แผน CPF รับวิกฤตอาหารโลก ล็อกต้นทุน “วัตถุดิบ-การเงิน”

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

“ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” แม่ทัพใหญ่ซีพีเอฟ กางแผนตั้งรับ“วิกฤตอาหาร” ลั่นปี’65 โต 8-10% วางหมากล็อกต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนดอกเบี้ย ใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กระจายความเสี่ยงลงทุน 18 ประเทศ ขึ้นฐานผลิต “ไก่ครบวงจร” ในเวียดนามพร้อมประกาศนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนาม คาดไตรมาส 2/2566 ได้ข้อสรุป

ภาวะวิกฤตด้านพลังงานและอาหารที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลับกลายเป็นโอกาสให้ไทย ในฐานะครัวของโลกได้รับอานิสงส์ในการขยายตลาดเพื่อทดแทนซัพพลายที่ขาดหายไปในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งผู้ผลิตอาหารอันดับ 1 ของประเทศอย่าง “เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร” กลายเป็นบิ๊กเพลเยอร์ในตลาดโลก

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า ซีพีเอฟวางเป้าหมายว่าปีนี้ยอดขายจะเพิ่มขึ้น 8-10% จากปีก่อน โดยแนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 2 จะปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 1/2565 จากผลสงครามยูเครนกระทบต่อปริมาณซัพพลายผลผลิตไก่ในตลาดโลกลดลง ประกอบกับมาเลเซียผู้ผลิตไก่อีกรายก็ประสบปัญหาโรค NDF ซึ่งปีนี้แม้ในแง่ธุรกิจอาจจะยากมากขึ้น แต่บริษัทได้รับผลบวกหลังจากเกิดวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะยูเครนเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก ที่ผลิตตั้งแต่วัตถุดิบ ไปจนกระทั่งผลิตเนื้อสัตว์ อันดับ 5 ของโลก

“ภาวะสงครามที่เกิดขึ้นทำให้ซัพพลายก้อนใหญ่ของโลกหายไป ขณะเดียวกันก็ทำให้สินค้าไก่เริ่มดีในไตรมาส 2 ขณะที่ไก่มาเลเซียติดโรค NDF เมื่อ 2 ที่นี้หายไป แต่ไทยเป็นผู้ผลิตที่มีสินค้าจึงไปได้ดี ค่าบาทอ่อนมาช่วยอีก กลายเป็นว่าไตรมาส 2 ดีขึ้น จากที่ไตรมาส 1 ที่ว่าดีแล้ว เพิ่มขึ้น 16% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น ปีนี้จึงวางเป้าหมายว่าจะเพิ่มขึ้น 8-10%”

หากเปรียบเทียบสถานการณ์ปีนี้ถือว่าดีกว่าปีก่อน เพราะถึงแม้ว่าต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น แต่เมื่อสินค้าอาหารในตลาดโลกขาด จึงทำให้สามารถปรับราคาได้ จากเดิมที่ไม่ควรจะขยับขึ้นได้ ทำให้ช่องว่างต้นทุนกับราคาลดลง จากปีก่อนที่สถานการณ์ราคาแย่-ต้นทุนขึ้น-ไม่มีคนทำงาน ส่วนปีนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานดีขึ้นจากหายไป 3 พัน ตอนนี้หายไปไม่ถึง 1 พันคนแล้ว เราพยายามเอาคนต่างชาติเข้ามาเพิ่ม

Advertisment

มุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร

ซีอีโอซีพีเอฟกล่าวว่า แนวโน้มราคาสินค้าครึ่งปีหลัง บริษัทจะไม่มีการขยับราคา แต่ทิศทางราคาสินค้าแต่ละประเภทต่างกัน เช่น กลุ่มฟาร์ม หมู ไก่ ไข่ เป็นสินค้าเกษตรที่ขึ้นลงตามภาวะตลาด ต่างจากกลุ่มอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมที่ต้องร่วมมือในการตรึงราคา แต่หากรายการใดที่วัตถุดิบปรับขึ้นก็อาจจะต้องปรับราคา แต่หากรัฐบาลตรึงราคาวัตถุดิบ เอกชนก็ไม่ต้องปรับราคาจำหน่าย

