ร้องแก้ 2 ร่าง กม.หวั่นทุบซ้ำ SMEs แสนราย

สมาพันธ์ SME ร้อง กมธ.พาณิชย์แก้ 3 จุดโหว่ร่าง กม. “อาหาร-เครื่องสำอาง” ฉบับใหม่ รีดค่าธรรมเนียมสุดโหด แถมไม่ส่งเงินเข้าคลัง-ขาดแผนพัฒนาผู้ประกอบการ หวั่นทุบเอสเอ็มอีนับแสนรายเดี้ยงซ้ำจากโควิด

นายแสงชัย ธีระกุลวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สมาพันธ์ได้เข้าให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมาธิการ ภายใต้คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ซึ่งมีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ เป็นประธานว่า จากการยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.อาหาร (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง (ฉบับที่…) พ.ศ. …

ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีหนังสือเสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 นั้น ทางสมาพันธ์ได้พิจารณารายละเอียดของปรับแก้ไขกฎหมายแล้วพบว่ายังมี 3 ประเด็นที่ต้องทบทวนและปรับแก้ไข เพื่อไม่ให้เป็นภาระ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งมีจำนวนรวมมากกว่า 1.2 แสนราย และมีการจ้างแรงงาน 4.7-5.0 แสนคน

สำหรับข้อเสนอให้ทบทวน ประกอบด้วย

1) วัตถุประสงค์ของร่าง พ.ร.บ. ไม่มีข้อความให้การส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้ได้รับความรู้ โอกาส ช่องทางที่จะพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการพัฒนาของหน่วยงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือภาครัฐ ไม่ใช่กำกับ ควบคุม และคุ้มครองผู้บริโภคเท่านั้น

2) อัตราค่าธรรมเนียมในการติดต่อ ขออนุญาตต่าง ๆ กับทาง อย. ได้มีการปรับอัตราค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ท่ามกลางภาวะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง รายได้ไม่พอรายจ่าย ต้นทุนวัตถุดิบ สินค้าราคาแพงขึ้น ค่าครองชีพสูง เข้าถึงแหล่งทุนในระบบยาก ยังจะต้องมาถูกซ้ำเติมจากอัตราค่าใช้จ่ายที่ อย.เรียกเก็บตามระบบที่สูงอีก ไม่นับรวมผู้ประกอบการบางรายต้องเผชิญค่าธรรมเนียมพิเศษนอกระบบอีก

3) การไม่นำเงินรายได้ส่งคลัง และไม่มีระบุประโยชน์ใด ๆ ที่จะเกิดกับผู้ประกอบการในการพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอาหาร สมุนไพร และเครื่องสำอาง อีกทั้ง อย.ไม่ใช่องค์กรแสวงหาผลกำไร แต่ต้องเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ด้านคุณภาพ มาตรฐาน การรับรองได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และต้นทุนต่ำที่สุดสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เปลี่ยนผ่านอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตได้ รวมถึงจูงใจให้เข้าระบบมาตรฐานต่าง ๆ

อนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง เป็นการแก้ไขจาก พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ใน 3 ประเด็น คือ เพิ่มบทนิยาม กระบวนการพิจารณาเครื่องสำอาง กำหนดให้ รมว.กระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการที่มีอำนาจกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุด และอัตราค่าใช้จ่าย ที่จะจัดเก็บอัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุด และค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บ

และหลักเกณฑ์ในการรับเงินและจ่ายเงิน และแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพิจารณาเครื่องสำอาง และให้อำนาจ รมต.สาธารณสุข กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขค่าขึ้นบัญชี และค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บ โดยให้เหตุผลว่าปัจจุบันการผลิตเครื่องสำอาง มีขั้นตอนการตรวจสอบประเมินต่าง ๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องปรับให้สอดคล้องกับความรู้และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วน พ.ร.บ.อาหารฯ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มีทั้งหมด 14 ประเด็น เช่น บทนิยมอาหารควบคุมเฉพาะ, ตำรับอาหาร และโรงงาน และเพิ่มนิยามเรื่องวัตถุสัมผัสอาหาร เอกสารกำกับอาหาร ข้อความ โฆษณา สถานที่ กระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร และเลขาธิการ

และการให้อำนาจ รมต.สาธารณสุข กำหนดกลุ่มอาหาร หลักเกณฑ์ต่าง ๆ, แก้ไขเรื่องการขอรับใบอนุญาตผลิตอาหาร, แก้ไขหลักเกณฑ์การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตอาหาร และการติดตามตรวจสอบ, เรื่องเกี่ยวกับผู้รับอนุญาตผลิตอาหารเพื่อส่งออก, การควบคุมอาหารเสื่อมคุณภาพ, การควบคุมการโฆษณาอาหาร การยึดการอายัด การพักใบอนุญาต การอุทธรณ์, บทลงโทษ และการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม