‘บีโอไอ’ เสริมแกร่งสตาร์ตอัพ อัดงบฯกองทุนเพิ่มความสามารถแข่งขัน

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาฯบีโอไอ
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาฯบีโอไอ

“บีโอไอ” ปลดล็อกให้ startup เข้าถึงเงินกองทุน 10,000 ล้านบาท จาก “พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ได้ประเดิมปี’65 เจียดนำร่องให้ startup 150 ล้านบาท เผยเงินกองทุนไม่ค้างท่อทยอยให้ทั้งนักลงทุนรายใหญ่ อุตฯการแพทย์เพียบ 71 โครงการ

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกาศใช้เมื่อปี 2560

ซึ่งมีเป้าหมายในการสนับสนุนด้านเงินทุนให้กับนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ทั้ง 13 อุตสาหกรรม เพื่อที่จะนำไปใช้สำหรับการวิจัยพัฒนา และการลงทุนด้านอื่น ๆ

โดยจะใช้เกณฑ์การพิจารณาที่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่ประเทศจะได้รับ (อิมแพ็กต์) ดังนั้น ในการพิจารณาให้เงินทุนสนับสนุนกับนักลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเป็นการเจรจาพิจารณารายบริษัท

“ที่ผ่านมามีการนำเงินกองทุน 10,000 ล้านบาทออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงมาตั้งแต่ก่อนช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2563 จะพบว่า

สถิติยอดขอการส่งเสริมการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ 83 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ 177% มูลค่าการลงทุน 22,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 165% จากนั้นในปี 2564 อยู่ที่ 71 โครงการ แม้จะลดลง 8% แต่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 62,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 182%”

“ขณะนี้เงินกองทุนเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง เมื่อรัฐผลักดันเรื่องของเศรษฐกิจ biocircular-green economy (BCG economy) เป็นวาระแห่งชาติ และยังเป็นกลุ่ม S-curve เราจึงกำหนดเกณฑ์ใหม่ปรับให้ startup เขามีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบีโอไอได้

แม้ว่าเขาจะได้รับเงินสนับสนุนจากที่อื่นมาแล้วก็ตาม ถามว่าที่เราต้องลดเกณฑ์ของ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถฯ มาให้รายย่อยจากเดิมที่เน้นนักลงทุนรายใหญ่ ๆหรือไม่นั้น เรามองว่าถ้า startup กลุ่ม BCG เขาได้ลงทุนและเดินได้มันก็คือการที่ประเทศได้อุตสาหกรรมเป้าหมายมาด้วย ซึ่งก็มีแต่ประเทศได้ประโยชน์”

สำหรับเกณฑ์ที่กำหนดเงินทุนให้กับ startup คือ 1.ต้องเป็นนิติบุคคลมาแล้ว 5 ปี 2.เป็นอุตสาหกรรม S-curve 3.ต้องเป็นรายที่เคยได้รับเงินสนับสนุนด้านเงินทุนจากหน่วยงานอื่นมาแล้ว เนื่องจากเป็นการแสดงว่า startup รายนี้มีศักยภาพ 4.ต้องเสนอแผนงาน

โดยเงินทุนดังกล่าวบีโอไอจะสนับสนุนค่าจ้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีและด้านบริหาร 50% ของค่าใช้จ่ายจริง เนื่องจากบุคลากรทั้ง 2 ด้านนี้มีผลมากต่อการดำเนินธุรกิจของ startup โดยจะให้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท/เดือน ระยะเวลา 2 ปี วางเป้าหมายให้การส่งเสริม 30 ราย หรือประมาณ 150 ล้านบาท ในปี 2565

“หลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนนี้ สามารถใช้ช่วยสนับสนุนด้านต่าง ๆ อย่างการวิจัยพัฒนา ด้านบุคลากร ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรมว่าสนับสนุนด้านไหนแล้วเป็นประโยชน์เหมาะสมที่สุด

โดยโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ก็ยังสามารถขอการสนับสนุนจาก พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถฯ ได้เช่นกัน”

นอกจากนี้ บีโอไอร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดงานมหกรรม “BCG Startup Investment Day” เพื่อให้ startup ที่มีเทคโนโลยี นวัตกรรม

และมีศักยภาพให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ของรัฐ พร้อมทั้งเปิดให้มีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

ทั้งนี้ กิจการในกลุ่ม BCG ถือว่ามีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นได้จากสถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในปี 2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 152,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากจำนวนโครงการ 746 โครงการ ที่เพิ่มขึ้น 63%

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558-2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวม 675,781 ล้านบาท รวม 2,996 โครงการ