แบงก์แข่งดูดเงินฝากรับเศรษฐกิจฟื้น เดือนเดียวทะลุ 2 แสนล้าน

แบงก์แข่งระดมเงินฝากรับปี’66 ศก.ฟื้นตัว-สินเชื่อโต “ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” เผย ต.ค.เดือนเดียวเงินฝากทะลัก 2.35 แสนล้าน สูงสุดรอบ 30 เดือน หลัง ธปท.ส่งสัญญาณขยับดอกเบี้ยต่อเนื่อง แคมเปญระดมเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษเกลื่อน ขณะที่สมรภูมิ “เงินฝากดิจิทัล” ร้อนแรง “ทีทีบี” ปรับขึ้นดอกเบี้ย “ME Save” 1.70% เกทับคู่แข่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง โดยในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.25% ต่อปี ส่งผลให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ก็ทยอยประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งขาเงินกู้และเงินฝาก

เดือนเดียวทะลัก 2 แสนล้าน

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเงินฝากระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 18 แห่ง พบว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค. 2565) มียอดเงินฝากทั้งระบบเพิ่มขึ้นราว 5.45 แสนล้านบาท ทำให้ ณ เดือน ต.ค. ยอดเงินฝากคงค้างทั้งระบบขยับขึ้นไปอยู่ที่ 15.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มียอดเงินฝากคงค้าง 15.53 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากดูการเพิ่มขึ้นของเงินฝากเฉพาะเดือนตุลาคม จะพบว่ามียอดเงินฝากเพิ่มขึ้นถึง 2.35 แสนล้านบาท นับเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเดือนสูงสุดในรอบ 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563

Advertisment

นางสาวกาญจนากล่าวว่า หลังจากล่าสุดที่ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ 1.25% ต่อปี จะเห็นว่าสถาบันการเงินเริ่มขยับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามทั้งเงินฝากและเงินกู้ แต่ขนาดของการปรับจะขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร ซึ่งผลิตภัณฑ์เงินฝากมีหลากหลาย เช่น 3 เดือน 6, 12 และ 24 เดือน ประกอบกับเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของปี ทำให้เห็นภาพธนาคารแข่งขันระดมเงินฝากมากขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมาแบงก์มีผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษออกใหม่มากกว่าที่ครบกำหนดราว 20 แคมเปญ และหลากหลายมากขึ้น ส่งผลเงินฝากในเดือนตุลาคมมีอัตราการเติบโตสูง

แข่งระดมเงินฝากรับสินเชื่อโต

“หลังจากแบงก์ชาติมีการขยับดอกเบี้ย เราจะเห็นว่าสถาบันการเงินต่าง ๆ มีการออกแคมเปญเงินฝากพิเศษเยอะขึ้น และต่อเนื่องไปถึงโค้งท้ายของปีนี้ ส่วนหนึ่งแบงก์เองก็ต้องการระดมสภาพคล่องรองรับสินเชื่อที่โตในปีหน้า”

นางสาวกาญจนากล่าวว่า จากแนวโน้มดังกล่าวภาพรวมเงินฝากทั้งปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.5-3.7% ส่วนหนึ่งมาจากเดือนตุลาคมที่เงินฝากเข้ามาค่อนข้างสูง และคาดว่าอัตราการเติบโตเงินฝากในปี 2566 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงสถาบันการเงินเร่งระดมเงินฝากเพื่อรองรับอัตราการเติบโตของสินเชื่อในปี 2566 โดยคาดการณ์เงินฝากจะขยายตัวในกรอบ 4-5.5% ในปี 2566

ทั้งนี้ ทิศทางสินเชื่อที่ยังรักษาโมเมนตัมการขยายตัว จาก ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ที่ขยายตัว 5.0% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าอัตราการเติบโตของเงินฝาก ทำให้ปริมาณสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารที่ทยอยลดลง จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธนาคารต่าง ๆ เร่งแคมเปญระดมเงินฝาก

Advertisment

รวมทั้งเป็นการออกแคมเปญเพื่อรักษาฐานลูกค้าเงินฝากกลุ่มต่าง ๆ ตามนโยบายของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง โดยมีการออกแคมเปญเงินฝากระยะยาวที่อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นในลักษณะขั้นบันไดสำหรับรองรับวัยเกษียณ หรือรับดอกเบี้ยเงินฝากคืนในลักษณะรายเดือน แคมเปญเงินฝากปลอดภาษี รวมถึงโครงการเงินฝากพิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง และแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษที่ฝากสม่ำเสมอเป็นรายเดือน เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมการออมที่สม่ำเสมอ เป็นต้น

