ส่งท้ายปีเก่า กำไรแบงก์ทรุด ต่ำสุดรอบ 9 ปี-ลุ้นปีฉลูฟื้น

ปี2563 ที่ผ่านพ้นไป ทุกภาคส่วนล้วนเผชิญความยากลำบากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การทำธุรกิจ ไปจนถึงภาคเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

โดยธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นเซ็กเตอร์ที่ต้องเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือลูกหนี้ให้อยู่รอด เพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ อย่างไรก็ดี วิกฤตที่เกิดขึ้นยังไม่ได้จบลงแต่ยังส่งผลกระทบยาวมาถึงในปี 2564 นี้

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ ในปี 2563 น่าจะมีกำไรที่ 1.44 แสนล้านบาท นับเป็นระดับ “ต่ำสุดในรอบ 9 ปี”ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา

ขณะที่เส้นทางการฟื้นตัวในปี 2564 ยังมีความไม่แน่นอนสูง และขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงการระบาดของโควิดรอบใหม่ซึ่งหากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564สามารถประคองการเติบโตไว้ได้ที่ 2.6% ก็คาดว่ากำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2564 มีโอกาสขยับขึ้นประมาณ 3.0-7.0% เมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในปี 2563

Advertisment

โดยมีแรงหนุนจากการชะลอลงของค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเร่งกันสำรองไปมากในปี 2563

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าโจทย์สำคัญสำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 จะยังคงเน้นหนักอยู่ที่การประคองรายได้จากธุรกิจหลักและเร่งจัดการปัญหาคุณภาพหนี้ในพอร์ต

โดยในปีนี้ยังเป็นช่วงที่แบงก์ยังได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในกรณีที่เร่งปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และยังไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ด้วยเช่นกัน

ซึ่งคงต้องยอมรับว่า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากความผันแปรของสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ น่าจะมีผลทำให้โจทย์ความสามารถในการประคองรายได้จากธุรกิจหลัก ควบคู่ไปกับการดูแลปัญหาคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 มีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าปี 2563

Advertisment

แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สถานะทางการเงินของระบบแบงก์จะยังมีความแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงกว่าเกณฑ์ และมีอัตราส่วนเงินสำรองที่มีอยู่ต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) ในระดับสูงประมาณ 1.4-1.5 เท่า

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยได้ประกาศยุทธศาสตร์ปี 2564 เป็น “ยุทธการผ่าวิกฤต” ซึ่งจะประกอบด้วย 5 เรื่อง คือ 1) แบงก์ยังคงดำเนินงานภายใต้กรุงไทยคุณธรรมสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพราะเป็นเทรนด์ของโลก 2) ปล่อยสินเชื่อในรูปแบบเดิม ดูแลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL), ประคองลูกหนี้ด้วยมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้มีโอกาสฟื้นตัวได้

3) สร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ภายใต้ขอบเขตการอนุญาตของ ธปท. ที่อาจจะไม่ใช่แบงกิ้งก็ได้ 4) ใช้กระดาษให้น้อยที่สุด (paperless) โดยกระบวนการทำงานข้างในต้องเปลี่ยน

และปรับกระบวนการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วย AI (ปัญญาประดิษฐ์) และ 5) ยึดโยงยุทธศาสตร์ การทำธุรกิจกับพันธมิตร ต่อยอดจากคู่ค้าของลูกค้า ด้วยกลยุทธ์ X2G2X

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ในปี 2564 ธนาคารพาณิชย์มีบทบาทสำคัญในการประคองลูกค้าให้หนีภัยจากโควิดได้อย่างเป็นระบบ และเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจกรรมใหม่ได้

โดยแบงก์จะต้องแยกลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่ไปไม่รอด ที่จะต้องช่วยประคองให้สามารถเปลี่ยนถ่ายไปสู่ธุรกิจใหม่ได้ เพราะถ้ากลุ่มนี้ตกลงแรง จะกระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งจะเห็นคนตกงานจำนวนมาก และจะทำให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พุ่งขึ้นรวดเร็ว

2.กลุ่มที่พอไปได้ ซึ่งกลุ่มนี้แบงก์จะต้องช่วยให้เดินหน้าไปได้ต่อไป เพราะจะเป็นกลุ่มที่จะมาช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป และ 3.กลุ่มสร้าง new S-curve อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เพื่อให้ธุรกิจที่ไปไม่รอด

หรือไปไม่ไหวในธุรกิจเดิมและสามารถเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจใหม่ และสามารถรองรับผลกระทบจากจำนวนแรงงานที่ไปต่อไม่ได้ในธุรกิจเดิมให้สามารถมีงานทำได้ รวมถึงจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่ออนาคตด้วย

“ปี 2564 แบงก์จะมีบทบาทสำคัญ คือ จะต้องมองให้ชัดและแยกลูกค้าให้ได้ว่ากลุ่มไหนรอด ไม่รอด แม้ไม่รอด เราก็ต้องจัดระเบียบให้เขาสามารถเปลี่ยนผ่านไปได้ เปรียบเหมือนไฟไหม้ตึก เราต้องจัดช่องทางหนีไฟให้เขา

เพื่อไม่ให้เขาหาทางออกกันเองและเหยียบกันตาย เพราะถ้าเราจัดการช่องทางที่เป็นระเบียบ จะสะท้อนเรื่องการจ้างงานไม่ตกฮวบ และเอ็นพีแอลของแบงก์เอง ก็จะไม่พุ่งตามมาด้วย” นายปิติกล่าว

สรุปแล้วปีฉลูคงยังเป็นอีกปีแบงก์ยังต้องสาละวนกับการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยลูกค้า ไปพร้อม ๆ กับการประคองผลประกอบการไม่ให้ตกต่ำ