STARK ผู้ถือหุ้นรายย่อย วอนตลาดหลักทรัพย์ยืดแขวน SP 19 ก.ค.

Stark

ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยของ STARK เรียกร้องผู้บริหารเปิดเผยแนวทางแก้ไขวิกฤตภายในวันนี้ เพราะเป็นวันซื้อขายวันสุดท้าย หลังประกาศใช้เวลาตัดสินใจถึงวันที่ 19 ก.ค. เหตุนักลงทุนต้องการข้อมูลที่ชัดเจนก่อนตัดสินใจซื้อขายหุ้นภายในวันนี้ พร้อมวอน ตลท.ขยายเวลาขึ้นเครื่องหมาย SP เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาและมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ

วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ดร.ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ ประธานบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงการที่นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เสนอ 4 แนวทางในการแก้ไขวิกฤตของ STARK โดยจะใช้เวลาถึงวันที่ 19 กรกฎาคมนั้น เปรียบเสมือนเป็นการมัดมือมัดเท้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญคือผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทมากกว่า 11,000 ราย เหมือนกำลังอยู่หลักประหาร เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนดให้ซื้อขายวันนี้ (30 มิ.ย.) เป็นวันสุดท้าย โดยที่มีข้อมูลที่ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจสำคัญ และกระทบต่อการได้เสียมหาศาล

ดร.ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์
ดร.ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์

กล่าวคือ หากคณะผู้บริหาร STARK เลือกแนวทางข้อ 3 คือ เพิ่มทุนจดทะเบียน ทั้งจากผู้ถือหุ้นเดิมหรือผู้ลงทุนใหม่ ก็สมควรต้องประกาศให้ชัดเจนอย่างช้าสุดในวันนี้ เช่น หากเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม กลุ่มนายวนรัชต์จะคงรักษาสัดส่วนเดิมหรือไม่ หรือหากขายรายใหม่ก็ต้องประกาศชัดเจนว่าเป็นใคร เช่น กลุ่ม TOA หรือพันธมิตร และได้เพิ่มทุนจนทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาบวก มีเงินมาหมุนเวียนกิจการหรือไม่

“หากคำตอบชัดเจนในวันนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อย 11,000 ราย ก็อาจมีทางเลือกทนถือหุ้นเอาไว้ เพื่อให้กิจการฟื้นตัวกลับมา หุ้นในมือก็อาจจะกลับมามีมูลค่า แต่หากไม่มีคำตอบวันนี้ ต้องไปรอวันที่ 19 กรกฎาคม ไม่มีความชัดเจนใด ๆ แล้วแนวทางเพิ่มทุนล้มเหลว ต้องไปสู่แนวทางต่อไปคือยื่นล้มละลาย หากผู้ถือหุ้นรายย่อยถือไว้ก็เสี่ยงกลายเป็นศูนย์”

แต่หากคณะผู้บริหารจะประกาศชัดเจนเลยในวันนี้ว่าจะเลือกทางล้มละลาย ทางผู้ถือหุ้นรายย่อยก็จะได้ตัดใจขายทิ้งไป แม้จะแทบไม่มีมูลค่าแล้ว และค่อยเดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชดเชยกันต่อไป

Advertisment

“ผมจึงขอเสนอให้ผู้บริหาร STARK ประกาศให้ชัดเจนในวันนี้ หรือไม่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็สมควรต้องยืดหยุ่นเวลากำหนดการซื้อขายก่อนจะแขวนป้าย SP ยาวออกไป อย่างน้อยถึงวันที่ 19 กรกฎาคม หรือทราบแนวทางเลือกที่ชัดเจนของผู้บริหาร STARK เนื่องจากในเวลานี้มีข้อมูลไม่เพียงพอ มีผลกระทบต่อการได้เสียมหาศาล กล่าวคือ หากแนวทางเพิ่มทุนสำเร็จก็อาจมีโอกาสที่หุ้นจะกลับมามีมูลค่าหลายหมื่นล้าน แต่หากล้มเหลว และเลือกหนทางล้มละลายก็อาจเสี่ยงกลายเป็นศูนย์” ดร.ณัฐวุฒิกล่าว

อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีข่าวลือว่า ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องอาจจะพิจารณาแนวทางเลือกที่ 1, 2 และ 4 เป็นหลัก กล่าวคือ เจรจาแฮร์คัตลดยอดหนี้ให้เหลือต่ำที่สุด อาจชำระเพียงไม่เกิน 500 ล้านบาท จากนั้นอาจจะแยกส่วนโรงงาน หรือธุรกิจที่มีคุณภาพดี เช่น โรงงานผลิตสายไฟฟ้าเฟลส์ดอดจ์ ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ขายออกไปในราคาเพียง 500 ล้านบาท แล้วก็มาตั้งนอมินีมารับซื้อไว้เองในราคาต่ำมาก หรือเหมือนกับได้ฟรี โดยอ้างว่าขายเพื่อเร่งชำระหนี้ จากนั้นก็ยื่น STARK ที่เหลือแต่โครงเข้าโหมดล้มละลาย ความเสียหายนับแสนล้าน ตกเป็นของผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน