กรมบัญชีกลางเร่งแก้เบิกจ่ายอืด รื้อจัดซื้อจัดจ้าง-บี้ผู้อุทธรณ์วางประกัน

กรมบัญชีกลาง

กรมบัญชีกลางเร่งแก้ปมจัดซื้อจัดจ้างติดขัดทำเบิกจ่ายงบประมาณสะดุดเกือบ 1 แสนล้านบาท เล็งแก้ปัญหากระบวนการอุทธรณ์กำหนดให้ผู้ร้องต้องวางเงินประกัน หวังป้องกันการอุทธรณ์แบบไม่รับผิดชอบเพื่อถ่วงเวลาตั้งเป้าผลักดันเม็ดเงินจัดซื้อจัดจ้างเข้าระบบเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมบัญชีกลางจะเดินหน้าแก้ปัญหาข้อติดขัดที่ทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า จนกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยจากการรวบรวมปัญหา พบว่าติดอยู่ในกระบวนการอุทธรณ์ และการโต้แย้งต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างที่ติดขัดในขั้นตอนการอุทธรณ์เพียงอย่างเดียวเกือบ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ หากสามารถผลักดันให้เม็ดเงินดังกล่าวลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็ว ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก

“ตั้งเป้าหมายว่าจะเข้าไปแก้ไขปัญหา เพื่อให้เม็ดเงินไหลลงสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง หรือ 50,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยข้อติดขัดต่าง ๆ มาจากข้อกฎหมาย ขั้นตอน และการให้สิทธิผู้ประกอบการมากเกินไป

Advertisment

คือเมื่อกฎหมายให้สิทธิมาก ผู้ประกอบการก็ใช้สิทธิมากเกินไป และเกินขอบเขต เป็นลักษณะเหมือนการประวิงเวลา กรมจึงจะเข้าไปแก้กฎหมายลงโทษผู้ที่ประวิงทั้งหลาย เพราะเดิมผู้ประกอบการที่โต้แย้ง อุทธรณ์ทำได้เต็มที่ ไม่มีกฎหมายห้าม และไม่มีต้นทุนในการอุทธรณ์ จึงกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความล่าช้า”

นายประภาศกล่าวว่า การอุทธรณ์ที่เกิดขึ้นมาก ทำให้ขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า และทำให้เม็ดเงินค้างอยู่ในระบบดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงควรเป็นต้นทุนที่ผู้อุทธรณ์ควรต้องรับผิดชอบส่วนหนึ่ง อาทิ การอุทธรณ์ อาจจะต้องมีการวางเงินประกันด้วย เพื่อป้องกันการอุทธรณ์แบบไม่รับผิดชอบหรือซี้ซั้ว ซึ่งหากอุทธรณ์มั่วก็ต้องโดนยึดเงินประกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเร่งกระบวนการประชุม 5 คณะกรรมการ ตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง ให้รวดเร็วและต่อเนื่อง เพื่อลดขั้นตอนและวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ 1.คณะกรรมการนโยบาย 2.คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง

3.คณะกรรมการราคากลางและการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ 4.คณะกรรมการความร่วมมือและความโปร่งใส และ 5.คณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์

Advertisment

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมากรมก็ได้ผ่อนคลายเกณฑ์ข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อเร่งรัดสนับสนุนให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย

1.การนำร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ จากเดิมกำหนดให้วงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 5,000,000 บาท ปรับเป็นวงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาท ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ที่จะให้มีการเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการหรือไม่ก็ได้

2.การซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสาร สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ และสำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 100,000,000 บาท ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสารไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ

และการจ้างที่ปรึกษา การจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศและเอกสารการจ้างที่ปรึกษา และเผยแพร่ประกาศ และเอกสารการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ

อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวด้วยว่า เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับเรื่อง CPTPP ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังเป็นประธาน

ซึ่งมีแนวทางว่าจะแก้ไข พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับหลักการ CPTPP ซึ่งเป็นหลักการที่เป็นสากลในบางส่วน เป็นการแก้ในระเบียบปฏิบัติ เช่น ระเบียบของกระทรวงการคลังในบางข้อที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งมีความไม่ชัดเจน หรือมีลักษณะ หรือระยะเวลาในการให้สิทธิผู้ประกอบการ รวมทั้งการอุทธรณ์ด้วย

“คณะอนุกรรมการมีข้อเสนอแนะกรณีในเรื่องการอุทธรณ์ในการจัดซื้อจัดจ้าง คือเดิมจะเป็นการอุทธรณ์ของหน่วยงานก่อน แล้วก็มาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ก็มีข้อท้วงติงว่าการอุทธรณ์ต่อหน่วยงาน ไม่ควรให้หน่วยงานพิจารณาเอง

จะต้องตั้งเป็นคณะกรรมการด้วย เพราะไม่อยากให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์เพียงคนเดียว โดยในขั้นตอนพิจารณาของหน่วยงาน ต้องมีคณะกรรมการเป็นคนกรอง เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ จะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการ CPTPP ชุดใหญ่อีกครั้ง” อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว