10 ภูมิทัศน์ใหม่ ย่านเกาะรัตนโกสินทร์ การรื้อย้ายในรอบ 100 ปี

ภูมิทัศน์และสถาปัตยกรรมของอาคารเก่าแก่ บนถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินกลาง ราชดำเนินนอก ไปจนถึงเกาะรัตนโกสินทร์ กำลังจะถูกปรับปรุง-โยกย้ายในรอบเกือบ 100 ปี

ในช่วงปี 2560 – 2562 หน่วยงานราชการ กระทรวง ต่างๆ เริ่มวางแผนย้ายสถานที่ตั้งกระทรวง ไปอยู่ในที่ตั้งแห่งใหม่ อันเป็นไปตาม แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ปี 2560 โดยขยายขอบเขตครอบคลุม 5 พื้นที่ ได้แก่:

1. กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน

2. กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก

3. ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์

4. พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ตั้งแต่แนวคลองรอบกรุง-ผดุงกรุงเกษม

5. บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์

นอกจากบริเวณถนนราชดำเนินแล้วบริเวณเขตพระราชวังดุสิตอันเป็นปลายสุดของถนนราชดำเนินนอก ตัดกับถนนศรีอยุธยา ยังปรับภูมิทัศน์ใหม่ โดยสถานที่ราชการ สถานที่สำคัญมีสถานภาพ “ปิดทำการ – รื้อถอน” หรือ “ย้าย” ที่ทำการไปอยู่ในพื้นที่แห่งใหม่

10 หน่วยงาน-อาคารเก่า ที่สถานภาพเปลี่ยนแปลงไป

    พระที่นั่งอนันตสมาคม

1. พระที่นั่งอนันตสมาคม

ย้อนกลับไปช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้เสด็จกลับจากการประพาสยุโรปครั้งแรก ซึ่งระหว่างการนั้น พระองค์ได้ทอดพระเนตรพระราชวังของกษัตริย์แต่ละประเทศมีอาณาบริเวณกว้างขวาง และยังมีพระราชอุทยานเต็มไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิดให้ความร่มรื่น สดชื่น แต่ครั้นพระองค์เสด็จกลับมายังเมืองสยาม ปรากฏว่าในบริเวณพระบรมมหาราชวังซึ่งสร้างมาร้อยกว่าปี เต็มไปด้วยตึก อาคารที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ของบรรดาเจ้าจอมต่างๆ บดบังทิวทัศน์ ทิศทางลม ทำให้พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ร้อน”

“ในฤดูร้อนพระบรมมหาราชวังร้อนจัด เพราะมีตึกบังอยู่โดยรอบ ไม่เปนที่ลมเดินสะดวก อนึ่งพระราชอัธยาไศรย โปรดทรงด้วยพระบาทในระยะทางอันหนึ่งพอสมควรแก่พระกำลังก็เปนที่ทรงสบาย ถ้าประทับอยู่บนพระที่นั่งไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินแห่งใดหลายเดือน ก็ไม่ใคร่ทรงสบาย จึงต้องเสด็จประภาศหัวเมือง เพื่อได้ทรงสำราญพระราชอิริยาบทเนืองๆ”

เพราะเหตุนี้พระองค์จึงใช้เงินจากพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างพระราชวังดุสิตเพื่อใช้เป็นที่ประทับในช่วงปลายรัชกาลโดยสมบูรณ์

แต่การสร้างพระราชวังดุสิตแห่งนี้ มิใช่เป็นแค่สถาปัตยกรรมอันงดงาม ที่ต่อมากาลเวลาได้ผันเปลี่ยนให้พระราชวังแห่งนี้ ได้ผ่านช่วงเวลาที่เป็นประวัติศาสตร์การเมือง เมื่อคณะราษฎรใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ควบคุมตัวเจ้านาย หลังก่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เป็นสถานที่พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมามากกว่า 2 ทศวรรษ ก่อนจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในภายหลัง กระทั่งปิดทำการเมื่อ 30 กันยายน 2560

 พระที่นั่งวิมานเมฆ ภาพ: Getty Images

2. พระที่นั่งวิมานเมฆ

สำหรับพระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งในพระราชวังดุสิต เดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังฤดูร้อน พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อแล้วนำมาสร้างที่วังสวนดุสิตและพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งวิมานเมฆ” โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกำกับการออกแบบและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2445

