วิกฤตขนาดย่อม “ตลาดหุ้นไทย“ หมดแรงซื้อ-ผลตอบแทนติดลบ 17%

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร-เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม-ดร.ภากร ปีตธวัชชัย
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร-เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม-ดร.ภากร ปีตธวัชชัย

ปี 2566 เรียกได้ว่าเป็น “วิบากกรรมตลาดหุ้นไทย” เพราะนับจากต้นปีถึงเช้าวันอังคาร (31 ตุลาคม) SET Index เปิดตลาดอยู่ที่ 1,385 จุด โดยดัชนีลดลงกว่า 293 จุด จากต้นปีดัชนีอยู่ที่ 1,678.97 จุด ขณะที่ผลตอบแทนก็ติดลบกว่า 17% โดยเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดในภูมิภาค และอาจจะต่ำสุดในโลก

แย่สุดในรอบ 3 ปีนับจากที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 โดยดัชนีปีนี้ทำจุดต่ำสุดอยู่ที่บริเวณ 1,371.22 จุด ปิดราคาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปแล้วกว่า 1.7 แสนล้านบาท

มาจากแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายในและต่างประเทศ ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปีก็เจอวิกฤตแบงก์ล้มในสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยกลางปีเผชิญมหากาพย์การโกงหมื่นล้านของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่สั่นสะเทือนวงการ ฉุดความเชื่อมั่นตลาดทุนไทยอย่างหนัก

ขณะที่การเลือกตั้งของไทยตั้งแต่เดือน พ.ค. แต่การจัดตั้งรัฐบาลก็ยืดเยื้อล่าช้านานกว่า 3 เดือน ทั้งเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วจนทำให้ขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน

รวมถึงนโยบายสำคัญที่รัฐบาลประกาศ อย่างการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ก็มีความไม่ชัดเจน และกลายเป็นประเด็นที่สร้างความไม่เชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทยเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาว่าจะใช้แหล่งเงินจากไหน

Advertisment

ขณะที่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยก็อยู่ในโหมดโตต่ำ ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยโลกพุ่งสูง

และล่าสุดผลกระทบสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนหนักในทิศทางขาลง และดูแนวโน้มการสู้รบจะยังคงมีความยืดเยื้อ

สภาพคล่องในตลาดเหือดแห้ง

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเซีย พลัส กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ไม่ใช่ปีแรกที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทย ถ้ามองไปแล้วถูกขายมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2013 ฟันด์โฟลว์ไหลออกสุทธิไปแล้ว 9.3 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นเม็ดเงินที่มโหฬาร

แต่ปีนี้ก็สูง ขายไปแล้ว 1.7 แสนล้านบาท และถามว่าจุดนี้ถึงจุดกลับไหม ถ้ามองมูลค่าหุ้น (valuation) ของตลาดถือว่าต่ำมาก และถ้ามององค์ประกอบในเชิงของเศรษฐกิจ ก็ถือว่าอยู่ในช่วงการฟื้นตัว

Advertisment

ตอนนี้ปริมาณเงินในระบบลดลงมาก กลุ่มผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไทย เดิมเคยมีกลไกกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือกองทุนประหยัดภาษี แต่พอไม่มี ก็ทำให้วอลุ่มมูลค่าซื้อขายต่ำลง ซึ่งอาจดูเหมือนมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทยใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่ามีหุ้นใหม่เพิ่มเข้ามา แต่น้ำหนักของแรงที่จะซื้อมีไม่มาก

“ประเด็นคือ เราจะทำให้ตลาดหุ้นไทยสตรองก่อน เพื่อให้โฟลว์ไหลเข้า หรือให้โฟลว์ไหลเข้ามาแล้วค่อยสตรอง ซึ่งผมมองว่าอุปสรรคประการหนึ่งในการที่โฟลว์ยังไม่ได้ไหลกลับเข้ามาในช่วงเวลาแบบนี้ เพียงแต่เชื่อว่าจากนี้ไปโฟลว์ที่ไหลออก จะเป็นในอัตราที่ช้าลง” นายเทิดศักดิ์กล่าว

ลุ้นปีหน้าตลาดหุ้นพ้นเคราะห์กรรม

นายเทิดศักดิ์กล่าวว่า ถ้ามองปีหน้าคาดว่าภาพกำไร บจ.น่าจะเห็นการเติบโต โดยปีนี้ EPS (อัตรากำไรต่อหุ้น) อยู่ที่ 88.6 บาท และปีหน้าคาดอยู่ที่ 99.8 บาท ซึ่งจะเติบโตตามภาพเศรษฐกิจที่จะขยายตัวตามมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ค่าแรงขั้นต่ำ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดเส้นทาง ที่จะเป็นตัวช่วยทำให้ภาพตลาดมีความน่าสนใจ

