ธปท.มองเงินบาทอ่อนค่า 11% ตามการปรับนโยบายการเงินโลก

เงินบาท

ธปท.มองเงินบาทอ่อนค่า 11% ตามการปรับนโยบายการเงินโลก เชื่อไทยมีกันชนรับความผันผวน

วันที่ 22 ธันวาคม 2564 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความผันผวนของค่าเงินบาทเป็นไปตามปกติของโลก เนื่องจากตลาดการเงินทั่วโลกมีการปรับนโยบาย จึงมีความผันผวนสูงต่อสินทรัพย์ ค่าเงิน และตลาดพันธบัตร ที่จะเห็นการแกว่งตัว อย่างไรก็ดี ในส่วนของค่าเงินบาทยังไม่ได้มีปัญหา โดยจะเห็นว่านับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอ่อนค่าราว 11% ซึ่งการอ่อนค่ามีสาเหตุมาจากผลมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด

ขณะที่การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั่วโลก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะมีผลต่อไทยมากน้อยขนาดไหนนั้น จะเห็นว่าในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ในกลุ่มที่มีอัตราเงินเฟ้อสูง และแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่า จะมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศหลักค่อนข้างมาก

สำหรับประเทศไทย และเกาหลีจะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือ อัตราเงินเฟ้อไม่ได้มีปัญหา รวมถึงวินัยการเงินและการคลังค่อนข้างเข้มแข็ง ทำให้มีความน่าเชื่อถือต่อกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศหลักมีไม่มาก เนื่องจากไทยมีปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างดี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินจะมีเหตุผล และมีกันชนรองรับแรงกระแทกจากต่างประเทศได้ค่อนข้างดี

Advertisment

“ตัวเลขเงินบาทไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากต้นปี โดยอ่อนค่า 11% อย่างไรก็ดีในมุมผู้ประกอบการส่งออกค่าเงินบาทอ่อนค่าก็จะมีมาร์จิ้นที่ดีขึ้น แต่อีกมุมหากการอ่อนค่าเรื่อย ๆ ก็เป็นต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับผู้นำเข้า ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม”

สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นจะมีผลต่อนโยบายการเงินหรือไม่นั้น นายปิติกล่าวอีกว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว โดยพิจารณาว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เป็นการปรับขึ้นต่อเนื่อง หรือการปรับขึ้นครั้งเดียว ซึ่งตอนนี้ กนง.มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นชั่วคราว และปรับขึ้น 1-2 ครั้ง โดยมาจากปัจจัยเฉพาะจากการขาดแคลนชิ้นส่วน และราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น

ทั้งนี้ หากดูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และไม่หลุดกรอบคาดการณ์ แต่หากกรณีที่เงินเฟ้อมีการปรับเปลี่ยนไปสู่เงินเฟ้อสูง และสูงต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม เพราะมีผลต่อราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าจ้างที่สูง และคาดเดาได้ยาก อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางในต่างประเทศมองว่าเป็นเงินเฟ้อระยะสั้น แต่ปัจจุบันอยู่นานและกระจายตัว จึงเป็นที่มาของการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในหลายธนาคาร

“อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นชั่วคราว และอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2 ปีข้างหน้า ส่วนตัวที่ไดรฟ์เงินเฟ้อมาจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ แต่เงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่แรงกดดันยังมีจำกัด โดยเป้าหมายเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 1.2% และปีหน้าอยู่ที่ 1.7% ซึ่งคาดว่ายังอยู่ในกรอบเป้าหมาย เพราะวัฏจักรเศรษฐกิจเราแตกต่างจากเศรษฐกิจต่างประเทศ”

Advertisment