ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวไร้ทิศทาง จับตาการประชุมเฟดคืนนี้ ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% หรือไม่ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ธปท.ระบุเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายนปรับตัวดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/7) ที่ระดับ 36.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/7) ที่ระดับ 36.68/70 จากการคาดการณ์ของตลาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในคืนวันนี้
นอกจากนี้ ตลาดยังมีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ไว้ที่ระดับ 3.2% ปรับลดลง 0.4% จากครั้งก่อน และคาดการณ์ของปี 2566 ไว้ที่ระดับ 2.9% ปรับลดลง 0.7% จากครั้งก่อน สาเหตุจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่เปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา ผลสำรวจของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ (Conference Board) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคมลดลงสู่ระดับ 95.7 ลดลง 2.7 จุดจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่ายอดขายบ้านประจำเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 590,000 ยูนิต ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 8.1% ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 จากราคาบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น
โดยผลสำรวจของเอสแอนด์พีระบุว่า ดัชนีราคาบ้านในสหรัฐ ประจำเดือนพฤษภาคม เพิ่มสูงขึ้นถึง 19.7% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.71-36.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโรคและการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ยังคงต้องติดตามทิศทางเศรษฐกิจโลกรวมทั้งปัจจัยภายนอกประเทศที่อาจเพิ่มแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (27/7) ที่ระดับ 1.0138/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/7) ที่ระดับ 1.0142/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังจากรัสเซียประกาศลดการส่งก๊าซผ่านท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งก๊าซสำคัญจากรัสเซียไปยังยุโรป เหลือเพียง 20% ของกำลังการผลิต
ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกระตุ้นความกังวลเรื่องของวิกฤตพลังงานในยุโรป โดยเฉพาะราคาพลังงานที่อาจปรับตัวสูงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0113-1.0158 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0145/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/7) ที่ระดับ 13689/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (26/7) ที่ระดับ 136.69/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาที่ระดับ 2.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าระดับคาดการณ์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 136.61-137.14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 136.72/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิถุนายนของสหรัฐ (27/7), ยอดขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนมิถุนายนของสหรัฐ (27/7), ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (26-27/7), กำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนของจีน (27/7) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคมของเยอรมนีจากสถาบัน GfK (27/7)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.25/-7.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.00/-4.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