บาทแข็งค่าต่อเนื่อง กนง.มติเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%

กนง. เงินบาท แบงก์ชาติ

เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง หลังกนง.มติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี ชี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้ภาคการส่งออก และการผลิตที่เกี่ยวข้องจะชะลอลง โดยคาดว่าในปี 2567 และ 2568 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลขึ้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/11) ที่ระดับ 34.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากกระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/11) ที่ระดับ 34.91/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

หลังนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า เขามีความเชื่อมั่นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในขณะนี้อยู่ในระดับที่เข้มงวดมากเพียงพอที่จะหยุดเงินเฟ้อแล้ว พร้อมส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่ว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หากเงินเฟ้อปรับตัวลงเข้าใกล้เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

ขณะที่นายออสแทน กูลส์บี ประธานเฟด สาขาชิคาโก กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐกำลังปรับตัวลงในอัตราที่รวดเร็ว พร้อมกับกล่าวว่าเขารู้สึกกังวลหากเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเกินไป

ถึงแม้ว่าคืนวานนี้ (28/11) ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 102.0 ในเดือน พ.ย. จากระดับ 99.1 ในเดือนตุลาคม และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 101.0 โดยดัชนีความเชื่อมั่นยังคงได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นอกจากนี้ ผู้บริโภคลดความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่เพิ่มความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สถานะการเงินส่วนบุคคลและการจ้างงาน และในสัปดาห์นี้ตลาดจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันพฤหัสบดี

ซึ่งดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ และนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.4% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนตุลาคม จากระดับ 0.4% ในเดือนกันยายน

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.7% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนตุลาคม จากระดับ 0.3% ในเดือนกันยายน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ช่วงบ่ายวันนี้ (29/11) นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการเปิดเผย ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี

นอกจากนั้น ทาง กนง.ยังประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้ภาคการส่งออก และการผลิตที่เกี่ยวข้องจะชะลอลง โดยคาดว่าในปี 2567 และ 2568 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของภาคการส่งออก

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.58-35.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.84/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/11) ที่ระดับ 1.1009/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/11) ที่ระดับ 1.0951/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังนายโยอาคิม เนเกิล ประธานธนาคารบุนเดสแบงก์เปิดเผยเมื่อวานนี้ (28/11) ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหากแนวโน้มเงินเฟ้อแย่ลง และ ECB ไม่ควรรีบผ่อนคลายนโยบายเร็วเกินไป หลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวเมื่อวันจันทร์ (28/11) ว่า การต่อสู้ของ ECB เพื่อควบคุมการขยายตัวของเงินเฟ้อนั้นยังไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0976-1.1017 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0984/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/11) ที่ระดับ 146.81/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/11) ที่ 148.54/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์ ขานรับการคาดการณ์ที่ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐกับญี่ปุ่นจะหดแคบลง ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.65-147.60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.60/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 (29/11), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (29/11), ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหภาพยุโรป (30/11) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐเดือนตุลาคม (30/11), ดัชนีภาคการผลิตเดือนพฤศจิกายนจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.35/-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.20-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