ธปท. คาดประชุมเฟด ทำเงินทุนไหลออกตลาดเกิดใหม่ หนุนเงินบาทอ่อนค่า

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

ธปท.มองเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องหลังประชุมเฟดคืนนี้ เหตุนักลงทุนกังวลนโยบายการเงิน-เศรษฐกิจถดถอยสหรัฐ ทิ้งสินทรัพย์เสี่ยงออกจากตลาดเกิดใหม่ ระบุ เศรษฐกิจไตรมาส 2/65 ขยายตัวต่อเนื่องโตเกิน 3% แรงหนุนการบริโภคเอกชน-ภาคท่องเที่ยว

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการประชุมในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ประเมินว่า

แนวโน้มนักลงทุนยังคงมีความกังวลในเรื่องความเสี่ยงต่อนโยบายการเงินของสหรัฐ และการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทำให้มีการปรับสถานะการลงทุนเป็น (Risk off Sentiment) โดยมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยแทน หรือออกจากตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)

ดังนั้น จากความกังวลและความเสี่ยงที่ยังคงมีในตลาดโลก ทำให้ฟันด์โฟลว์ยังคงเป็นไปในลักษณะ Rik off ทำให้เงินบาทยังคงทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สอดคล้องกับตัวเลขเงินบาทเทียบดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน-22 กรกฎาคม 2565 พบว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยอ่อนค่าต่อเนื่อง และหากดูดัชนี NEER เมื่อเทียบกับคู่ค้า คู่แข่งยังคงอ่อนค่าเยอะกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลในเศรษฐกิจจีนที่มีปัญหาและมีการล็อกดาวน์ ซึ่งไทยพึ่งพาจีนในเรื่องของนักท่องเที่ยว บาทจึงอ่อนค่า

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 2/2565 ภาพการคาดการณ์ยังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลง โดยยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1/2565 อยู่ที่ประมาณกว่า 3% มาจากการบริโภคเอกชนเป็นสำคัญ

ส่วนหนึ่งมาจากแรงขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศ Test & go และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย โดยในช่วง 6 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้วจำนวน 2.8 ล้านคน หรือเฉพาะเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 767,500 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ที่อยู่ 520,000 คน

“หากดูภาพเศรษฐกิจไตรมาส 2 ภาพอาจไม่ต่างจากผู้ว่าการ ธปท.เคยพูด โดยจากข้อมูลและเครื่องชี้วัดต่าง ๆ คาดว่าจีดีพีน่าจะขยายตัวได้ 3-3.3% นิด ๆ ส่วนมองไปในไตรมาส 3 ยังคงมีแรงส่งค่อนข้างดี ทำให้ภาพครึ่งปีหลังคงดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี อาจจะต้องรอดูภาพให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากยังคงมีปัจจัยบวกและลบ โดยนักท่องเที่ยวจะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจ และมีด้าน Up Side แต่ก็มีเรื่องที่ต้องจับตาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับของต้นทุน การระบาดของโควิด หรือปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ แต่ ณ ปัจจุบันภาพจีดีพียังคงอยู่ที่ 3.3% ในปีนี้”

นางสาวชญาวดีกล่าวว่า ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจเดือนมิถุนายน 2565 และไตรมาสที่ 2/2565 นั้น หากดูดัชนีชี้วัดเศรษกิจปรับตัวดีขึ้นทุกตัว โดยการบริโภคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า และหากดูรายไตรมาสขยายตัว 9.8% โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งการเข้าพักโรงแรม ขนส่งโดยสาร สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่งผลต่อดัชนีการผลิตในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 8.5%

และหากดูภาพรวมตลาดแรงงานสะท้อนภาพการทยอยฟื้นตัวดีขึ้น โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 ปรับดีขึ้น 0.5% อยู่ที่ 11.3 ล้านคน และผู้รับสิทธิว่างงานก็ทยอยปรับลดลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนมิถุนายน และขยายตัว 1.3% ในไตรมาส 2 ซึ่งปรับดีขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดจดทะเบียนรถบรรทุกเชิงพาณิชย์ เครื่องจักร และภาคการก่อสร้าง และภาพการลงทุนเอกชนที่ดีขึ้นเป็นวงกว้าง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนดีขึ้น

ขณะที่มูลค่าการส่งออกในเดือนมิถุนายนปรับลดลง -0.5% หลังจากเดือนพฤษภาคมเร่งตัวขึ้น 3.5% ถือว่าไปได้ดี และไตรมาส 2 ขยายตัวอยู่ที่ 4.4% โดยภาพชะลอตัวในเดือนนี้มาจากหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ที่มาจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน ส่วนหมวดอื่น ๆ ปรับดีขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.9% แม้ว่าภาพรวมไตรมาส 2 จะลดลง -1.1% เป็นผลมาจากขาดแคลนวัตถุดิบ

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนตามการเบิกจ่ายงบฯกลาง เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาโควิด-19 เป็นสำคัญ ส่วนการเบิกจ่ายของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมซึ่งได้เร่งไปในช่วงก่อน

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงมาอยู่ที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์ ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าขาดดุลอยู่ที่ 3.7 พันล้านดอลลาร์ โดยมาจากดุลบริการปรับดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของรายได้นักท่องเที่ยว และดุลรายได้จากการส่งกลับกำไรของธุรกิจต่างชาติเริ่มทยอยปรับลดลง ส่งผลให้ภาพรวมไตรมาสที่ 2 ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 8.6 พันล้านดอลลาร์

ด้านอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 7.6% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ 7% มาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.51% ตามราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร อย่างไรก็ดี ภาพรวมเงินเฟ้อยังคงทยอยปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 และจะทยอยปรับลดลงในไตรมาสที่ 4 ตามคาดการณ์เดิม

“หากมองเศรษฐกิจไปข้างหน้าเดือนกรกฎาคมผ่านข้อมูลเร็ว ถือว่าเศรษฐกิจยังคงไปได้ต่อเนื่อง โดยธปท.ได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการ พบว่าภาคการค้าและบริการมีแนวโน้มปรับดีขึ้น เนื่องจากมีวันหยุดเยอะ ซึ่งส่งผลดีต่อสินค้าอุปโภคบริโภค และการบริการร้านอาหารและขนส่งดีขึ้น ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ทรงตัว

แม้ว่ามีความต้องการซื้อ แต่จากราคาวัสดุอุปกรณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้นยังคงเป็นแรงกดดันภาคการก่อสร้างทั้งรัฐและเอกชน และรายได้ที่ยังไม่กลับมา ส่วนมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 มองว่าจะเข้ามาช่วยการบริโภคได้ แต่ประสิทธิผลอาจจะต้องขึ้นอยู่กับจำนวนเม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้นด้วย”