ไทยคึกเล่นหุ้นเวียดนาม ลงทุนซื้ออนาคตดาวรุ่งอาเซียน

นักลงทุนไทยพาเหรดลงทุนตลาดหุ้นเวียดนาม โบรกเกอร์ตื่นตัวพาเยี่ยมชมกิจการถึงถิ่น แนะเป็นการกระจายความเสี่ยงพอร์ต “ดร.นิเวศน์” เผยไม่ใช่ตลาดของนักเก็งกำไร ต้องลงทุนระยะยาวซื้ออนาคตประเทศเวียดนาม จากทิศทางเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง-การเติบโตชนชั้นกลาง “ซีไอเอ็มบี” เปิดขายกองทุนหุ้นเวียดนามกองแรก สมาคม VI ยกทัพนักลงทุนไทย 100 คนเยือน 1-4 พ.ย.นี้ บล.ภัทรเตือนมาตรฐานบัญชี-ค่าเงินยังเสี่ยง

นางสาวกัลชุญา ศุขเทวา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด และผู้เชี่ยวชาญการลงทุนตลาดหุ้นเวียดนาม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นเวียดนามกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุน (รายย่อย)ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น และไทย เพราะเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเร็วมาก โดยเฉพาะไตรมาส 3 จีดีพีเติบโตถึง 7.3% ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้มีการลงทุนมากขึ้น สำหรับนักลงทุนไทยนั้นเริ่มเข้าไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน ช่วงที่ตลาดหุ้นเวียดนามยังเงียบเหงา หลังเกิดฟองสบู่แตกช่วงปี 2012 เงินด่องอ่อนตัวลงมาเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนั้น ดร.นิเวศน์ (เหมวชิรวรากร) เป็นผู้ริเริ่มเข้าไปก่อน และจุดประกายทำให้มีนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) ตามเข้าไปเรื่อย ๆ

“ตอนนี้นักลงทุนไทยตื่นตัวไปลงทุนเวียดนาม การลงทุนในเวียดนามมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งการลงทุนหุ้นโดยตรงผ่าน บล.ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีโบรกเกอร์เข้าไปเปิดการลงทุนในเวียดนามมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการพานักลงทุนไทยไปเยี่ยมชมกิจการเวียดนามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรับจ้างบริหารกองทุนส่วนบุคคลเพื่อลงทุนในเวียดนาม นอกจากการเติบโตของดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามแล้ว ในแง่ของปันผลหุ้นเวียดนามค่อนข้างสูงอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 9-10% ซึ่งในส่วนของทรีนีตี้ก็กำลังศึกษาและเตรียมเปิดกองทุนส่วนบุคคลเพื่อลงทุนในเวียดนามในช่วงปลายปีนี้เช่นกัน”

หุ้นเปิดขายไอพีโอเกือบทุกวัน

นางสาวกัลชุญากล่าวว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นเวียดนามคึกคักมาก เพราะอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จากกิจการที่รัฐเป็นเจ้าของ เปิดให้เอกชนเข้ามาเป็นเจ้าของร่วม ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดคือการนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ต่างชาติและประชาชนร่วมเป็นเจ้าของ เช่น กรณีบริษัท Vinamilk เดิมเป็นกิจการของรัฐ ปัจจุบันรัฐลดสัดส่วนเหลือราว 26% เป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นเวียดนาม มูลค่าราว 3.1 แสนล้านบาทและหลัง ๆ ก็เริ่มมีบริษัทเอกชนของเวียดนามเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นเวียดนามมากขึ้น

Advertisment

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นเวียดนามปัจจุบันมี 3 ตลาดคือฮานอย โฮจิมินห์ และอัพคอม ซึ่งอัพคอมเป็นตลาดเกิดใหม่ เปรียบเสมือนตลาด mai ของไทยที่เป็นหุ้นตัวเล็ก ข้อดีคือการเปิดเผยข้อมูลน้อยกว่าอีก 2 ตลาด ทำให้มีบริษัทเข้าจดทะเบียนได้ง่ายขึ้น ตอนนี้อัพคอม มีหุ้นอยู่ราว 600 ตัว มีหุ้นเข้า IPO เกือบทุกวัน รวม 3 ตลาดมีหุ้นรวมกว่า 1,300 ตัว