ในรัชกาลที่ 9 พ.ศ.2525 ซึ่งเป็นปีที่ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงขอพระบรมราชานุญาตซ่อมพระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งองค์นี้ เป็นอาคารแบบวิกตอเรีย ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ผสมกับไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็นรูปอักษรตัวแอล (L) ในภาษาอังกฤษ ยาวด้านละ 60 เมตร สูง 20 เมตร เป็นอาคาร 3 ชั้น ยกเว้นตรงส่วนที่ประทับซึ่งมีรูปร่างเป็นแปดเหลี่ยม มี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐ ถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมดทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง และหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลมซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่าขนมปังขิง

จากนั้นได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมเรื่อยมาตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2528 จนกระทั่งครั้งสุดท้ายปิดทำการในปี 2559 ปัจจุบันเป็นเขตพระราชฐานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

 รัฐสภา

3. รัฐสภา สู่ “สัปปายะสภาสถาน”

อาคารรัฐสภาเดิมอยู่ติดกับพระที่นั่งอนันตสมาคม และสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งสร้างในปี 2513 แล้วเสร็จในปี 2517 ซึ่งใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา มากว่า 46 ปี แทนพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเคยใช้เป็นที่ทำการฝ่ายนิติบัญญัติตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ปัจจุบันย้ายไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ ชื่ออาคารรัฐสภา “สัปปายะสภาสถาน” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนทหาร (เกียกกาย) แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใช้เป็นที่ประชุมฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มาจากการเลือกตั้ง ครั้งแรก ในปี 2562 ขณะที่รัฐสภาแห่งเดิมอยู่ระหว่างการทุบและรื้อถอนอาคารออกทั้งหมด

 ปิดตำนาน 120 ปี เขาดิน

4. ปิดตำนาน 120 ปี เขาดิน

สวนสัตว์ดุสิต หรือ สวนสัตว์เขาดิน เนื้อที่ 118 ไร่ อยู่ในอาณาบริเวณของ “วังสวนดุสิต” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2441 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อสวนและนาในระหว่างคลองผดุงกรุงเกษม จนถึงคลองสามเสน ด้านตะวันออกถึงทางรถไฟ ด้วยเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยพระราชทานชื่อที่ตำบลนี้ว่า “สวนดุสิต” ปัจจุบันเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

โดยสวนสัตว์เขาดินได้ย้ายไปตั้งในพื้นที่แห่งใหม่ บริเวณคลอง 6 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ต่อประชาชนชาวไทยและชาวองค์การสวนสัตว์ที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 พระราชทานโฉนดที่ดิน จำนวน 300 ไร่ให้กับองค์การสวนสัตว์ เพื่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ ปิดตำนาน 120 ปี เขาดิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2561

 ราชตฤณมัยสมาคม สนามม้านางเลิ้ง

5. ราชตฤณมัยสมาคม

ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ “สนามม้านางเลิ้ง” สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2459 โดยเก็บค่าสมาชิกเพียงคนละ 1 บาทต่อเดือน ซึ่งสนามม้านางเลิ้ง เป็น “สนามไทย” คู่กับ ราชกรีฑาสโมสร ซึ่งเรียกว่า “สนามฝรั่ง” เป็นแหล่งบันเทิงของคนต่างชาติ ซึ่งสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ เปิดสนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2459 และพระราชทานนามว่า “ราชตฤณมัยสมาคม” รวมไปถึงยังทรงส่งม้าในคอกของพระองค์เข้าร่วมแข่งอีกด้วย

สนามม้านางเลิ้งเปิดดำเนินการถึง 102 ปี กระทั่ง คืนที่ให้กับสำนักงานทรัพยสินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อ 4 ตุลาคม 2561 เพื่อก่อสร้างเป็นสวนสาธารณะ และเตรียมการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวด้วย