เพียงแต่ต้องไม่ถูกรบกวนจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้นภาพตลาดหุ้นปีหน้าน่าจะอยู่ในโซนที่ดูดีกว่าปีนี้คือ อาจจะพ้นจากเคราะห์กรรมทั้งหลาย หรือว่าสิ่งที่เราเจอมาตลอดปีที่ผ่านมา ให้เป้าดัชนีสิ้นปีนี้ประมาณ 1,524 จุด ส่วนปีหน้า 1,700 จุด

หุ้นไทย Underperform หุ้นโลก

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้เป็นปีที่ตลาดหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนไม่ดี แต่หุ้นไทยก็ยัง underperform หุ้นโลก สาเหตุหลักมองว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าที่คาด

จากเมื่อช่วงต้นปีมองว่าจีดีพีปีนี้จะโต 3% กลาง ๆ ถึง 3% ปลาย ๆ แต่ตอนนี้คาดการณ์เหลือโต 2.8% ซึ่งก็มีส่วนจากการเกิดสุญญากาศทางการเมืองไปนานกว่า 3 เดือน ทำให้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าช้าออกไป

รวมถึงกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จากเดิมช่วงต้นปีมองกำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่บริเวณ 95-100 บาท/หุ้น ก็โดนหั่นลดลงมาเหลือ 88 บาท/หุ้น ซึ่งเป็นสองปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมา

“ปีนี้ตลาดหุ้นไทยติดลบกว่า 17% ส่วนหนึ่งเพราะหุ้นไทยต้นปีเริ่มจากฐานสูงคือ ไฮต้นปีและโลว์ปลายปี ทำให้ดูติดลบมาก ประกอบกับหุ้น บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) เป็นหุ้นใหญ่ที่ประคองดัชนีเมื่อปีที่แล้ว พอมาปีนี้ราคาหุ้นลงจึงเป็นอีกแรงซ้ำเติมดัชนี

แต่ถ้าเทียบปิดสิ้นปี ดัชนีที่ติดลบหนัก ๆ คือ ปี 2015 หุ้นไทยติดลบ 14% ถ้ามากกว่านั้นต้องย้อนไปในปี 2008 ที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ซับไพรม) หุ้นไทยติดลบไป 48% ส่วนปี 2020 วิกฤตโควิด หุ้นไทยติดลบราว 8% แต่จะลงแรงในช่วงระหว่างปี” นายวีระวัฒน์กล่าว

จุดกลับ SET จีดีพีต้องโตปีละ 4%

นายวีระวัฒน์กล่าวต่อว่า จุดกลับของดัชนีหุ้นไทย มองว่าต้องเห็นจีดีพีของไทยเติบโตปีละ 4% บวก ๆ คือ ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ปีนี้จีดีพีโตแค่ 2% ปลาย ๆ ซึ่งต่ำเกินไป ดังนั้นปี 2567 ก็ต้องโตได้แรงกว่า 4% เพราะเมื่อปีนี้ฐานต่ำ ปีหน้าต้องโตแรงกว่าปกติ เพราะฉะนั้นหากจีดีพีเป็นไปตามคาดหวัง เชื่อว่ากำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ก็ควรจะต้องฟื้นล้อไปกับจีดีพี และจะทำให้ภาพตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นได้

“ผมคิดว่าหลัก ๆ คือ เรื่องของการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่ไม่ดีลิเวอร์ ทำให้ทุกไตรมาสที่ผ่านมา จะเห็นว่าจะต้องมีการปรับลด พอประกาศกำไรออกมา ก็มีการหั่นกำไรลงมาตลอด

โดยประมาณการ EPS ปีนี้ 88 บาท/หุ้น และปีหน้า 100 บาท/หุ้น แต่ช่วงเดือนที่ผ่านมามีการพรีวิวงบฯไตรมาส 3/2566 ก็เริ่มเห็นการปรับลงมาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอาจจะเห็นดาวน์ไซด์จากตัวเลขดังกล่าว”

ดร.นิเวศน์ชี้ “วิกฤตขนาดย่อม”

ขณะที่ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนรายใหญ่สายเน้นคุณค่า (value investor) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยผลตอบแทนติดลบ 17-18% ถือเป็นช่วงวิกฤตขนาดย่อม (minicrisis) ไปแล้ว ซึ่งวิกฤตใหญ่ของตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมาทุกครั้ง ตลาดหุ้นจะลงมาประมาณเกือบ 50%

และหลายสิบปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยไม่เคยติดลบใกล้ ๆ ระดับ 20% ส่วนใหญ่ถ้าเป็นการปรับฐานลงมาไม่เกิน 10% อาจมีบางปีติดลบ 14% แต่ปีนี้ยังไม่ครบปีติดลบไป 17-18% ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะพัฒนากลายเป็นวิกฤตขนาดใหญ่หรือไม่

“ปีนี้ต้องถือว่าหนัก และเหมือนเรารู้ปัญหา แต่หาทางออกไม่เจอ แต่ก็ยังหวังว่าปัจจัยต่างประเทศจะมีแนวโน้มดีขึ้นเร็ว ๆ ซึ่งก็อาจจะช่วยได้”

