ดอลลาร์เคลื่อนไหวแคบ ตลาดจับตาการประชุม FOMC 30-31 ม.ค.นี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/1) ที่ 31.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/1) ที่ 31.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26/1) กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4 ปี 2560 ที่ระดับ 2.6% โดยต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3% และต่ำกว่าระดับ 3.2% ในไตรมาส 3 อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 3% ในปีนี้ ตามเป้าหมายของรัฐบาล จากปัจจัยบวกของดอลลาร์ที่อ่อนค่า และเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง รวมทั้งแรงกระตุ้นจากมาตรการปฏิรูปภาษีของรัฐบาล นอกจากนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันศุกร์ โดยได้กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งได้ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการปฏิรูปภาษีของเขาได้ทำให้บริษัทสหรัฐกลับมาลงทุนในประเทศ และเขายังได้กล่าวเชิญชวนประเทศต่าง ๆ เข้าลงทุนในสหรัฐ นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ยังได้กล่าวปกป้องนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” โดยกล่าวว่า คำว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” ได้ได้หมายความว่าสหรัฐคำนึงถึงผลประโยชน์อเมริกาเท่านั้น เพราะว่าเมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐขยายตัว เศรษฐกิจโลกก้ขยายตัวเช่นกัน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.30-31.44 บาท/ดอลลาร์สหรคัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (29/1) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2395/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/1) ที่ระดับ 1.2449/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่า เศรษฐกิจยุโรโซนขยายตัวเป็นวงกว้าง และอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนก็เคลื่อนตัวเข้าใกล้เป้าหมายที่ระดับ 2% ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนมองว่า ECB จะยังคงมีแผนยุติการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย แม้ว่า ECB ได้ประกาศคงนโยบายการเงินในการประชุมที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2383-1.2435 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2399/1.2401 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (29/1) เปิดตลาดที่ระดับ 108.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/1) ที่ระดับ 109.13/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26/1) นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าแม้มีหลายปัจจัยที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% เป็นไปอย่างยากลำบาก แต่เขาเชื่อว่า BOJ ใกล้จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเนื่องจากค่าแรงและราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ นายคุโรดะไม่ได้ปรับทบทวนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น พร้อมกรับแสดงความเชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุดแล้ว BOJ จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ และยังกล่าวด้วยว่า BOJ จะเดินหน้าสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและราคา ด้วยการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.50/109.05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคของสหรัฐ (29/1) อัตราการว่างงานของญี่ปุ่น (29/1) ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี (30/1) ประมาณการณ์ตัวเลข GDP ของยูโรโซน (30/1) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (30/1) ดัชนีราคาผู้บริโภคของออสเตรเลีย (30/1) ยอดค้าปลีกของเยอรมนี (31/1) ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน (31/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.0/-1.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ -3.2/-2.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”