นักลงทุนชะลอการซื้อขาย จับตาดูผลการประชุมธนาคารกลางสำคัญในสัปดาห์นี้

AFP PHOTO/ Rodrigo ARANGUA

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 31 กรกฎาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/7) ที่ระดับ 33.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (26/7) ที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่จะทราบผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และธนาคารกลางอังกฤษ (ฺฺBOE) สำหรับการประชุม Fed ในรอบเดือนกรกฎาคม (31/7-1/8) นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า Fed จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ (1.75-2.00% แต่อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ในการประชุมเดือนกันยายนและธันวาคม ขณะเดียวกันตลาดจับตาดูตัวเลขภาคแรงงานสหรัฐในวันศุกร์ (3/8) เพื่อดูทิศททางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ มีการเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% ในเดือนมิถุนายน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2018 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี ขณะเดียวกันประเด็นการกีดกันทางการค้าได้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 97.9 ในเดือนกรกฎาคม  จากระดับ 98.2 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ในขณะที่จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9,000 ราย สู่ระดับ 217,000 ราย ในรอบปลายเดือนกรกฎาคม ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่  215,000 ราย ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.23-33.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.26/28 บาท/ดอลลาร์

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/7) ที่ระดับ 1.1704/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (26/7) ที่ระดับ  1.1712/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อน (26/7) ตามคาด โดยคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ที่ระดับ -0.40% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% พร้อมกับย้ำว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอย่างน้อยจนถึงฤดูร้อนปีหน้า ทางด้านนายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ได้แถลงข่าวภายหลังการประชุมนโยบายการเงินว่า ยูโรโซนยังคงจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นด้านนโยบายการเงิน เนื่องจากมาตรการกระตุ้นจะช่วยสนับสนุนเงินเฟ้อและสร้างแรงกดดันของราคาภายในประเทศ แม้ว่า ECB จะประกาศลดปริมาณมาตรการผ่อนคลายในการประชุมเมื่อเดือนที่แล้ว นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซนทรงตัวอยู่ที่ -0.6 ในเดือนกรกฎาคม ตามที่ตลาดคาดการณ์ ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีปรับลดลงสู่ระดับ 2.0% จากระดับ 2.1% ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นในช่วงบ่ายหลังจากที่มีการเปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน และตัวเลขยอดค้าปลีกของเยอรมนี ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม และออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1700-1.1731 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1723/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/7) ที่ระดับ 111.04/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (26/7) ที่ 110.81/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องภายหลังจากที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (ฺBOJ) ได้มีมติคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรประเภทอายุ 10 ปี ที่ระดับ 0% และคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับ -0.1% แต่จะลดจำนวนกองทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยติดลบลงจากระดับปัจจุบันที่ 10 ล้านล้านเยน หรือ 9 หมื่นล้านดอลลาร์โดยเฉลี่ย ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.79-111.58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.51/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมิถุนายน (31/7), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. (31.7), การประชุมเฟด (31/7-1/8), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน ก.ค. (1/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต (1/8), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (2/8), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน มิ.ย. (2/8), ดุลการค้าเดือน มิ.ย. (3/8), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค. (3/8), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค. (3/8)

Advertisment

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.40/2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.0/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