ตลาดหุ้นที่แย่สุดในโลก

ดร.นิเวศน์ระบุว่า ปีนี้วิบากกรรมตัวใหญ่สุดของตลาดหุ้นไทยคือ เรื่อง “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ประกอบกับเศรษฐกิจไทยไม่ดีตามคาด การท่องเที่ยวที่เป็นความหวังก็ไม่มา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นตลาดใหญ่มาน้อยเกินไป รวมถึงการส่งออกไม่ดีด้วยตามเศรษฐกิจโลกชะลอ

ต้องบอกว่าหุ้นไทยตกแรงเพราะโดนผลกระทบสองเด้ง จากที่ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างภายใน ที่เศรษฐกิจเติบโตช้าลงอย่างถาวร คนแก่ตัวลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และผสมโรงจากปัจจัยต่างประเทศไม่ดีอีก ทำให้เป็น “ตลาดหุ้นที่ผลตอบแทนแย่สุดในโลก”

แน่นอนว่าเหตุการณ์เรื่องดอกเบี้ยเป็นภาวะชั่วคราว ซึ่งเป็นเหมือนกันทั้งโลก แต่ที่ประเทศไทยต้องแก้คือ ปัญหาการเติบโตช้าของเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยต้องเร่งเพิ่ม productivity หรือเพิ่มประสิทธิภาพของคน เปลี่ยนวิธีการทำงาน ปรับโครงสร้างใหญ่ มุ่งเป้าอุตสาหกรรมที่เป็น new economy

เช่น ศูนย์กลางรถอีวี, สุขภาพ, เทคโนโลยี และเป็นอุตสาหกรรมที่แม้คนแก่ก็ยังทำได้ดี ถ้าทำได้เร็ว ๆ เช่น ปฏิวัติระบบการเกษตรคือ ใช้เวลาแค่ 2-3 ปี ที่จะต้องยกเครื่อง โดยอัดเงินทุ่มเข้าไป แต่ตอนนี้คิดแค่กระตุ้นด้วยการแจกเงิน ซึ่งแน่นอนเห็นผลเร็วแต่ไม่ยั่งยืน

ดร.นิเวศน์กล่าวอีกว่า ขณะที่อีกด้านก็อย่าไปสร้างอุปสรรคหรือเพิ่มภาระให้กับนักลงทุน ส่วนอะไรที่เป็นอุปสรรคอยู่แล้วก็พยายามลดให้น้อยลง และต้องสร้างความโปร่งใสด้วย เรื่องพวกนี้ก็จะช่วยได้ แต่สุดท้ายถ้าอยากจะให้ตลาดหุ้นเติบโตไปได้อย่างถาวร

ต้องใช้มาตรการภาษีกระตุ้นให้คนมาออมเงินในตลาดหุ้น โดยให้สิทธิประโยชน์อย่าง LTF อะไรทำนองนี้ ซึ่งก็ยังไม่เกิด แต่ตอนนี้ก็กลับจะเก็บภาษีเพิ่มสำหรับคนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจริง ๆ ควรจะต้องทำให้นักลงทุนที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย และไปลงทุนต่างประเทศนั้น อยากจะลงทุนให้มาก แต่ตอนนี้ดันมีความเสี่ยงเรื่อง regulatory risk

ตลท.เตือนตลาดผันผวนอีกระยะ

ด้าน ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยืนยันว่า การปรับลงของดัชนี SET Index เป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นในภูมิภาค แต่อาจจะปรับตัวลงแรงกว่า ด้วยเหตุผลความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยภายในประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจนอยู่หลายปัจจัย

ในช่วงนี้จะมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อย เพราะฉะนั้นต้องติดตามข้อมูลผลกระทบอย่างใกล้ชิด เพราะตลาดหุ้นคงจะมีความผันผวนไปอีกสักระยะหนึ่ง โดยอุตสาหกรรมหลัก ๆ ที่ถูกกระทบมากคือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค พลังงานและสาธารณูปโภค ซึ่งมีน้ำหนักในดัชนี SET Index ค่อนข้างมาก

ดร.ภากรยอมรับว่า ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิหุ้นไทยออกไปแล้วกว่า 1.7 แสนล้านบาท จากที่เข้ามาซื้อเมื่อปี 2565 มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกนั้นส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินระยะสั้น และปริมาณการถือหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

โดยเมื่อเดือน พ.ย. 2565 ต่างชาติถือครองหุ้นไทยทั้งตลาดอยู่ที่ 29% และในเดือน ต.ค. 2566 มีสัดส่วนเท่าเดิม 29.13% แต่ผลจากที่ SET Index ปรับตัวลง ทำให้มูลค่าหุ้นที่ต่างชาติถือครองอยู่จาก 5.75 ล้านล้านบาท ลดลงเหลือ 5.02 ล้านล้านบาท (ลดลงไปราว 7.3 แสนล้านบาท)