สำหรับธีมการลงทุนเวียดนาม โบรกเกอร์ส่วนใหญ่พูดถึงการเจริญเติบโตของชนชั้นกลางที่เริ่มมีมากขึ้น จากในอดีตที่มีประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งมองว่าจะเพิ่มเป็น 30 ล้านคนภายในปี 2030 ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างรวดเร็ว ดังนั้นธีมการลงทุนในเวียดนามตอนนี้จะไปอยู่ที่หุ้นเกี่ยวข้องกับการจับจ่ายใช้สอย กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ค้าปลีกรวมถึงพวกอินฟราสตรักเจอร์ เพราะเวียดนามก็มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

สมาคมวีไอจัดทริปเวียดนาม

นายวีระพงษ์ ธัม กรรมการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือThaivi.org กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันสมาชิกของสมาคมให้ความสนใจตลาดหุ้นเวียดนามมาก ดังนั้นในปีนี้ สมาคมจึงได้จัดทริป Vietnam Investment Forum HCMC ระหว่างวันที่ 1-4 พ.ย.นี้ เพื่อศึกษาโอกาสและความเสี่ยงการลงทุนตลาดหุ้นเวียดนาม เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง และหาผลตอบแทนเพิ่ม นอกจากการไปดูธุรกิจ โรงงาน และฟังข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนเวียดนาม ก็จะได้ฟังประสบการณ์ลงทุนโดยตรง จากผู้บริหารกองทุนชั้นนำ รวมถึงธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในเวียดนาม ซึ่งจากที่เปิดรับสมัครทางออนไลน์ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมาก มีผู้ลงทะเบียนเต็ม 100 ที่ ภายใน 3 นาทีเท่านั้น สะท้อนถึงความสนใจของการไปลงทุนในเวียดนามได้เป็นอย่างดี

Advertisment

ซื้ออนาคตประเทศเวียดนาม

นายนิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนรายใหญ่ที่เน้นการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้มองโอกาสเข้าไปลงทุนในตลาดเวียดนาม เพราะจากที่ประเมินตลาดต่างประเทศโดยรอบเห็นว่า เวียดนามได้เปรียบสุด ทั้งการเติบโตเศรษฐกิจปีที่ผ่านมากว่า 7% หากเทียบกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ ที่มีการเติบโตเฉลี่ย 5-6% แต่เวียดนามยังมีความพร้อมในด้านบุคลากร รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อผลักดันการส่งออก ตามที่เวียดนามตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตของโลก

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีแรงจับจ่ายในประเทศสูง ด้วยประชากรมากกว่า 90 ล้านคน ถือเป็นตลาดใหญ่ และส่วนมากอยู่ในวัยทำงาน กำลังซื้อที่เกิดขึ้นยังไม่ได้มาจากการกู้ยืม ประชาชนมีการกู้เงินแค่ 10-20% นี่จะเป็นโอกาสเพราะหากวันที่ประชาชนเข้าถึงเงินกู้ได้มากก็จะซื้อบ้านซื้อรถ เศรษฐกิจก็จะโตจากการจับจ่ายอีกมหาศาล

“การลงทุนในตลาดเวียดนามต้องมองเป็นการลงทุนระยะยาวอย่างน้อย 3-5 ปี เป็นการมองถึงการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เรียกว่าเป็นการซื้ออนาคตของประเทศเวียดนาม ซึ่งถ้านักลงทุนจะมาเล่นเก็งกำไรในตลาดเวียดนาม ไม่ต้องมาเลย หากจะมองเวียดนาม ให้นึกถึงภาพเมืองไทยเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 คนไทยมีแรงซื้อสูงมาก การลงทุนก็สูง เครนก่อสร้างเต็มไปหมด ภาพคนไทยสมัยนั้นใช้จ่ายเยอะมาก ร้านอาหารเปิดใหม่คนแน่นทุกร้าน ซึ่งเวียดนามในวันนี้กำลังเป็นเช่นนั้น ทุกอย่างบูมระเบิด และติดสปีดโตเร็วมาก และจะเป็นดาวดวงใหม่ของการลงทุนอาเซียน”

