เงินฝากแบงก์ฮวบ 1.6 แสนล้าน คนโยกซื้อ “หุ้นกู้-กองทุน“ รับยีลด์สูง

เงินฝากแบงก์ฮวบ

แบงก์เงินฝากครึ่งปีฮวบ 1.6 แสนล้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้คนวิ่งหาผลตอบแทนที่ดีกว่า โยกเงินลงทุนหุ้นกู้-ซื้อกองทุนรวม แม้จะมีหุ้นกู้มีปัญหา แต่แค่ส่วนเดียว ระบุภาพรวมธุรกิจยังแห่ออกหุ้นกู้กันมาก ขณะที่ “ทีทีบี” มองครึ่งปีหลังเงินฝากกลับมาโต ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว-ดอกเบี้ยใกล้แตะจุดสูงสุด โดยเฉพาะเงินฝากระยะกลาง-ยาว ฟาก “ซีไอเอ็มบี ไทย” จ่อขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก “สปีดดีพลัส-ชิลดี” ล่อใจลูกค้าฝากเงินในเดือน ก.ย.นี้

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือน มิ.ย. 2566 พบว่าภาพรวมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ 17 แห่ง มีการปรับลดลง 1% จากสิ้นปียอดเงินฝากคงค้างอยู่ที่ 15.86 ล้านล้านบาท ลงมาอยู่ที่ 15.69 ล้านล้านบาท หรือลดลงราว 1.64 แสนล้านบาท แต่หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินฝากขยายตัวเล็กน้อย 0.9%

ทั้งนี้ หากดูตามกลุ่มลูกค้าเงินฝาก จะพบว่าเงินฝากธุรกิจมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 0.1% มาอยู่ที่ 4.19 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดเงินฝากคงค้าง (ณ มิ.ย. 2565) อยู่ที่ 4.18 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินฝากบุคคลธรรมดาอยู่ที่ 8.85 ล้านล้านบาท ปรับลดลง 0.3%

สำหรับแนวโน้มเงินฝากที่ปรับลดลงส่วนหนึ่ง มาจากธนาคารพาณิชย์บริหารสภาพคล่องให้สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ขยายตัวแค่ 0.5% ประกอบกับปัจจุบันมีทางเลือกในการออมและการลงทุนหลายผลิตภัณฑ์ เช่น ตลาดหุ้นกู้ที่หลายบริษัทหันไประดมทุนกันมากขึ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนผู้ลงทุนสูงกว่าเงินฝาก และกองทุนรวม (term fund) ที่มีระยะเวลาการลงทุนชัดเจน ความเสี่ยงไม่สูง และได้ผลตอบแทนสูงในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

“ทั้งหมดนี้สะท้อนจากภาพเงินฝากที่ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยจะเห็นว่าเงินฝากมีคู่แข่งตลาดการออมและการลงทุนพอสมควร ทั้งหุ้นกู้ และ term fund แม้ว่าจะมีกระแสหุ้นกู้ที่มีปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็แค่ส่วนหนึ่ง ในภาพรวมตลาดยังมีหุ้นกู้อีกมาก และภาคธุรกิจยังคงใช้ตลาดหุ้นกู้ในการระดมทุนอยู่

Advertisment

แต่ยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นก็ทำให้นักลงทุนมีการตัดสินใจและดูอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น โดยหุ้นกู้ rating ดี ๆ ยังคงขายได้ และหุ้นกู้บางส่วนก็ขายในกลุ่มจำกัด เช่น กลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้ลิงก์กับเงินฝากอยู่แล้ว”

ตาราง ยอดเงินฝากคงค้าง

ขณะที่นางสาวกนกวรรณ เพชรพิสิฐโชติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์ธุรกรรมธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า สถานการณ์เงินฝากในครึ่งหลังของปี 2566 มีโอกาสเติบโตได้จากสภาวะเศษฐกิจที่อาจฟื้นตัว และภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

ซึ่งใกล้จะถึงจุดสูงสุดแล้ว ทำให้ลูกค้ากลุ่มที่มีเป้าหมายออมเงินบางส่วน ชะลอ หรือเปลี่ยนการลงทุนในกลุ่มผลิตภัณฑ์กองทุนที่ภาวะตลาดอาจจะยังไม่เอื้ออำนวย และมาเลือกออมในเงินฝากระยะกลาง-ยาวแทน

Advertisment

“อย่างไรก็ตาม การออมในรูปแบบอื่น เช่น หุ้นกู้ จากภาคธุรกิจที่มีปริมาณเสนอขายมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 ยังคงได้รับความสนใจจากลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งจะทำให้ได้ส่วนแบ่งเงินออมไปเช่นกัน”

ฟากนายติยะชัย ชอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์การออม ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับการขยายฐานเงินฝากและการบริหารความมั่งคั่ง โดยเน้นให้ลูกค้าทุกคนเข้าถึงได้ โดยมีการออกโปรแกรมเงินฝากประจำตามความต้องการของลูกค้าที่ต้องการล็อกผลตอบแทน

ขณะเดียวกัน ธนาคารให้ความสำคัญกับทั้งบัญชีเงินฝากดิจิทัลและที่ไม่ใช่ดิจิทัล เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม เช่น บัญชีเงินฝาก speed D+ กำลังจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็น 1.88% สำหรับเงินฝากวงเงิน 100,000 ถึง 500,000 บาท มีผลในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ชิลดี ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากดิจิทัล กำลังจะปรับดอกเบี้ยขึ้นเป็น 2.88% สำหรับวงเงินฝาก 50,000 ถึง 100,000 บาท เช่นกัน

“เงินฝากเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของธุรกิจธนาคาร และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการบริหารจัดการความมั่งคั่งของลูกค้าเรา” นายติยะชัยกล่าว