กรมควบคุมโรค เผยผู้ป่วยหวัดใหญ่ทะลุค่าเฉลี่ย 5 ปี เด็กป่วยเยอะสุด

ผู้ป่วยหวัดใหญ่

กรมควบคุมโรค เผยพบผู้ป่วยหวัดใหญ่แล้ว 4.55 หมื่นราย สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ป่วยเยอะสุด แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนป้องกันคู่กับโควิด-19

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2566 นี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตา โดย ณ วันที่ 1 พฤษภาคม มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ จำนวน 45,500 ราย มากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และมีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 1 ราย รวมถึงพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน 15 รายการ

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค

เด็กต่ำกว่า 5 ขวบป่วยหวัดใหญ่เยอะสุด

กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เป็นกลุ่มที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สูงสุดในช่วงที่ผ่านมา ตามด้วยกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งตามข้อมูลของกองระบาดวิทยา กลุ่มที่พบอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่

  • อายุ 0-4 ขวบ อัตราป่วย 346.2 ต่อประชากรแสนคน
  • อายุ 5-14 ปี อัตราป่วย 244.4 ต่อประชากรแสนคน
  • อายุ 15-24 ปี อัตราป่วย 51.2 ต่อประชากรแสนคน

จังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยสูง 10 อันดับแรก

  1. พะเยา อัตราป่วย 222.2 ต่อประชากรแสนคน
  2. แพร่ อัตราป่วย 219.1 ต่อประชากรแสนคน
  3. พัทลุง อัตราป่วย 216.8 ต่อประชากรแสนคน
  4. อุบลราชธานี อัตราป่วย 196.2 ต่อประชากรแสนคน
  5. ภูเก็ต อัตราป่วย 149.9 ต่อประชากรแสนคน
  6. นราธิวาส อัตราป่วย 126.3 ต่อประชากรแสนคน
  7. นครศรีธรรมราช อัตราป่วย 120.5 ต่อประชากรแสนคน
  8. มุกดาหาร อัตราป่วย 116.5 ต่อประชากรแสนคน
  9. น่าน อัตราป่วย 116.2 ต่อประชากรแสนคน

พื้นที่ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน

  • โรงเรียน 7 เหตุการณ์
  • เรือนจำ 5 เหตุการณ์
  • วัด 2 เหตุการณ์
  • ค่ายทหาร 1 เหตุการณ์

แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขณะนี้พบไวรัสสายพันธุ์ A/H3 ร้อยละ 53 มากที่สุด รองลงมาเป็น สายพันธุ์ B และ A/H1 2009 ร้อยละ 31 และ 16 ตามลำดับ

พร้อมเน้นย้ำให้ประชาชนและผู้ดูแลสถานที่ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเข้มงวดมาตรการป้องกันโรค ได้แก่ สวมหน้ากากเมื่อมีอาการป่วยเพื่อลดการแพร่เชื้อ ล้างมือบ่อย ๆ เลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัดหรือสวมหน้ากาก

ส่วนประชากรกลุ่มเสี่ยง คือ หญิงตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน ผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) โรคอ้วน

และผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422