กกร.ไม่เห็นด้วยหากปรับขึ้นค่าแรงพร้อมกันทั้งประเทศและสูงเกิน วอนรัฐพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายจังหวัด

กกร.แสดงจุดยืนร่วมกัน เห็นด้วยกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง แต่ไม่เห็นด้วยหากปรับขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศและปรับสูงเกินไป วอนขอให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด พิจารณาข้อมูลให้ชัดเจน ขณะที่ เอสเอ็มอี แบกรับปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ชี้แนวโน้มราคาน้ำมันปรับตัว หากขึ้นค่าแรง คาดกระทบหนักต่อการแข่งขัน ศักยภาพการส่งออก

นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย และประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 ในนามตัวแทน กกร. ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีถึงกระแสข่าวการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานของไทย 2-15 บาท เท่ากันทั้งประเทศ โดยแสดงให้เห็นถึงความกังวลของภาคเอกชนและข้อเสนอต่อการปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง ซึ่งจุดยืนของ กกร. เห็นด้วยในการปรับขึ้นค่าแรง แต่ไม่ควรปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศและสูงเกินไป ควรให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างแรงงานในแต่ละจังหวัดซึ่งมีตัวแทนทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพิจารณาตามความเหมาะสมตามปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดจะมีคณะอนุกรรมการค่าจ้างแรงงานซึ่งมีตัวแทนทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพิจารณาอัตราค่าจ้างแรงงานอยู่แล้ว ซึ่งจะพิจารณาตามปัจจัยเศรษฐกิจ ขนาดธุรกิจ รายได้ต่อหัว เป็นต้น เพื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างตามข้อมูลอย่างเหมาะสม พร้อมที่จะนำเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาต่อไปแล้ว สำหรับอัตราค่าจ้างที่จะให้ปรับขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้น ประเด็นนี้ไม่สามารถตอบได้ แต่คณะอนุกรรมการค่าจ้างฯ ทราบอยู่แล้วว่าแต่ละจังหวัดควรจะมีอัตราค่าจ้างเท่าไรให้มีความเหมาะสมที่สุด

“แต่ละจังหวัดจะมีอัตราค่าจ้างที่มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว หากมีการปรับขึ้นค่าแรงก็ไม่ควรปรับสูงเกินไป เพราะจะส่งกระทบเป็นห่วงโซ่ ซึ่งจะมีเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบมากที่สุด และภาคเกษตรกรรม จากข้อมูลในปี 2560 มีการจ้างงานจำนวนทั้งสิ้น 37.72 ล้านคน แบ่งเป็น แรงงานภาคเกษตร 12.05 ล้านคน ภาคการผลิต 14.79 ล้านคน และภาคบริการ 10.88 ล้านคน”

นอกจากนี้ ปัจจุบันภาคเอกชนยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการเอง และหากมีการปรับขึ้นค่าแรงเพิ่มอีก จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก สำหรับสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการและแรงงาน คือ การฝึกทักษะของแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ยกระดับผู้ประกอบการในการแข่งขัน นำเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า การส่งออก

Advertisment

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการยังคงสนับสนุนนโยบายรัฐ แต่การปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง ต้องการให้กลุ่มธุรกิจ คณะอนุกรรมนจังหวัดฯ แต่ละจังบหวัดหารือกันเองเพื่อให้ได้อัตราค่าจ้างที่เหมาะสม ซึ่งมีข้อมูลพร้อมอยู่แล้ว เพราะต้องยอมรับว่า แรงงานนั้นไม่ได้มีเพียงภาคการผลิต ซึ่งมีประมาณ 14.79 ล้านคน แต่รวมไปถึงภาคเกษตร 12.05 ล้านคน ภาคการบริการและการค้า 10.88 ล้านคน และยังมีในกลุ่มภาคราชการ ลูกจ้างอีกด้วย โดยในแต่ละกลุ่มมีระดับการศึกษาที่ต่างกัน ซึ่งเป็นปัจจัยกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงาน

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าจ้างนั้นต้องพิจารณาเรื่องของค่าครองชีพด้วย อีกทั้งศักภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามโดยเฉพาะเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยขณะนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 10% แล้วซึ่งแข็งค่ามาก ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับขึ้นมาอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นปัจจัยต่อต้นทุนการแข่งขันและการส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบอย่างมาก

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับตัวเลขการปรับขึ้นค่าจ้างนั้น ขอให้ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นผู้พิจารณา ซึ่งมีข้อมูลอยู่แล้วและตนไม่ต้องการให้เข้าไปแทรกแซงในประเด็นนี้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน มีการปรับตัวกันอย่างต่อเนื่อง ได้มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยการนำเรื่องเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงาน เพราะต้องยอมรับว่าแรงงานไทยขาดแคลนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ ไม่เพียงในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงาน แต่กลุ่มภาคบริการก็ขาดแรงงานเช่นกัน จึงต้องเร่งพัฒนาแรงงานฝีมือให้มากขึ้น พร้อมกันนี้ อัตราค่าแรงของไทยได้มีการปรับขึ้นครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 ซึ่ง 69 จังหวัด ได้มีการปรับขึ้น โดยแบ่งเป็น ปรับขึ้น 5 บาทใน 49 จังหวัด ปรับขึ้น 8 บาท ใน 13 จังหวัด ปรับขึ้น 10 บาทใน 7 จังหวัด และ 8 จังหวัดไม่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง