ไขปม แบงก์ไทยแห่ออก “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” ระดมเงินในต่างประเทศ

แบงก์ไทย.

ช่วงนี้ จะเห็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย หันไประดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ในต่างประเทศกันหลายราย ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงกรณีการออกและเสนอขายตราสารด้อยสิทธิให้แก่ผู้ลงทุนในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ซึ่งตราสารดัสงกล่าว สามารถ “นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1” ได้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดยมีข้อกำหนดให้ตราสาร “สามารถรองรับผลขาดทุนของธนาคารได้” ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า “U.S.$5500,000,000 Additional Tier 1 Subordinated Notes” ออกโดยธนาคารกสิกรไทย สาขาฮ่องกง วงเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เครดิตเรตติ้งอยู่ที่ Baa1 จัดเครดิตเรตติ้งโดย Moody’s อ

ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวไม่มีกำหนดอายุ (Perpetual หรือชั่วนิรันดร์) กำหนดอัตราดอกเบี้ย 5.275% ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุก 6 เตือน และมีการ Reset อัตราดอกเบี้ยทุกๆ 5 ปื ซึ่งธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารได้ครั้งแรกในวันที่ 14 ต.ค. 2568 และครั้งต่อๆไป ทุกวันที่เป็นวันชำระผลตอบแทนของตราสารภายหลังจากนั้น โดยการไถ่ถอนต้องได้ความเห็นชอบจาก ธปท. ก่อน

“กสิกรฯ” แจง 3 เหตุผลออกหุ้นกู้เสริมทุน

โดย “จงรัก รัตนเพียร” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า วัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ดังกล่าว มีอยู่ 2-3 ข้อ คือ

1.เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งธนาคารมองว่าในระยะข้างหน้าจะมีการขยายขอบเขตการลงทุนหรือขยายธุรกิจ จึงต้องการให้มีเงินทุนที่เพียงพอ

Advertisment

2.รองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะคาดเดาได้ยาก ธนาคารจึงต้องการให้มีเงินกองทุน โดยเฉพาะเงินกองทุนขั้นที่ 1 ให้อยู่ในระดับสูงไว้ ซึ่งตอนนี้ก็ถือว่าอยู่ในระดับสูง

และ 3.การปรับโครงสร้างเงินกองทุนขั้นที่ 1 โดยธนาคารต้องการปรับให้ Tier 1 มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่าการออกหุ้นเพิ่มทุน และไม่มีผลต่อผู้ถือหุ้น ประกอบกับการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ในต่างประเทศจะค่อนข้างได้รับความสนใจ ธนาคารจึงหันมาออกหุ้นกู้ในลักษณะดังกล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังจากการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์วงเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะทำให้เงินกองทุนขั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 16% จากไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 15% และ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ที่ 18%
“การออกหุ้นกู้ในลักษณะนี้ ในต่างประเทศเป็นสิ่งที่ทำตลอดเวลา และเป็นเรื่องปกติ แต่ของไทยยังไม่ค่อยได้ทำแบบนี้มากนัก

เพราะทุกคนมีเงินกองทุนค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แต่ที่เห็นการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ออกมากันในช่วงนี้ ก็เพื่อรองรับความไม่แน่นอน จึงอยากทำไว้รองรับสถานการณ์ล่วงหน้า และที่ต้องเสนอขายในต่างประเทศ เพราะมีคนสนใจและแพร่หลาย รวมถึงส่วนหนึ่งเราต้องการใช้เงินสกุลดอลลาร์เพื่อมาใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วย” นายจงรักกล่าว

Advertisment

“แบงก์กรุงเทพ” เสริมแกร่งรับมือหนี้เสีย

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพ ก็มีการออกหุ้นกู้ลักษณะเดียวกันในฮ่องกง โดย “เดชา ตุลานันท์” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารได้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ภายใต้ global medium term note program วงเงิน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ย 5% ไม่มีกำหนดชำระคืน แต่ธนาคารมีสิทธิไถ่ถอนและปรับอัตราดอกเบี้ยหลังจาก 5 ปี โดยธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกง เป็นผู้ออกและเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา

ซึ่งหุ้นกู้นี้ออกเพื่อเป็นทุนสำรอง เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเงินกองทุนขั้นที่ 1 เนื่องจากประเมินว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะลากยาวและใช้เวลาอีกราว 2 ปีครึ่ง และรองรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่จะเพิ่มขึ้น

“ถ้าธนาคารมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งจะช่วยรองรับความไม่แน่นอน เป็นการป้องกันไว้ก่อน โดยคาดว่าจะทำให้เงินกองทุน ขั้นที่ 1 อยู่ที่ 17-18% ส่วนการเลือกระดมทุนในต่างประเทศแทนในประเทศไทย เพราะมองว่าตลาดในต่างประเทศมีโอกาส และต้นทุนถูก แม้ว่าหากดูตามสถานะทางการเงินแล้ว เรามีเงินกองทุนขั้นที่ 1-2 เหลือเฟือ ไม่มีความจำเป็นต้องออกก็ได้ แต่เรามีโอกาส และไม่ต้องเพิ่มทุน ซึ่งก็ประกาศขายทีเดียว 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” นายเดชากล่าว