ทั้งนี้ บริษัทจึงเน้นการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต จากปัจจัยเสี่ยงในครึ่งปีหลัง ทั้งจากภาวะค่าบาทอ่อนค่า ซึ่งซีพีเอฟเป็นธุรกิจที่มีทั้งการส่งออกอาหาร และการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ภาพรวมสามารถบาลานซ์ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกได้ หน่วยธุรกิจ (BU) ย่อยที่ส่งออกได้รับผลดีจากค่าบาทอ่อน ส่วนหน่วยธุรกิจอาหารสัตว์ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบก็จะกระทบ แต่ดีที่ธุรกิจอาหารในประเทศไทยเป็นธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ซีพีเอฟยังต้องเฝ้าติดตามเรื่องต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคาข้าวโพด โดยเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ช่วยพิจารณาให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์สามารถนำเข้าข้าวสาลี โดยยกเว้นให้ไม่ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ (หรือมาตรการ 3 ต่อ 1) ต่อเนื่องออกไป จากปัจจุบันที่ให้มีการยกเว้นมาตรการ 3 ต่อ 1 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ปริมาณรวม 1.2 ล้านตัน จะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคมนี้

“มาตรการ 3 ต่อ 1 เป็นมาตรการที่ภาครัฐนำมาใช้เมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งในช่วงนั้นราคาข้าวโพดตกต่ำ กก.ละ 5-6 บาท จึงขอความร่วมมือให้ซื้อ กก.ละ 8 บาท แต่ตอนนี้ราคาข้าวโพดสูงขึ้นมา 60% แม้ว่าตอนนี้จะอ่อนตัวมาที่ กก.ละ 12.80 บาท จากก่อนหน้านี้ที่เคยขึ้นไปถึง 13.50 บาท แต่ก็ถือว่าสูง หากคำนวณเป็นต้นทุนวัตถุดิบอาหารไก่จะกระทบถึง 36% รัฐบาลควรยกเลิกมาตรการนี้ได้แล้ว เพราะจะไปกดดันทำให้ราคาข้าวโพดแพง วัตถุดิบอาหารสัตว์แพงขึ้นไปอีก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรและอาหารตั้งแต่ต้นทาง ทั้งการดูแล ราคาปุ๋ย โดยการประสานนำเข้าวัตถุดิบปุ๋ยจากรัสเซียและซาอุดีอาระเบีย ทำให้ต้นทุนในการผลิตอาหารดีขึ้น”

Advertisment

ออกหุ้นกู้-เข้าตลาดหุ้นเวียดนาม

พร้อมกันนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง ซีพีเอฟจะมีการออกหุ้นกู้ เป็นการรีเพลซเมนต์หุ้นกู้ที่ครบอายุ เฉลี่ยปีหนึ่ง ๆ มีประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท เป็นการล็อกดอกเบี้ยระยะยาวและวางแผนด้านการเงิน เพื่อรองรับการเติบโตและพัฒนาธุรกิจเพื่อความมั่นคงทางอาหารของโลก และอีกด้านหนึ่ง จะเน้นการดูแลต้นทุนสินค้าเกษตร โดยการเพิ่มผลิตภาพ (ยีลด์) โดยมีแผนการลงทุนใช้เทคโนโลยีมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เช่น การเลี้ยงในโรงไก่ โดยระบบไอที ทำให้การจ้างพนักงาน 1 คน สามารถเลี้ยงไก่ได้ 1 แสนตัว จากก่อนหน้านี้ 1 คน ต่อ 8 หมื่นกว่าตัว และล่าสุดได้นำระบบเทคโนโลยี IOT มาใช้ในไซโลอาหารสัตว์ เพื่อนำมาติดตั้งแทนการใช้คน วัดปริมาณวัตถุดิบด้านในและสั่งวัตถุดิบ ทำให้เกิดความแม่นยำสูง ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบนี้ไปแล้ว 26 ฟาร์ม และจะพัฒนาให้ครบทุกฟาร์ม

นายประสิทธิ์ย้ำว่า นอกจากนี้ ที่ผ่านมาซีพีเอฟยังเป็นบริษัทที่มีฐานการผลิตกระจายไปใน 18 ประเทศ ล่าสุดการลงทุนในฐานการผลิตที่ประเทศเวียดนาม ที่บริษัทตั้งธงไว้เมื่อ 10 ปีก่อน โดยมองว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง การเมืองมีเสถียรภาพ มีประชากรจำนวนมากกว่า 100 ล้านคน เป็นวัยทำงาน ซีพีเอฟได้ลงทุน จ้างแรงงานและบุคลากรระดับสูงชาวเวียดนาม และเมื่อ 2 ปีก่อนได้ขยายการผลิตไก่ครบวงจร 1 ล้านตัว

สเต็ปต่อไปบริษัทมีแผนจะนำบริษัทซีพีเอฟเวียดนาม เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2/2566 หากสำเร็จจะทำให้ซีพีเอฟเป็นบริษัทไทย และบริษัทต่างประเทศ 100% บริษัทแรกที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหุ้นในเวียดนาม และบริษัทจะเป็นธุรกิจที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในเซ็กเตอร์อาหาร โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปลงทุนต่อเพื่อการขยายธุรกิจในเวียดนาม