินหน้าเปิดประมูลแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณได้แล้ว เพราะล่าช้ามานาน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลคือ หากมีกระแสคัดค้านจากองค์กรเอกชนขึ้นมาอีก อาจจะทำให้การเปิดประมูลทั้ง 2 แหล่งจะล่าช้าออกไปอีก และอาจกระทบต่อความต่อเนื่องในการผลิตปิโตรเลียม รวมถึงจะกระทบความมั่นคงทางพลังงานของประเทศด้วย
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนหน้านี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดให้สิทธิ์ในการสำรวจและผลิต ปิโตรเลียมของประเทศภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียมที่ยังไม่ได้ปรับแก้ไข นั้น มีเพียงรูปแบบการให้สัมปทาน หรือ concession contract เท่านั้น หลังจากนั้นได้มีการปรับแก้ไขเพื่อมีการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC และระบบจ้างผลิต หรือ service contract เข้ามาเพิ่มเติมด้วย โดยในปัจจุบันเมื่อพิจารณาจากศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมที่มีอยู่ทั้งบนบกและ อ่าวไทยนั้น คาดว่าอาจจะได้ใช้เพียงระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิตเท่านั้น สำหรับกฎหมายที่อยู่ในระหว่างดำเนินการขณะนี้ เช่น ร่างกฎกระทรวง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐ สำหรับผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. … ร่างกฎกระทรวงกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอ และการได้รับสิทธิ์เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. …ฯลฯ