วิกฤต Zipmex กับช่องว่างกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล (1)

Zipmex
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
facebook: Narun on Fintech Law

ปีนี้เรียกได้ว่าเป็นปีชงของวงการคริปโตไทยและสากลก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผันผวน หรือความล้มเหลวของผู้ประกอบธุรกิจระดับยักษ์ใหญ่ของโลก ส่งผลให้นักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยสูญเสียเงินลงทุนเป็นจำนวนมากทั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีข่าวสั่นสะเทือนตลาดคริปโตของไทยเมื่อสำนักงาน ก.ล.ต.มีหนังสือแจ้งให้บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ชี้แจงเกี่ยวกับข่าวที่บริษัทประกาศระงับการถอนเงินบาทและสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่ฝากไว้ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่ชื่อ ZipUp

เมื่อฟังคำชี้แจงของ คุณเอกลาภ ยิ้มวิไล CEO ของ Zipmex ออกมาชี้แจงผ่านช่องทางออนไลน์และมีสื่อหลายสำนักนำไปตีข่าวต่อ ก็ทำให้เข้าใจผลิตภัณฑ์ตัวนี้มากขึ้น หากจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ZipUp เป็นเหมือนบริการ “เงินฝากออมสินทรัพย์ดิจิทัล” ลักษณะเดียวกับที่ธนาคารพาณิชย์ให้บริการเงินฝากออมทรัพย์ ลูกค้าสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ อีเทอเรียม หรือยูเอสดีที เป็นต้น มาฝากไว้กับ Zipmex โดยจะได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่กำหนดไว้สอดคล้องกับจำนวนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่ฝากไว้ คล้าย ๆ กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เมื่อได้สินทรัพย์ดิจิทัลจากลูกค้ามา Zipmex จำเป็นต้องนำเงินของลูกค้าไปหากำไรให้ได้มากกว่าผลตอบแทนที่จะต้องแจกจ่าย
ให้กับลูกค้า หากเป็นธนาคารก็อาจจะนำเงินฝากไปปล่อยกู้โดยเก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

จากการอธิบายของคุณเอกลาภทำให้เราทราบว่า Zipmex ใช้วิธีโอนสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ไปให้กับบริษัทแม่ที่สิงคโปร์ (Zipmex Global) เป็นผู้บริหารจัดการและมีการนำทรัพย์สินของลูกค้าทั้งในไทยและประเทศต่าง ๆ ที่ Zipmex ให้บริการผลิตภัณฑ์ ZipUp ไปลงทุนในแพลตฟอร์มกู้ยืมและบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ เซลเซียส (Celsius) และบาร์เบลไฟแนนซ์ (Barbel Finance) ซึ่งทั้งสองแพลตฟอร์มประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักเนื่องจากความผันผวนของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงปีที่ผ่านมา

จนกระทั่ง Celsius ได้ร้องขอความคุ้มครองตามกฎหมายต่อศาลล้มละลายมลรัฐนิวยอร์ก (chapter 11 bankruptcy protection) ชะตากรรมของ Barbel Finance ก็คงไม่ต่างกันมาก ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุที่ทำให้ Zipmex แจ้งหยุดให้บริการเบิกถอนเงินและสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการชั่วคราวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ามีสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า Zipmex ติดอยู่ในแพลตฟอร์มทั้งสองรวมกว่า 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 2,000 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนนี้รวมถึงทรัพย์สินของลูกค้าชาวไทยด้วย

สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ การที่คุณเอกลาภออกมาพูดในตอนหนึ่งว่า “กำลังพูดคุยกับนักลงทุนที่สนใจจะซื้อ Zipmex และพร้อมนำเงินที่นักลงทุนซื้อบริษัทมาชำระคืนลูกค้าหากการฟ้องร้องไม่เป็นผล” หรือหากแปลเป็นภาษาชาวบ้านได้ว่า ทรัพย์สินของลูกค้าไม่อยู่แล้ว และ Zipmex ไม่มีสินทรัพย์สำรองเพียงพอที่จะชดใช้คืนให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ อันนี้เรื่องใหญ่มากครับ

คำถามต่อมาที่ต้องถามกัน คือ แล้วจะช่วยนักลงทุนที่ประสบผลกระทบอย่างไร มีบทบัญญัติกฎหมายข้อไหนให้อำนาจหน่วยงานของรัฐเข้าแทรกแซงในเรื่องนี้ได้บ้าง เชื่อว่าทุกคนตอนนี้คงจับตาสำนักงาน ก.ล.ต.เป็นพิเศษ แต่ผมขอเรียนว่ากรณีนี้อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะหากกลับมาดูผลิตภัณฑ์เจ้าปัญหา ZipUp จะพบว่าไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำกับดูแลโดยตรง ! เรื่องมันเป็นดังต่อไปนี้ครับ

Zipmex ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีหน้าที่จัดบริการอำนวยความสะดวกให้มีการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญา หรือการจัดระบบหรืออำนวยความสะดวกให้เกิดกิจกรรมดังกล่าว โดยทำเป็นการค้าปกติในการไลฟ์ของคุณเอกลาภ และการชี้แจงในวาระต่าง ๆ ของ Zipmex จะพบว่าธุรกิจศูนย์ซื้อขายไม่ได้รับผลกระทบกล่าวคือ สินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าบริษัทที่ไม่ได้ใช้บริการ ZipUp ยังถูกเก็บอยู่อย่างปลอดภัยและสามารถเข้าถึงรวมทั้งเบิกถอนได้ตามปกติ ศูนย์ซื้อขายและกระเป๋าดิจิทัลของลูกค้าที่ผูกกับศูนย์ซื้อขายของ Zipmex อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.โดยตรงครับ อันนี้ปลอดภัยดีไม่มีปัญหา

ปัญหามันอยู่ตรงที่พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ไม่ได้ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประกอบธุรกิจอื่น ไม่ว่าจะเกี่ยวเนื่องกับประเภทธุรกิจที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ จึงทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหลายรายมีการเสนอบริการผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ 
เป็นที่ตื่นตาตื่นใจกันออกมาอยู่เสมอ ผลิตภัณฑ์ ZipUp ก็เป็นหนึ่งในนั้น อยากช่วยทุกท่านเปรียบเทียบบทบัญญัติของกฎหมายกำกับดูแลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นภาพครับ

มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าธนาคารพาณิชย์ (และสถาบันทางการเงินภายใต้กำกับอื่น ๆ) ประกอบธุรกิจได้เฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (หรือธุรกิจที่ได้รับอนุญาตอื่น) เท่านั้น ไม่สามารถประกอบกิจการหรือให้บริการอื่นที่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักได้

ในลักษณะเดียวกัน มาตรา 98 (8) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 กำหนดชัดเจนว่าบริษัทหลักทรัพย์ห้ามประกอบกิจการอื่นใดที่มิใช่ธุรกิจหลักทรัพย์ในประเภทที่ได้รับอนุญาต

พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ ไม่มีบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวครับ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจึงมีอิสระในการดำเนินธุรกิจใดที่ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ

ยังไม่จบแค่นี้ ถึงจะไม่ได้เขียนในกฎหมายแม่บท แต่จริง ๆ ก.ล.ต.ก็มีการกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องการประกอบธุรกิจอื่นของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเอาไว้บางส่วนเช่นกัน เรื่องมันซับซ้อนขออนุญาตยกยอดไปเล่าต่อตอนหน้าครับ