เปิดพอร์ต “ดร.นิเวศน์” วีไอตัวพ่อ

นายนิเวศน์กล่าวว่า ตนเริ่มเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม เมื่อช่วงปี 2014 หลังเวียดนามฟองสบู่แตก ประกอบกับต้องการกระจายความเสี่ยงจากตลาดหุ้นไทย โดยเริ่มเข้าไปเก็บประมาณ 60 บริษัท ตอนนั้นตลาดหุ้นเวียดนามยังเหงา ๆ ซึ่งบางส่วนได้ปันผล แต่ก็ไม่ได้เอาเงินกลับก็ใส่เพิ่มเข้าไป จนปัจจุบันถือหุ้นบริษัทในตลาดเวียดนามแล้ว ประมาณ 130 บริษัท

“หุ้นเวียดนามปีนี้ปรับขึ้นสูงประมาณ 20% แต่ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของกลุ่มหุ้นใหญ่ เพราะต่างชาติเริ่มเข้ามาลงทุนเยอะขึ้น ขณะที่ของเราเน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก เพราะมองว่ามีโอกาสจะเติบโตแน่นอน แต่หุ้นกลุ่มนี้ที่เราลงทุนราคายังไม่ขึ้น”

นายนิเวศน์กล่าวว่า แม้ว่าส่วนตัวจะมีการลงทุนเวียดนามมาก แต่ก็เป็นสัดส่วนแค่ 10% ของพอร์ตทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงการลงทุน เพราะการลงทุนต่างประเทศก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน รวมทั้งความเสี่ยงจากค่าเงินด้วย อย่างปีนี้ก็ขาดทุนจากค่าเงินไปประมาณ 7-8%

เตือนดูมาตรฐานบัญชี-ค่าเงิน

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเป็นที่นิยมของนักลงทุนไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากกระแสการติดต่อสอบถามถึงทางเลือกการลงทุนที่เข้ามา โดยในส่วนของ บล.ภัทร ขณะนี้มีแพลตฟอร์มทางเลือกการลงทุนเป็นฟันด์ ETF ในเวียดนาม ซึ่งได้รับการตอบรับดี

“เทรนด์การลงทุนในเวียดนามตอนนี้เกิดจากความสนใจของนักลงทุนไทยเอง โดยประเมินจากภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่มองว่าจะเติบโตต่อเนื่องอีก โดยยังไม่ได้มีการกระตุ้น คือชักจูงผ่านกองทุนมากนัก และปัจจุบันกองทุนไทยเข้าไปลงทุนในหุ้นเวียดนามยังไม่มากแต่ก็เริ่มมีกองทุนเข้ามาคุยเพื่อทำแพลตฟอร์มลงทุนเวียดนามบ้าง”

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในการลงทุนตลาดหุ้นเวียดนาม เบื้องต้นประเมินว่านักลงทุนไทยต้องดูความเข้มงวดของมาตรฐานบัญชีที่เวียดนามใช้ตรวจสอบบริษัท ประกอบกับความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ที่ไทยยังคงแข็งค่ากว่าเวียดนาม หากนักลงทุนไทยมองโอกาสเข้าไปลงทุน จำเป็นต้องประเมินกำไรให้สูงมาก เพื่อได้ผลตอบแทนหลังหักอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว

เมย์แบงก์ชูธงบุกเวียดนาม

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจุบันนักลงทุนไทยให้ความสนใจการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บริษัทจัดกิจกรรมให้ลูกค้าก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปีนี้เมย์แบงก์มีทั้งการพานักลงทุนไปดูตลาด และเยี่ยมชมกิจการในเวียดนาม รวมทั้งเชิญนักวิเคราะห์ที่เวียดนามมาพูดให้กับนักลงทุนไทยฟังก็ได้รับความสนใจมาก

“นักลงทุนไทยสนใจการลงทุนที่เวียดนามแต่ละปีก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะตลาดหลักทรัพย์เวียดนามก็ส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปมากขึ้น ปีนี้ตลาดหุ้นเวียดนามก็มีการขยายเพดานการถือครองหลักทรัพย์ของต่างชาติ เปิดรูมให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นสัดส่วนมากขึ้น รวมถึงมีการเปิดขายหุ้นไอพีโอจำนวนมาก”

