ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอน คำชี้ขาดอนุญาโตฯคดีโฮปเวลล์ ชี้คดีขาดอายุความ

ศาลปกครอง

ศาลปกครองกลางพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวขาดอายุความตามกฎหมาย

วันที่ 18 กันยายน 2566 ศาลปกครองออกเอกสารข่าวเผยแพร่ว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552, 2038/2551, 1379/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366-368/2557 ระหว่าง กระทรวงคมนาคม ผู้ร้องที่ 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้องที่ 2 กับ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้านคดี สืบเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 81-83/2565 ประชุมใหญ่ ให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำขอพิจารณาคดีใหม่ของผู้ร้องทั้งสองไว้พิจารณา และให้พิจารณาคำขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีของผู้ร้องทั้งสองต่อไป

ศาลปกครองกลางเห็นว่า ผู้ร้องทั้งสองได้ทำสัญญาลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 กับผู้คัดค้าน ตามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานครและการใช้ประโยชน์จากที่ดินของผู้ร้องที่ 2 มีกำหนดเวลาสามสิบปีนับแต่สัญญามีผลบังคับ สัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ หลังจากการลงนามสัญญา ผู้ร้องทั้งสองเห็นว่าการก่อสร้างมีความล่าช้ามากไม่อาจแล้วเสร็จตามสัญญา ผู้ร้องทั้งสองจึงมีหนังสือลงวันที่ 27 มกราคม 2541 บอกเลิกสัญญากับผู้คัดค้านโดยผู้คัดค้านได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541

ซึ่งในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการต้องยื่นภายในอายุความตามกฎหมาย เมื่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 การเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่อคณะอนุญาโตตุลาการจึงต้องเสนอภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น และเมื่อผู้คัดค้านได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 ผู้คัดค้านจึงต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในวันที่ 30 มกราคม 2542 แต่ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอข้อพิพาทดังกล่าว

ในระหว่างนั้นมีการตรา พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาใช้บังคับแทน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 แต่ก็มิได้กำหนดเวลาในการเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเอาไว้ จึงต้องเป็นไปตามระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง การที่ผู้คัดค้านนำข้อพิพาทตามสัญญามายื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาหนึ่งปีตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ของคณะอนุญาโตตุลาการได้มีการตรา พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 51 เดิม และบัญญัติให้การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต้องยื่นฟ้องภายในห้าปีนับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี

บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติที่มีผลใช้บังคับกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทันที ทำให้ระยะเวลาการฟ้องคดีเปลี่ยนเป็นภายในห้าปีนับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ส่งผลทำให้ระยะเวลาการยื่นข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับผู้คัดค้านขยายเป็นภายในห้าปี

ซึ่งในการตีความปัญหาข้อกฎหมายและการปรับใช้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการนับระยะเวลาคดีนี้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ฉะนั้น จึงไม่อาจใช้วิธีการนับระยะเวลาตามระเบียบอื่น หรือแนวทางการตีความปัญหาข้อกฎหมายเพื่อวินิจฉัยคดีเป็นอย่างอื่นได้

ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 จึงมีสิทธิที่จะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 มกราคม 2546 แต่ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 จึงพ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไป 1 ปี 9 เดือนเศษ สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงขาดอายุความตามกฎหมาย

และโดยที่ปัญหาเรื่องอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องเป็นบทบัญญัติอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาได้ตามข้อ 92 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านยื่นพ้นเวลาไว้พิจารณา และมีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 จึงเป็นกรณีที่การยอมรับ หรือการบังคับตามคำชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอนและปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) และมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

ทั้งนี้ กรณีของผู้ร้องทั้งสองรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และครบกำหนดห้าปีในวันที่ 27 มกราคม 2546 การที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องแย้งต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 ขอให้มีคำชี้ขาดและบังคับให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายดังกล่าวที่ศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเช่นกัน

ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 ทั้งหมด และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ทั้งหมด

และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 กับให้คำสั่งศาลที่ให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 221-223/2562 ไว้ในระหว่างพิจารณาคดีใหม่มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมูลค่าที่รัฐต้องคืนให้กับโฮปเวลล์จากกรณีการยกเลิกสัญญาก่อสร้างโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Elevated Road and Train System-BERTS) เป็นวงเงินประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินต้นตามที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดไว้ที่ 11,888 ล้านบาท รวมอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี หรือเกิดขึ้นเฉลี่ยวันละ 2.4 ล้านบาท นับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินในปี 2551