ดอลลาร์อ่อนค่าหลังตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนต่ำกว่าคาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/2) ที่ระดับ 33.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2.2) ที่ระดับ 33.33/24 บาท เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าหลังจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้โดยตัวเลขจ้างงานลดลง 3 แสนตำแหน่ง ขณะที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2 แสนตำแหน่ง ทำให้ตลาดขาดความมั่นใจต่อท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟียเปิดเผยว่า อาจเป็นเรื่องที่เหมาะสมสำหรับเฟดที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ และเดินหน้าเชิงรุกมากขึ้น หากปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นนั้นไม่คลี่คลายลง เช่น ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้นักลงทุนยังรอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมกราคมของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเพียง 178,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.9%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในกรอบ 1.5-2.5% จากเดิม 1.2-2% โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 3% ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงกว่า ที่ประมาณการได้ ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี’65 กกร.ยังคงประมาณการว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 3-4.5% ส่วนการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 3-5%

โดยเศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้เนื่องจากสามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โอมิครอน) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องมีการ Lockdown ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.14-33.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (3/2) ที่ระดับ 1.1295/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2/2) ที่ระดับ 1.1281/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนจับตาการประชุม BoE และ ECB ในวันนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.50% หลังเงินเฟ้อของอังกฤษพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี ขณะที่คาดว่า ECB จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินแต่อย่างใด แม้ว่าเงินฟ้อของยูโรโซนจะปรับตัวเหนือเป้าหมาย 2%

โดยนางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ว่า ECB ไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 และระบุว่า “แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นในขณะนี้ แต่มีแนวโน้มปรับตัวลงในระยะกลาง” ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อจากการขยายตัวของค่าจ้างยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1285-1.1308 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1287/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/2) ที่ระดับ 114.43/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (2/2) ที่ระดับ 114.42/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากมีการปรับตัวแข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐทยอยปรับตัวลดลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.33-114.73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (3/2) ยอดสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงานเดือน ธ.ค. (3/2), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (4/2), อัตราการว่างงาน (4/2), ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมง (4/2)

Advertisment

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.40/+0.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.00/-1.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