 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

6. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

อยู่ในถนนราชดำเนินใน ถัดจากกระทรวงคมนาคม มีแผนย้ายที่ทำการกระทรวงเช่นกัน ทางกระทรวงได้จัดทำแผนการใช้พื้นที่เบื้องต้นเสนอกรมธนารักษ์ไปเรียบร้อยแล้ว ใช้พื้นที่รวม 30,000 ตร.ม. คาดว่าแผนทั้งหมดน่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565 โดยจะใช้พื้นที่อาคารโซนซี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

 กระทรวงคมนาคม

7. กระทรวงคมนาคม

เป็นส่วนสถานที่ราชการที่อยู่ในแผนการรื้อย้าย ในโซนถนนราชดำเนินนอก ซึ่งกลุ่มอาคารราชการส่วนใหญ่สร้างขึ้นในช่วง จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี แผนจะย้ายจากถนนราชดำเนินไปอยู่ย่านพหลโยธิน บนถนนกำแพงเพชร ใกล้สถานีกลางบางซื่อ โดยเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 11 ไร่ ก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่สูง 30 ชั้น 1 อาคาร รองรับหน่วยงานที่เพิ่มขึ้น อาทิ

สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย, สำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน และศูนย์ปลอดภัยคมนาคม โดยขอผูกพันงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีแล้ววงเงิน 3,710 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2563 จำนวน 741.61 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 1,484.22 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 148.22 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศาลาว่าการกระทรวงคมนาคมในปัจจุบันนั้น พลเรือโทหลวงชำนาญ อรรถยุทธ (เอื้อน กุลไกรเวส) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์แทนรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2495 ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือนอ้าย แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง ร.ศ.1314 เวลา 9.15 น. และสร้างเสร็จเรียบร้อยได้ย้ายมาเปิดเป็นอาคารที่ว่าการกระทรวงคมนาคม ดังที่ปรากฏอยู่ ในปัจจุบันนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2497

 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

8. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เป็นอาคารเก่าที่อยู่ในข่ายต้องย้ายกระทรวง เพราะอยู่ในเขตรัตนโกสินทร์ และจะต้องมีสถานที่ใหม่มารองรับ คาดว่าจะใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของสนามกอล์ฟกรมชลประทาน กับพื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพราะส่วนราชการหลายส่วนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ปัจจุบันก็อยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่แล้ว และยังพอมีพื้นที่เหลือ

 กระทรวงมหาดไทย

9. กระทรวงมหาดไทย

อยู่ย่านใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ มีความคืบหน้าในการย้ายกระทรวง แต่ไม่รื้อที่ตั้งกระทรวงมหาดไทยเดิม บนถนนอัษฎางค์ จะรื้ออาคารโดยรอบซึ่งเคยเป็นอาคารของกรมการพัฒนาชุมชนเดิม และอาคารของกรมการปกครอง เพราะบดบังภูมิทัศน์ของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม คงไว้เฉพาะอาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ต้องอนุรักษ์ไว้

ส่วนที่ตั้งกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ จะโยกไปอยู่ย่านคลองสาน ฝั่งธนบุรี มีทั้งอาคารจอดรถ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวง อาคารกรมการปกครอง อาคารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาคารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอาคารกรมการพัฒนาชุมชน ของบประมาณกว่า 6,651.3890 ล้านบาท

 กรมแผนที่ทหาร

10. กรมแผนที่ทหาร

กรมแผนที่ทหารข้าง ๆ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ย้ายไปแล้วเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2561 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะของที่ราชพัสดุ ซึ่งเดิมอยู่ในความครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ในราชการของกรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม

ปัจจุบันกรมแผนที่ทหารได้เลิกใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ และไม่ประสงค์จะสงวนไว้ใช้เพื่อประโยชน์เช่นนั้นอีกต่อไป สมควรถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ

โดยมีแผนที่จะย้ายที่ตั้งเร่งด่วนไปยังพื้นที่ใหม่ ณ พื้นที่กองคลังแผนที่ กรมแผนที่ทหาร ถนนลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ราชพัสดุ เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ 3 งาน 3 ตารางวา โดยมีแผนดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานและที่จอดรถสูง 16 ชั้น

แต่อาคารกรมแผนที่ทหารที่สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2434 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังสราญรมย์เรียกว่าโรงเรียนทหารสราญรมย์ ยังคงอนุรักษ์ไว้