ดอกเบี้ยแบงก์

ทีทีบีเร่งสปีด “เงินฝากดิจิทัล”

นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่ลูกค้ารายย่อย ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.25% ต่อปี โดยปกติธนาคารจะพิจารณาปรับขึ้นทั้ง 2 ขา เงินฝากและเงินกู้ เพื่อให้สอดรับกัน ขณะที่ในส่วนของเงินฝากก็จะเห็นการขยับขึ้นดอกเบี้ยของเงินฝากประจำ หรือประจำพิเศษก่อน

ส่วนเงินกู้ตระกูล M ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยชั้นดี (MRR) ดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี (MLR) และดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชีแบบมีระยะเวลา (MOR) จะเป็นการทยอยปรับในอัตราที่เหมาะสม เนื่องจากธนาคาร รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ห่วงกระทบกลุ่มเปราะบาง

“การปรับดอกเบี้ยต้องดูโครงสร้างสินเชื่อ และเงินฝากให้สอดรับกัน แต่เชื่อว่าทุกแบงก์ก็อยากให้กระทบกลุ่มเปราะบางน้อยที่สุด โดยในส่วนดอกเบี้ยคงที่ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรายเดิมอาจจะไม่ได้ปรับ แต่ลูกค้ารายใหม่คงต้องทยอยขึ้น ส่วนดอกเบี้ยลอยตัวตระกูล M อาจจะต้องดูตามเหมาะสม”

นายอนุวัติร์กล่าวว่า ในส่วนของทีทีบี ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากดิจิทัล “ทีทีบี มีเซฟ” (ttb ME Save) ขึ้น 0.60% ต่อปี จากอัตราปัจจุบันเพิ่มเป็นสูงสุด 1.70% ต่อปี โดยเงินฝากดิจิทัลถือเป็น segment ที่มาแรงสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธนาคารจะมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้า และต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์อื่น แม้ว่าจำนวนเงินฝากจะไม่สูงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ซึ่งเงินฝากดิจิทัลจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูง เป็นการชดเชยที่ลูกค้าสามารถดูแลตัวเอง และธนาคารก็ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสาขาลง

สมรภูมิเงินฝากดิจิทัลแข่งดุ

นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อตอบสนองกับนโยบาย หลัง กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีฯก็ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 14 เดือน ขึ้น 0.25% เป็น 1.25% โดยมีผลตั้งแต่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมของลูกค้า และเพื่อตอบสนองความต้องการออมเงินของลูกค้าระยะสั้นและระยะยาว ธนาคารจึงได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเทอมอื่นๆ ขึ้น 0.15-0.50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อขึ้นในอัตราส่วนที่น้อยกว่าเงินฝาก ซึ่งธนาคารได้ปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อครั้งแรกหลังจากกนง.ได้ปรับดอกเบี้ยขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ในครั้งนี้จะมีผลบังคับในวันที่ 13 ธ.ค. 65 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการโปรโมต “บัญชีเงินฝากดิจิทัล” รองรับกลุ่มลูกค้าในหลากหลาย lifestage & lifestyle เพื่อขยายฐานลูกค้าเงินฝาก โดยจะเห็นว่าปัจจุบันบัญชีเงินฝากดิจิทัลมีการแข่งขันสูง ซึ่งใช้อัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเปิดบัญชี ในส่วนของธนาคารกรุงศรีฯ ก็มีผลิตภัณฑ์ “บัญชีเงินฝากมีแต่ได้ออนไลน์” เป็นเงินฝากดิจิทัลบนแอปพลิเคชั่น KMA และ Kept ของธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 1.50% ด้วยวงเงินฝากสูงถึง 2 ล้านบาท และจ่ายดอกเบี้ยรายเดือน อย่างไรก็ดี การปรับอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากดิจิทัล ธนาคารคงต้องรอดูทิศทางการแข่งขันของตลาด

“บัญชีเงินฝากดิจิทัลมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปัจจัยหลักคือความสะดวกที่ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีได้ด้วยตัวเองผ่านโทรศัพท์มือถือ ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องเดินทางไปสาขาธนาคาร โดยลูกค้าสามารถยืนยันตัวตนผ่าน NDID หรือจุดบริการจุดยืนยันตัวตนของธนาคารที่มีกว่า 16,000 จุดทั่วประเทศ เช่น สาขาธนาคาร, บริษัทในเครือ และพันธมิตรต่าง ๆ อย่าง 7-Eleven”

