ปตท. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 20 ปี ส่งเงินคืนรัฐ 1.07 ล้านล้าน

กลุ่ม ปตท.

ท่ามกลางวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน กดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้นไปทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาก๊าซธรรมชาติขยับขึ้นไปถึง 30 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู “กลุ่ม ปตท.” ในฐานะผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของประเทศเดินหน้า ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ ที่เรียกว่า Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต พร้อมทั้งวางงบประมาณสำหรับการลงทุนในช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2565-2569 ไว้สูงถึง 9.4 แสนล้านบาท

ปตท.ไม่เพียงเป็นฟันเฟืองสำคัญในธุรกิจพลังงานของประเทศ เป็นยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานับจากปี 2544-2564 กลุ่ม ปตท.นำส่งรายได้ให้รัฐรวม 1.07 ล้านล้านบาท และล่าสุดปี 2564 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว รวมถึงความสามารถในการรักษาความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผลประกอบการ ปตท. ปี 2564 มีรายได้ 2,258,818 ล้านบาท เป็นการดำเนินการของ ปตท. 22% และธุรกิจในเครือ 78%

โดยกลุ่ม ปตท. มีกำไรสุทธิ 108,363 ล้านบาท ซึ่งทำให้กลุ่ม ปตท.สามารถนำส่งรายได้ให้รัฐ 82,536 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็น ภาษีเงินได้บริษัทในเครือ 38,077 ล้านบาท เงินปันผลส่งกระทรวงการคลัง 29,198 ล้านบาท ภาษีเงินได้ ปตท.และบริษัทในเครือที่ส่งต่อกรมสรรพากร 8,314 ล้านบาท และเงินปันผลส่งกองทุนวายุภักษ์ 6,947 ล้านบาท

Advertisment
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

กางแผน 5 ปี 9 แสนล้าน

สำหรับแผนการลงทุน 5 ปีตั้งแต่ 2565-2569 นั้น ทาง ปตท.ได้จัดสรรงบฯสำหรับใช้ในธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น 54% ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 31% ธุรกิจไฟฟ้า 4% และธุรกิจที่ ปตท.ดำเนินการเอง 11% (กราฟิก)

ซึ่งหากแยกเฉพาะในส่วน 11% งบฯลงทุนของ ปตท. และบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ใน 5 ปีจะมีวงเงิน 102,165 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 82% หรือ 83,988 ล้านบาท จะเป็นการขยายการลงทุนในธุรกิจหลัก เช่น โรงแยกก๊าซ ท่อส่งก๊าซ คลังก๊าซธรรมชาติ (LNG) และท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ส่วนงบฯที่เหลือราว 20% เป็นการลงทุนในธุรกิจใหม่ โดยตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้แตะ 30% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันราว 5% และยังมีแผนขยายการลงทุนทั้งการร่วมทุน การเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A)

รับเทรนด์พลังงานอนาคต

ในส่วนของการดำเนินธุรกิจ “future energy” จะมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นแกนหลัก ด้วยเป้าหมาย 12 กิกะวัตต์ ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) พร้อมจัดตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด เดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain) โดยร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด บริษัทร่วมทุนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายตลาดและสร้างฐานการผลิต EV ในไทย

คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในไตรมาส 2 นี้ และก่อสร้างโรงงานในไทยปี 2566 การผลิตรถอีวีจะเริ่มได้ภายในไตรมาส 1/2567 กำลังผลิตเฟสแรก 50,000 คัน และผลิตเฟส 2 ราว 150,000 คันต่อปีในปี 2573 โดยมีลูกค้าอยู่ระหว่างเจรจาหลายรายที่สนใจ

Advertisment

นอกจากนี้ ปตท.จัดตั้งบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) เพื่อเป็นหลักขับเคลื่อนการลงทุนด้านแบตเตอรี่ของกลุ่ม ปตท. โดยร่วมทุนกับ GPSC ในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (battery value chain) เปิดตัว G-box ระบบกักเก็บพลังงาน เปิดตัวโรงงานแบตเตอรี่ Semi Solid แห่งแรกในอาเซียน

นอกจากนี้ได้จัดตั้งบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้ EV ทั้งบริการให้เช่า EV ผ่านแอปพลิเคชั่น EV me แพลตฟอร์มสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ติดตั้งตู้สวอปแบตเตอรี่ 22 แห่ง ซึ่งมีมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 80 คัน บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า และสถานีซ่อมบำรุง EV

ส่วน “Beyond” ที่เป็นการรุกธุรกิจใหม่ จะมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย มีทั้งธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (life science) โดยบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เป็นแกนหลัก ซึ่งช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา อินโนบิกได้ร่วมนำเข้าและบริจาคยาเรมเดซิเวียร์ 12,000 ขวด และยาฟาวิพิราเวียร์ 1.2 ล้านเม็ด ดูแลประชาชน อีกทั้งยังมุ่งเข้าสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (high value business) ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เสริมแกร่งธุรกิจน้ำมันและธุรกิจไลฟ์สไตล์

ตลอดจนการเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน (logistics & infrastructure) ระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล (AI, robotics & digitalization)

ปตท.

ปี’65 ลงทุน 4.6 หมื่นล้าน

หากแยกเฉพาะในปี 2565นี้ ธุรกิจที่ ปตท.ดำเนินการเอง มีแผนจะลงทุนรวม 46,586 ล้านบาท ทั้งในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สถานีรับจ่าย LNG ใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและอื่น ๆ

นายอรรถพลย้ำว่า ในปีนี้ 2565 คาดว่าจะมีรายได้เติบโตกว่าปีก่อนที่มีรายได้รวม 2.26 ล้านล้านบาท ปัจจัยหลักจากแนวโน้มราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี “ปรับตัวสูงขึ้น” กว่าปี 2564 โดย ปตท.คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 81-86 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 69.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

และหากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนรุนแรงยืดเยื้อ ราคาน้ำมันทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ค่าการกลั่น (GRM) ปีนี้เฉลี่ย 5.4-6.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สูงขึ้นกว่าปีก่อนที่ GRM เฉลี่ย 3.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาก๊าซธรรมชาติปรับสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาปิโตรเคมีทั้งสายอะโรเมติกส์และโอเลฟินส์ รวมทั้งบริษัทเตรียมขายธุรกิจถ่านหินที่อินโดนีเซีย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในครึ่งปีแรกอีกด้วย