ขณะเดียวกัน นักลงทุนไทยมีความพร้อมที่จะไปลงทุนต่างประเทศ รวมถึงแบงก์ชาติก็เปิดให้สามารถนำเงินออกไปได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องบอกลูกค้าในการไปลงทุนเวียดนาม คือการกระจายความเสี่ยง เพราะถ้าตลาดหุ้นไทยมีปัญหาก็ยังมีกำไรจากตลาดหุ้นเวียดนามได้ แต่อย่ามองว่าเป็นตลาดคู่แข่งกัน แต่ต้องมองว่าเป็นส่วนเติมเต็มให้แก่กัน

นายสุกิจกล่าวว่า การลงทุนตลาดหุ้นเวียดนาม ต้องเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่การเก็งกำไร เนื่องจากเวียดนามเป็นตลาดฟรอนเทียร์ (frontier) เรียกว่าเป็นตลาดเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่เป็นตลาดเกิดใหม่เลย ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยง แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่คุ้ม เพราะในระยะยาวยังมีโอกาสการเติบโตได้ และเป็นการเติบโตในทุกอุตสาหกรรม

ด้านนายธนัท วงษ์ชูแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสายงานธุรกิจออนไลน์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า การลงทุนของนักลงทุนไทยผ่านบริษัทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ภายหลังบริษัทมีแผนการตลาดรุกส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามค่อนข้างชัดเจน เฉลี่ยแต่ละปีจะมีการนำนักลงทุนเดินทางไปพบปะผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในเวียดนามไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้ง ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนนักลงทุนไทยเปิดบัญชีเพื่อลงทุนตลาดหุ้นเวียดนามแล้วกว่า 200 บัญชี

CIMB เปิดกองทุนหุ้นเวียดนาม

นายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามสดใส คาดว่าจีดีพีปี 2560-2565 ยังขยายตัวกว่า 6% ต่อปี หนุนโอกาสเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่ง P/E อยู่ที่ 14 เท่า ต่ำกว่าตลาดหุ้นไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทจึงเปิดขายกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ (CIMB-PRINCIPAL VNEQ) ด้วยทุนจดทะเบียน 1,500 ล้านบาท ถือเป็น บลจ.รายแรกที่เปิดตัวกองทุนที่มีนโยบายเข้าลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นเวียดนาม ต่างจากกองทุนอื่น ๆ ที่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศ CLMV ผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ โดยจากที่เปิดจองมีผู้สนใจจองเข้ามาล้น โดยพบว่าบุคคลจองเข้ามา 1,565 ราย มูลค่า 1,352 ล้านบาท และสถาบัน 35 ราย 133 ล้านบาท และขณะนี้ได้เริ่มทยอยลงทุนแล้ว

ขณะที่นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจนักวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เผยว่า ขณะนี้สัญญาณการลงทุนในกองทุนตลาดเวียดนามมีมูลค่าสูงต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันจะมีกองทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในไทยเข้าไปเปิดการลงทุนในหุ้นเวียดนามแบบ 100% เพียงกองทุนเดียว คือ กองทุนของ บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล มูลค่า 1,500 ล้านบาท ขณะเดียวกัน พบว่ามี บลจ.เปิดกองทุนรวมในอาเซียน 10 กองทุน โดยมีกองทุนเปิดใหม่ในปีนี้ 6 กองทุน อาทิ กองทุน SKFM Mekong NFRI A ของ บลจ.สยาม ไนท์ ฟันด์ แมเนจเม้นท์, กองทุน Bualuang ASEAN Equity RMF ของ บลจ.บัวหลวง และกองทุน Krung Thai CLMVT Equity A ของ บลจ.กรุงไทย ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิในกองทุนอาเซียน ปัจจุบันอยู่ที่ 2 พันล้านบาท

“เกิดจากความนิยมของนักลงทุนไทยที่ให้ความสนใจลงทุนในตลาดเกิดใหม่ และเวียดนามถือเป็นอีกหนึ่งตลาดเกิดใหม่มาแรง ได้รับความสนใจมากพอสมควร แต่ส่วนตัวมองว่าอาจจะยังไม่ใช่เทรนด์ที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ที่ บลจ.จะนิยมเข้าไปเปิดกองทุนเวียดนามเพียว ๆ เพราะมีความเสี่ยงสูง เมื่อเทียบกับการเปิดกองทุนรวมอาเซียน อีกทั้งยังต้องมีต้นทุนในการวิเคราะห์ตลาดโดยตรง”