สอดคล้องกับธนาคารเกียรตินาคินภัทรที่ระบุว่า ขณะนี้ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาสภาพคล่องในระบบโดยรวม รวมถึงทิศทางการปรับดอกเบี้ยของธนาคารอื่น ๆ นอกจากนี้ ธนาคารเห็นแนวโน้มการเติบโตของเงินฝากดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ลดลงในปี 2566 เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้มีลูกค้าบางกลุ่มหันไปออมเงินในตลาดการเงินอื่น ๆ ที่น่าสนใจกว่า เนื่องจากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น หุ้นกู้ภาคเอกชน หรือพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล เป็นต้น

ปัจจุบันเงินฝากดิจิทัลของธนาคารมี 3 ผลิตภัณฑ์ คือ KKP Savvy 1.60%, KKP Start Saving 2% และ Dime Save ! สูงสุด 3% ต่อปี ตอบโจทย์ผู้ฝากเงินในการออมเงินเพื่ออนาคต โดยธนาคารมีการจัดแคมเปญเงินฝากดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการออมของลูกค้าทุกเดือน

ธอส.-ออมสินตุนสภาพคล่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ออก “เงินฝาก ECO Savings” ให้ผลตอบแทนสูงด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษถึง 1.75% ต่อปี สำหรับผู้ที่มียอดเงินฝากคงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นสิทธิที่มอบให้กับลูกค้าธนาคารที่ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ประหยัดพลังงาน ได้แก่ โครงการสินเชื่ออยู่เย็น เป็นสุข, สินเชื่อบ้าน Solar Roof, สินเชื่อบ้านอยู่สบาย By SCG Heim

และ “เงินฝากออมทรัพย์ Freshy 55 Plus” รับดอกเบี้ยเป็นขั้นบันไดเป็นรายเดือน ระยะเวลา 3 ปี คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.125% ต่อปี สำหรับคนรักการออมที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป เปิดบัญชีเงินฝากขั้นต่ำ 10,000 บาท

ธนาคารออมสิน ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากเผื่อเรียกเพื่อการเกษียณ 7 ปี เป็นเงินฝากระยะยาวเพื่อใช้ยามเกษียน เริ่มต้นฝากขั้นต่ำ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลา สูงสุด 10.00% ต่อปี ในปีที่ 7 คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.21% ต่อปี (ไม่เสียภาษี) หรือเงินฝากเผื่อเรียกเพื่อการเกษียณ 12 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.67% ต่อปี

รวมทั้งเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 13 เดือน เปิดบัญชีขั้นต่ำ 10,000 บาท ให้ผลตอบแทนจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได สูงสุด 4.50% คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.15% ต่อปี (บุคคลธรรมดาดอกเบี้ยไม่เสียภาษี) ซึ่งเทียบเท่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1.35% ต่อปี เปิดรับฝากตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

แข่งออกฝากประจำพิเศษ

ขณะที่ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำพิเศษ 12 เดือน, 20 เดือน และ 36 เดือน ด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงและรับดอกเบี้ยทุกเดือน เปิดบัญชีขั้นต่ำ 100,000 บาท และไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยเงินฝากประจำพิเศษ 12 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.50% 20 เดือน อัตราดอกเบี้ย 2.00% และฝากประจำ 36 เดือน อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 3.25% ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีได้ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2565

ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีทีบี ส่งบัญชี “ทีทีบี อัพ แอนด์ อัพ” ฝากประจำ 24 เดือน ยิ่งฝากนาน ดอกเบี้ยยิ่งสูง รับดอกเบี้ยสูงสุด 2.5% ต่อปี (ในเดือนที่ 19-24) และถอนเมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่ถูกลดดอกเบี้ย รับอัตราดอกเบี้ยตามระยะเวลาฝากเดือนที่ 1-6 รับดอกเบี้ย 0.70% ต่อปี เดือนที่ 7-12 รับดอกเบี้ย 1.40% ต่อปี เดือนที่ 13-18 รับดอกเบี้ย 1.60% ต่อปี และเดือนที่ 19-24 รับดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี

ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 14 เดือน ขึ้น 0.25% เป็น 1.25% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา