คนกรุงโล่ง! ฝุ่นลอยสูงรับวาเลนไทน์ กทม.ฟุ้งอีก 11 ปีแก้ปัญหาจราจร ไอเสียลด

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) และนายกมล พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ข้อมูลเรดาห์และดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมแถลงข่าวเรื่องมาตรการป้องกันมลพิษและการดูแลสุขภาพประชาชน

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า 1 เดือนที่ผ่านมามีข่าวมลพิษทางฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนในอากาศกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าเกินมาตรฐาน ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและหาแนวทางป้องกัน และลดปัญหาดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานก็มีการดำเนินการมาตลอด ในส่วน สธ. เน้นเฝ้าระวังใน 4 กลุ่มโรค คือ 1.โรคทางเดินหายใจ 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.เยื่อบุตาอักเสบ และ 4.โรคผิวหนัง ซึ่งกำชับทางโรงพยาบาลในการดูแลและเฝ้าระวังผู้ป่วยนอก ที่เข้ามารักษาในช่วงที่เกิดปัญหาฝุ่นละอองเรื่อยมาจนทุกวันนี้ รวมไปถึงผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉิน ซึ่งยังไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการตามกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และยังได้แจ้งไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ระมัดระวังตัวเอง หลีกเลี่ยงไปในบริเวณดังกล่าว หรือหากจำเป็นต้องทำงานในพื้นที่เป็นเวลานานๆ แทบทั้งวันต้องสวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 ซึ่งจะป้องกันฝุ่นขนาดเล็กได้ แต่หากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ก็ไม่ต้องถึงขนาดสวมหน้ากากชนิด N95 เนื่องจากค่อนข้างสวมใส่ยาก ไม่สบายมากนัก อาจเป็นนักกากคาร์บอนได้

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส. กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรฯ ได้มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 วัดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดทุกชั่วโมง โดยใช้เครื่องวัดจาก 6 สถานีพบค่าเกินมาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการตรวจค่าฝุ่นละอองตั้งแต่ปี 2559 2560 และ 2561 พบว่าค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม แหล่งใหญ่ที่เกิดปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ มาจากการจราจร โดยควันมาจากรถยนต์จำนวนมาก ซึ่งในกรุงเทพฯ พบรถยนต์ถึง 9.8 ล้านคัน และเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

“นโยบายในการป้องกันปัญหาไอเสียจากรถยนต์ คือ เชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันเราใช้เชื้อเพลิงตามมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งมีค่าซัลเฟอร์ 50 หน่วย แต่ขณะนี้กำลังวางแผนว่าในปี 2566 ใช้มาตรฐานยูโร 5 จะมีค่าซัลเฟอร์เหลือเพียง 10 หน่วย แต่ระยะเวลานาน ขณะนี้กำลังพิจารณาว่าอาจต้องมีการปรับเลื่อนให้เร็วขึ้นในการใช้น้ำมันค่ามาตรฐานยูโร 5 หรือไม่” ปลัดทส.กล่าว และว่า สำหรับความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่มีการแพร่ภาพฉายสปอตไลท์แล้วเห็นฝุ่นละอองรวมตัวกันหนาแน่นนั้น เป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากหากเป็นฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนจะมองไม่เห็น ซึ่งกรณีนี้เป็นภาพเก่า 2 ปีที่ผ่านมา และไม่ใช่ฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน

นายกมล พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ข้อมูลเรดาห์และดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา อากาศในพื้นที่กทม.ถูกกดทำให้ลอยสูงเพียง 3 กิโลเมตรบวกกับไม่มีฝนทำให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กมีปริมาณมาก นับตั้งแต่วันวาเลนไทน์ คือ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไป อากาศกรุงเทพมหานครจะลอยตัวได้สูงขึ้น 4-5 กิโลเมตร ซึ่งอากาศที่ลอยตัวได้สูงขึ้นโดยเฉพาะในเวลากลางวัน จะส่งผลให้การกระจายของฝุ่นละอองขนาดเล็กจะดีขึ้น สถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะเริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น

Advertisment

นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัดกทม. กล่าวว่า รถยนต์ใน กทม.ที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นปัญหาก่อให้เกิดฝุ่นละอองมีถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ถนนที่รองรับจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นกลับไม่เพียงพอ โดยรถยนต์มีมากกว่าถนนถึง 4.4 เท่า มีรถยนต์ขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยขณะนี้มี 500,000 คัน อย่างไรก็ตาม กทม. มีมาตรการในการเพิ่มความถี่การทำความสะอาดถนน เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งเช่นกัน ซึ่งเห็นผลชัดเนื่องจากการตรวจวัดค่าเมื่อช่วงวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์เวลา 15.00 น.ที่ผ่านมาค่าฝุ่นละอองยังเกินค่ามาตรฐาน แต่เมื่อมีการทำความสะอาดช่วงค่ำ และประกอบกับวันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์การจราจร การใช้รถยนต์น้อยลง ทำให้ค่าฝุ่นละอองลดลง ซึ่งกทม.ได้กำชับให้มีการทำความสะอาดในจุดเสี่ยงทุกวัน แทนที่เดิมจะทำทุกสัปดาห์ และจะขยายไปยังทุกพื้นที่ด้วย

“ในเรื่องของการจราจรกทม.ที่มีการใช้รถยนต์จำนวนมากนั้น ในอนาคต กทม.จะมีระบบขนส่งมวลชนที่ครบครันในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าในปี 2572 ซึ่งก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาจราจร ขณะเดียวกันก็น่าจะมีการทำโมเดลแบบปารีส ที่ในเมืองใหญ่จะกำหนดให้รถยนต์เข้าเมืองได้ตามเลขทะเบียนคู่ หรือคี่ โดยกำหนดเป็นวันๆ จำเพาะ เป็นต้น” รองปลัดกทม.กล่าว

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องการเผากระดาษเงิน กระดาษทองในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จะกระทบค่าฝุ่นละอองหรือไม่นั้นไม่น่ากังวลมาก ที่กังวลคือสารก่อมะเร็งมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในการเผาควรทำที่โล่ง อากาศปลอดโปร่ง ไม่ควรพรมน้ำเพราะทำให้ควันควบแน่น เผาเสร็จให้รีบปิดฝาเพื่อลดการฟุ้งกระจาย

 

Advertisment

ที่มา : มติชนออนไลน์