สนพ.เปิดเวทีถก “ทิศทางการใช้ไฟฟ้า” รถอีวี-โซลาร์รูฟท็อปมาแน่ เตรียมรื้อใหญ่แผน PDP

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศ หรือ PDP : Power Development Plan 2558-2579 ที่ใช้ในปัจจุบัน ดูจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าตามที่ควรจะเป็น มีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนเข้ามาในระบบค่อนข้างมาก และมีบางส่วนที่ลงทุนเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าจากระบบปกติได้รับผลกระทบ รวมถึงการมาถึงของเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage ที่สามารถกักเก็บพลังงานในช่วงกลางวันมาใช้กลางคืนแทน จากหลายปัจจัยข้างต้น ทำให้กระทรวงพลังงานจึงเตรียมที่ปรับแผน PDP ใหม่เพื่อให้สะท้อนถึงความต้องการใช้ไฟที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการปรับแผน PDP ต้องเริ่มจากการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าว่าจะไปในทิศทางใด เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดยคณะทำงานด้านการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ได้เปิดเวทีเพื่อรับฟังความเห็น “Load Forcast : ทิศทางการใช้ไฟฟ้าในอนาคต”

ดร.เทียนไชย จงพีร์เพียร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และอยู่ในคณะทำงานด้านพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าครั้งนี้ อธิบายถึงค่าพยากรณ์ครั้งนี้ว่า ตัวเลขสำคัญในการจัดทำค่าพยากรณ์คือ ตัวเลขการประมารการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.78% หลังจากนั้นจึงหาสมมติฐานที่คาดว่าจะกระทบการใช้ไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญมาคำนวนรวม

โดยคณะทำงานฯ ระบุว่านโยบายของรัฐที่มีผลต่อการใช้ไฟฟ้า แบ่งเป็น 1) ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ตั้งสมมุติฐานว่า ในปี 2579 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าในระบบที่ 1.2 ล้านคัน ว่าจะขยายตัวที่ 1% ต่อปี ถ้าเป็นไปตามสมมุติฐานนี้คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 5,783 ล้านหน่วย หรือ 2,466 เมกะวัตต์ 2) โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รวม 4 โครงการ กทม.พิษณุโลก/กทม.นครราชสีมา/กทม.หัวหิน และ กทม.ระยอง ภายใต้สมมุติฐานนี้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 1,324 ล้านหน่วย หรือ 163 เมกะวัตต์ 3) เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ที่คาดว่าจะมีการขยายตัวในแง่ของการลงทุนในพื้นที่ ทั้งท่าเรือ อุตสาหกรรมเป้าหมายและอื่น ๆ นั้น จะมีความต้องการใช้ไฟ 2,765 ล้านหน่วย หรือประมาณ 404 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังมีสมมติฐานที่ควรจะนำมาพิจารณาในการพยากรณ์ความต้องการใช้ด้วยคือความต้องการใช้ไฟฟ้านอกระบบ (captive demand) หรือโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือขายตรงให้ลูกค้าโดยไม่เข้าระบบสายส่งของ 3 กิจการไฟฟ้า ซึ่งมีการประเมินเบื้องต้นจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าจะมีประมาณ 2,600 เมกะวัตต์ และอาจจะมากกว่านี้ นอกจากนี้คณะทำงานฯ ได้ประเมินถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ว่าจะลดลงไปประมาณ 4,500 เมกะวัตต์ สำหรับพีกของปีนี้อยู่ที่ 34,101 เมกะวัตต์ และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในกรณีฐานสำหรับปี 2579 จะอยู่ที่ 50,972 เมกะวัตต์

และเพื่อให้การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีความแม่นยำมากขึ้นนั้น จะต้องมองถึงตัวแปรที่จะเข้ามากระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อื่นๆ ด้วย ดังนั้นคณะทำงานฯ จึงจัดทำกรณีทางเลือก (scenaio) อีก 3 ทางเลือก โดย ดร.ทวารัฐ ระบุว่า 1) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 2) โครงการโซลาร์รูฟท็อป และ3) ระบบกักเก็บพลังงาน หรือ energy storage system โซลาร์รูฟท็อปว่า จะมีการติดตั้งเต็มทุกหลังคาเรือนภายใน 50 ปี หรืออัตราการแทรกซึมของ โซลาร์รูฟท็อปจะอยู่ที่ 20% ในประเด็นนี้ยัง “ไม่มีความชัดเจน” ว่าจะมีผู้ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปมากน้อยเพียงใด จึงต้องศึกษาเพิ่มเติม และตัวแปรสุดท้ายระบบกักเก็บพลังงานที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ไฟฟ้าของประเทศ โดย ดร.ทวารัฐระบุว่า ในส่วนของกรณีการจัดทำกรณีทางเลือกนี้ ยังเปิดทางให้สามารถแสดงความเห็นได้ว่า นอกจากทั้ง 3 ปัจจัยนี้แล้ว ควรจะมีปัจจัยที่ 4 หรือไม่

จากสมมติฐานข้างต้นนั้น ดร.ทวารัฐ สรุปว่า ภาพของกิจการไฟฟ้าทั้งการผลิต การจำหน่าย การใช้จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการปรับแผน PDP ครั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับปรุง “ครั้งใหญ่”โรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ก็ต้องหาแผนสำรอง อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 3.78% ลดลงจากเดิมตามแผน PDP 2015 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4-5% นั้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่าการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองจะเพิ่มเป็น 5,277 เมกะวัตต์ในปลายปี 2579 ทำให้ภาพรวมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะลดลงประมาณ 3,847-4,500 เมกะวัตต์

ภายหลังจากการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าแล้วเสร็จ ขั้นตอนต่อไปคือการจัดเรียง “supply” กำลังผลิตใหม่ที่จะเข้ามาในแผน PDP ในแต่ละปีว่าเป็นอย่างไร โดยดร.ทวารัฐ ยังเน้นย้ำถึงคอนเซ็ปต์ของแผน PDP ฉบับใหม่ว่า ต้องกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง มีความมั่นคงในระบบเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