“กรุงไทย” ยังไม่ออกช่วงนี้ แต่เตรียมพร้อมไว้

ขณะที่ “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวโน้มการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ เพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier1) นั้น มองว่า เป็นเกณฑ์ประจำของทุกธนาคารที่จะต้องทำกัน ซึ่งในส่วนของธนาคารกรุงไทยก็ต้องเตรียมความพร้อมตลอดเวลา เพราะสถานการณ์มีความไม่แน่นอน และไม่รู้ว่าโควิด-19 จะจบเมื่อไร และตอนนี้มีมิติซ้อนในเรื่องของเสถียรภาพทางการเมืองเข้ามาอีก

สำหรับแนวทางการเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 จะเห็นว่ามีไม่กี่ทางเลือก ซึ่งในส่วนธนาคารกรุงไทย ก็เตรียมความพร้อมเรื่องออกหุ้นกู้ไว้ ถ้ามีความจำเป็น แต่ในตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็น

“ทุกธนาคารมีความพร้อมที่จะออก และเราก็เป็นหนึ่งในธนาคารก็ต้องมีความพร้อม แต่เราก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะตอนนี้มีความไม่แน่นอนสูงในหลายๆ มิติ เราต้องประเมินต่อเนื่อง และมีหลายมิติที่ต้องพิจารณา ขณะเดียวกัน จะเห็นว่ายังมีมาตรการที่ธปท. ให้ความยืดหยุ่น กับธนาคารพาณิชย์ไปถึงสิ้นปี 2564 ก็เป็นมิติที่เอื้อให้ธนาคารพาณิชย์มีความยืดหยุ่นบ้างในระดับเดียวกัน แต่ก็เป็นหน้าผาแห่งความชันของระบบเอ็นพีแอลด้วย” นายผยงกล่าว

“ทีเอ็มบี” ชี้เป็นแบงก์แรกออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์

ฟาก “ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทีเอ็มบี เป็นธนาคารแรก ๆ ที่ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ สกุลเงินดอลลาร์ที่นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 โดยออกไปวงเงิน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เสนออัตราดอกเบี้ย 4.90% ซึ่งในช่วงที่ออกตอนนั้น เป็นไปตามแผนการจัดหาเงินทุน เพื่อเข้าซื้อหุ้นธนาคารธนชาต และเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านเงินทุนหลังจากควบรวมกิจการ

ส่วนในช่วงนี้ที่หลายธนาคารหันมาออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ขายในต่างประเทศ ก็เพราะต้องการให้มีเงินทุนสำรองไว้ให้เพียงพอ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งจากเดิมมองว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกินเวลาระยะสั้น 3-6 เดือน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ลากยาวและยังไม่รู้จะจบเมื่อไร ทำให้ธนาคารต้องอนุรักษ์นิยมและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนไว้ก่อน แม้ว่าปัจจุบันเงินกองทุนขั้นที่ 1 ในระบบธนาคารพาณิชย์จะอยู่ในระดับสูงเฉลี่ย 14-15% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ ธปท. กำหนด

“แบงก์แต่ละแห่งต้องการอนุรักษ์นิยมไว้ก่อน โดยการทำให้เงินกองทุนของตัวเองเกินขั้นต่ำไว้ก่อน เพราะเราไม่รู้สถานการณ์ในระยะข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ในต่างประเทศถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการทำให้เงินกองทุนแข็งแกร่งขึ้น” นายปิติกล่าว

ชี้ข้อจำกัดออกหุ้นกู้ในประเทศหันระดมทุน​นอก

ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier1) ส่วนใหญ่ไปออกในต่างประเทศ เพื่อขายนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างคุ้นเคย ขณะที่นักลงทุนในประเทศอาจจะไม่คุ้นชินกับหุ้นกู้ลักษณะนี้

อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่ใจเรื่องสภาพคล่อง เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ เพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 ในประเทศมาก่อน และคาดว่าเกณฑ์ของ ธปท. น่าจะเข้มพอสมควรด้วย ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ในประเทศจะเป็นการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันด์เพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 2 (Tier2) เป็นหลัก ซึ่งออกกันไปพอสมควรเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้ยังไม่ค่อยมี

“ความแตกต่างของการออกตราสารเพื่อเพิ่มเงินกองทุน Tier1 และ Tier2 คือ Tier1 จะใกล้เคียงกับความเป็นทุนมากที่สุด เช่น เมื่อเงินกองทุนของแบงก์ลดต่ำลงมากว่าเกณฑ์ สมมติเกณฑ์อยู่ที่ 5% แบงก์สามารถตัดหนี้สูญได้เลย (Wrtie-Off) นั่นแปลว่า นักลงทุนที่ซื้อจะมีความเสี่ยงสูงกว่า ในขณะที่ Tier2 ก่อนที่แบงก์จะตัดหนี้สูญได้ต้องให้แบงก์ชาติเข้าแทรกแซงก่อน ซึ่งสะท้อนว่าตอนนั้นภาพของแบงก์จะอยู่ในภาวะที่แย่จริง ๆ” แหล่งข่าวกล่าว