เงินบาทอ่อนค่า หลังดุลการค้าไทยติดลบมากกว่าคาด

ค่าเงินบาท

เงินบาทอ่อนค่า หลังดุลการค้าไทยติดลบมากกว่าคาด เฉพาะเดือนเมษายนไทยขาดดุลการค้า 1,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ส่งออก 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 92,003 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.2%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 30 พฤษภาคม 2566 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/5) ที่ระดับ 34.66/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (29/5) ที่ระดับ 34.73/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวในกรอบแคบที่ระดับ 104.30 หลังวานนี้ตลาด การเงิน ตลาดหุ้น และหน่วยงานราชการสหรัฐปิดทำการ เนื่องในวัน Memorial Day ท่ามกลางความคืบหน้าในการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ ภายหลังมีรายงานข่าวว่า ปธน.โจ ไบเดน และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ โดยตลาดยังติดตามว่า สภาคองเกรสจะลงคะแนนผ่านเพดานหนี้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ดีนักลงทุนรอติดตามตัวเลขข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยในวันพุธนี้ (31/5) กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ประจำเดือน เม.ย. ส่วนในวันพฤหัสบดี (1/6) จะมีรายงานตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือน พ.ค. และกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สำหรับในวันศุกร์ (2/6) กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือน พ.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 180,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. ซึ่งจะชะลอตัวจากระดับ 253,000 ตำแหน่งในเดือน เม.ย.และคาดว่าอัตราว่างงานเดือน พ.ค. จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.5% จากระดับ 3.4% ในเดือน เม.ย.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าในระหว่างวัน หลังกระทรวงพาณิชย์รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน เม.ย. 66 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 21,723 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 7.6% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,195 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 7.3% ส่งผลให้เดือน เม.ย.นี้ ไทยขาดดุลการค้า 1,470 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 92,003 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.2%

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 96,519 ล้านดอลลาร์ ลดลง 2.2% ส่งผลให้ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 4,516 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดีตลาดรอจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (31/5) โดยตลาดคาดการณ์ว่า กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.60-34.89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.84/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/5) ที่ระดับ 1.0704/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับ ปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (29/5) ที่ระดับ 1.0715/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยยูโรเคลื่อนไหวตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ยูโรโซนมีกำหนดเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจสำหรับเดือน พ.ค. ในวันนี้ (30/5) โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0671-1.0726 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0696/00 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/5) ที่ระดับ 140.23/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (29/5) ที่ 140.24/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นรายงานในวันนี้ว่า อัตราว่างงานเดือน เม.ย. 2566 ของญี่ปุ่นที่ปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.6% จากเดิมที่ระดับ 2.8% ในเดือน มี.ค. ซึ่งตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่โพลนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.7%

อย่างไรก็ดี ค่าเงินเยนยังคงได้รับแรงกดดันจากดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ โดยระหว่างวันค่าเงินเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 139.95-140.93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 140.55/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสหรัฐสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือน มี.ค. จาก S&P (30/5), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. (30/5), การเปิดรับสมัครและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือน เม.ย.จาก JOLTS (31/5), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) (1/6), การจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP (1/6), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (1/6), ดัชนีภาคการผลิตเดือน พ.ค. จาก ISM (1/6), การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ค. (2/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.50/-11.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.35/-7.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