ไมโครซอฟท์ ดิจิเกิร์ลซ์ ชู STEM ให้เด็กหญิงไทย

เพื่อให้เด็กผู้หญิงในช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย ตระหนักถึงประโยชน์ของสะเต็มศึกษา-STEM : Science (วิทยาศาสตร์) Technology (เทคโนโลยี) Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) Mathematics (คณิตศาสตร์) บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงมีการจัดกิจกรรมดิจิเกิร์ลซ์ 2017 (DigiGirlz 2017) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสายอาชีพด้านเทคโนโลยีแก่เด็กผู้หญิงไทย

“ชุติมา สีบำรุงสาสน์” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในประเทศไทย ผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมไอทีคิดเป็นร้อยละ 40 ของตำแหน่งงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านฝ่ายขาย และการตลาด ในขณะที่จำนวนผู้หญิงที่ทำงานด้านคอมพิวเตอร์ โค้ดดิ้ง และสายงานด้านเทคโนโลยียังคงมีจำนวนน้อยมาก

เหตุผลเป็นเพราะว่าผู้หญิงส่วนมากไม่สนใจที่จะเลือกเรียนสะเต็มศึกษา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ และดูไม่สวยงามเหมาะกับผู้หญิง หรือเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น ซึ่งถือเป็นมุมมองที่ผิด และจะทำให้ผู้หญิงเสียเปรียบในตลาดแรงงาน

“เราจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคธุรกิจ สถานศึกษา และรัฐบาลทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกันสร้างโอกาสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน ซึ่งกิจกรรม DigiGirlz ที่ไมโครซอฟท์จัดขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้กับทุกคน”

“กิจกรรมนี้มีเด็กผู้หญิงจำนวนกว่า 120 คน อายุ 12-18 ปี เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากจะได้รับฟังคำแนะนำจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษา ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเห็น และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการลงมือเรียนรู้และปฏิบัติจริง”

Advertisment

“อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดิจิเกิร์ลซ์ ที่ไมโครซอฟท์จัดขึ้น ถือเป็นหนึ่งในหลายโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความหลากหลายในสังคม รวมทั้งเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีให้แก่เยาวชน โดยกิจกรรมนี้จะจัดขึ้น ณ สำนักงานไมโครซอฟท์ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสายอาชีพด้านเทคโนโลยีแก่เด็กผู้หญิงต่อไป”

“ดร.ธีรณี อจลากุล” อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวเสริมว่า แต่ก่อนเทคโนโลยีถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายเท่านั้น แต่ในประเทศไทยยุคปัจจุบัน สถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป

“เพราะปัจจุบัน เด็กผู้หญิงจำนวนมากเลือกเรียนในสายสะเต็ม เพราะการเรียนสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมมิ่ง ต้องการทั้งทักษะด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ผสมกัน การออกแบบซอฟต์แวร์ที่ดี ไม่สามารถใช้ความสามารถด้านโค้ดดิ้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้ความพิถีพิถันในรายละเอียดต่าง ๆ และปรับให้เข้ากับความต้องการและอารมณ์ของคนด้วย”

“ดังนั้น สายอาชีพด้านเทคโนโลยีนี้ จึงไม่ใช่แต่เพียงงานของผู้ชายเท่านั้น แต่เป็นงานของทุกคน ถ้าชอบเทคโนโลยี จงอย่าลังเลที่จะเดินบนเส้นทางนี้ และทำให้ดีที่สุด”

Advertisment

“ด.ญ.อัยยา สุโข” อายุ 12 ปี จากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า หนูรักที่จะเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และสนใจคอมพิวเตอร์กราฟิกมาก การได้เรียนรู้เกี่ยวกับโค้ดดิ้งในกิจกรรมครั้งนี้สนุกมาก และทำให้หนูรู้สึกตื่นเต้นที่จะศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ต่อไป

ขณะที่ “ด.ญ.นิรดา ธนาดำรงศักดิ์” อายุ 15 ปี จากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย บอกว่า หลังจากที่ได้ฟังพี่ ๆ เล่าถึงประสบการณ์การแข่งขันแล้ว รู้สึกมีพลัง และมีแรงบันดาลใจให้กับตัวเองมาก พี่ ๆ ทำให้รู้สึกเชื่อมั่นว่าถ้ารักในสิ่งที่ทำแล้ว เราจะประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

“หนูรู้สึกว่าเลข และวิทยาศาสตร์เป็นอะไรที่ท้าทาย แต่ก็น่าดึงดูดมากเช่นกัน กิจกรรมในวันนี้ทำให้หนูอยากตั้งใจเรียนในวิชาเหล่านี้มากขึ้นในอนาคตค่ะ”

นับเป็นการสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการศึกษาในสาขา STEM และสายงานด้านเทคโนโลยี ให้กับเด็กหญิงไทย