โควิดฉุดธุรกรรม “เทรดไฟแนนซ์-ปริวรรตเงินตรา” ร่วง

นริศ สถาผลเดชา

แบงก์อ่วมธุรกรรม “เทรดไฟแนนซ์-ปริวรรตเงินตรา” ร่วงหนักตามปริมาณการค้าที่มีแนวโน้มหดตัวในปีนี้จากผลกระทบ “โควิด-สงครามการค้า” ฟาก “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี” ประเมินปี 2563 ส่งออกไทยหดตัว -8% นำเข้าวูบหนัก -15%

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยว่า แนวโน้มปริมาณการค้าระหว่างประเทศ ในปี 2563 นี้ คาดว่าจะติดลบจากผลกระทบ 2 เด้ง ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่เริ่มกลับมามีประเด็นอีกครั้ง ซึ่งมีผลกระทบทำให้ซัพพลายเชนหยุดชะงัก โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับผลกระทบหนัก ทั้งนี้ TMB Analytics ประเมินว่า การส่งออกทั้งปี 2563 จะหดตัว -8% ขณะที่การนำเข้าจะเห็นการหดตัว -15%

“ตัวเลขส่งออกเดือน เม.ย.ที่ออกมายังโชว์ผลกระทบโควิดไม่หมดโดยเดือน พ.ค.น่าจะเห็นผลกระทบหนักสุด ซึ่งจะทำให้ไตรมาส 2 น่าจะเห็นการหดตัวของการส่งออกมากกว่า -8% เนื่องจากธุรกรรมการค้าแทบจะหยุดเกือบทั้งหมด และในไตรมาส 3 จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวแต่ยังกลับมาไม่เต็มที่เพราะค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าก็เป็นปัจจัยที่กดดันการฟื้นตัวได้” นายนริศกล่าว

นายไพศาล ธรรมโพธิทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกรรมการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ปีนี้ประเมินว่าการเติบโตของยอดสินเชื่อเพื่อการนำเข้าและส่งออก (trade finance) ในภาพรวมจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 โดยธนาคารตั้งเป้าธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์อยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อส่วนนี้ไปแล้ว 1.08 หมื่นล้านบาท ถือว่าเติบโตอยู่ในระดับที่น่าพอใจท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออก

“ทั้งปีเราคาดว่าสินเชื่อน่าจะขยายได้แต่คงไม่เท่าปีก่อน ช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ช่วยเหลือสนับสนุนลูกค้าในภาวะที่ยากลำบาก ทำให้แนวโน้มยอดสินเชื่อเพื่อการนำเข้าส่งออกของธนาคารในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมามีสัญญาณกลับมาขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยมียอดสินเชื่ออยู่ที่ราว1.18 หมื่นล้านบาท แต่ภาพรวมธุรกรรมทั้งปีน่าจะลดลงตามปริมาณการค้าและภาวะเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเราพร้อมสนับสนุนลูกค้าให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้” นายไพศาลกล่าว

Advertisment

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอล มาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แนวโน้มธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์ปรับลดลงส่งผลให้ธุรกรรมเกี่ยวเนื่องในด้านอื่น ๆ ชะลอตัวลงสอดคล้องกันไปด้วย เช่น ปริวรรตเงินตราการโอนเงิน การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (FX) รวมถึงธุรกรรมการลงทุนเป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลกระทบทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมปรับลดลง

นางสาวชมภูนุช ปฐมพร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH BANK) กล่าวว่า หลังจากธนาคารพยายามหันมาเติบโตในส่วนธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์มากขึ้น พบว่า มีลูกค้าไต้หวันเข้ามาใช้บริการกับธนาคารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเดิมจะมีแต่ลูกค้าคนไทย อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และสงครามการค้าทำให้ยอดการทำธุรกรรมทั้งสินเชื่อเทรดไฟแนนซ์ หนังสือค้ำประกันนำเข้า-ส่งออก (L/C) สินเชื่อเพื่อการนำเข้า (T/R) ปรับลดลงจากปีก่อนที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจตลาดเงินและบริการธุรกรรมทางการเงิน ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า ตอนนี้ภาพรวมธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่าย (underwriting) ในธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบทั้งหมด เช่น สินเชื่อเทรดไฟแนนซ์ ธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน (FX) เป็นต้น ซึ่งคาดว่าปีนี้จะติดลบ อย่างไรก็ดี พบว่าธุรกรรมเหล่านี้ในบางสินค้ายังมีอัตราการเติบโต เช่น กลุ่มอาหาร-สินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพาราที่มีการเติบโต 30% เป็นต้น