คลังมั่นใจทำงบขาดดุลเพิ่ม 1.5 แสน ไม่กระทบเครดิตเรตติ้งประเทศ

กฤษฎา จีนะวิจารณะ
กฤษฎา จีนะวิจารณะ

รมช.คลัง-ปลัดคลัง มั่นใจทำงบขาดดุลปี 2568 เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท ไม่กระทบเครดิตเรตติ้งประเทศ มั่นใจฐานะการคลังแข็งแกร่ง ยันหนี้สาธารณะพุ่งไป 66% ต่อจีดีพียังไม่หลุดกรอบ

วันที่ 5 เมษายน 2567 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับปรุงกรอบการคลังระยะปานกลาง (2567-2571) โดยให้ขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้นอีก 1.527 แสนล้านบาท จากเดิมที่มีการขาดดุล 7.13 แสนล้านบาท รวมเป็นการขาดดุลงบประมาณ ที่ 8.65 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มีปัญหา

เนื่องจากปัจจุบันฐานะการคลังของประเทศอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เงินคงคลังอยู่ในระดับสูงที่ 5-6 แสนล้านบาท ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

“ขาดดุลเพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท ไม่มีปัญหา วันนี้เรื่องฐานะประเทศเข้มแข็งมาก ไม่น่าเป็นห่วง ส่วนหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2568 ที่ประเมินว่าจะปรับขึ้นไปที่ระดับ 66.93% ต่อจีดีพีนั้น ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี และเมื่อมีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะก็จะมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง” รมช.คลัง กล่าว

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า ขณะนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้นโยบายชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการปรับลดรายจ่ายประจำ ตรงไหนที่ไม่จำเป็น เช่น เดิมรัฐบาลมีรายจ่ายที่จะต้องจ่ายสมทบให้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ปีละราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเต็มกรอบเพดานแล้ว ตรงนี้ก็เป็นรายจ่ายที่รัฐบาลไม่ต้องจ่ายแล้ว ส่วนนี้ก็ลดไป

Advertisment

ขณะเดียวกันที่ต้องทำควบคู่ คือ การปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ เรื่องนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังพิจารณาอยู่ แต่การจะปรับเพิ่มภาษีตัวใด ก็ต้องดูภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยหลาย ๆ เรื่องประกอบ และต้องขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะสม เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทุกรัฐบาลมีความตั้งใจ แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ ดำเนินการ ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและระยะเวลา

ทั้งนี้ หากดูตามประมาณการในเอกสารงบประมาณก็ยังพบว่าแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ หากต้องมีการเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น ก็เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถดำเนินการได้ ส่วนเรื่องการอุดหนุนราคาน้ำมันนั้น ตอนนี้อยากขอให้ทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลไปก่อน เพราะว่าตอนนี้ต้องมาให้ความสำคัญเรื่องของรายได้ อยากให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามเอกสารงบประมาณ

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเพิ่มการขาดดุลอีก 1.5 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2568 เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับการประเมินเครดิตเรตติ้งของประเทศไทย โดยมองว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือคงจะดูว่าเราเอาเงินที่ได้จากการขาดดุลเพิ่มไปใช้ทำอะไร เกิดประโยชน์อย่างไร และคงดูเรื่องแผนการใช้คืนจากรัฐบาลว่ามีความชัดเจนหรือไม่ หากรัฐบาลมีคำตอบที่ดีกับเรื่องนี้ ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน