ไปรษณีย์ไทยเปิดตัวแสตมป์ที่ระลึก 100 ปี ธงไตรรงค์ พร้อมชมนิทรรศการวิวัฒนาการธงชาติตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน

วันที่ 28 กันยายน 2560 เวลา 13.30 น. ไปรษณีย์ไทยจัดงานเปิดตัวแสตมป์เนื่องในโอกาศครบรอบ 100 ปี ธงไตรรงค์ และมีนิทรรศการในเรื่องของวิวัฒนาการของธงชาติไทยและแสตมป์ที่เกี่ยวกับธงชาติไทย รวมถึงการเข้าร่วมฟังเสนาความเป็นมาของธงชาติไทยตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ห้องไปรษณีย์ไทยนฤมิตร ชั้น 1 ไปรษณีย์กลาง บางรัก

โดยที่มาของธงไตรรงค์ในปัจจุบัน เกิดจากการแก้ปัญหาการใช้ธงช้างเผือกกลับหัว เริ่มใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 และเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลก ครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร รัชกาลที่ 6 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปลี่ยนรูปแบบธงชาติให้สอดคล้องกับธงของมหาอำนาจในฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกา ซึ่งต่างมีธงชาติแบบสามสี คือ แดง ขาว และน้ำเงิน พร้อมแก้ไขพระราชบัญญัติธง เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2460 พร้อมประกาศใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย

สำหรับธงชาติไทย มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งออกเป็น แถบสีแดงกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีขาวกว้างแถบละ 1 ส่วน แถบสีน้ำเงินขาบ (สีน้ำเงินเข้มเจือม่วง) ตรงกลาง กว้าง 2 ส่วน ความหมายของสีทั้งสามคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็น 3 เสาหลักของประเทศไทยอีกด้วย

ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยยังมีการจัดการเพื่อเฉลิมฉลองวาระดังกล่าว และมีการเปิดตัวแสตมป์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธงไตรรงค์

อาจารย์พฤฒิพล ประชุมผล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย กล่าวว่า ธงชาติเป็นอารยธรรมของต่างประเทศ ประเทศไทยไม่มีธงชาติแต่มีธงแดงเกลี้ยงเป็นสัญลักษณ์ประจำของเรือ ตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งสยามก็ได้นำธงแดงเกลี้ยงมาใช้เช่นกัน จึงทำให้ธงแดงเกลี้ยงเปรียบเสมือนเป็นธงชาติไทยในสมัยนั้น จนในสมัยรัชกาลที่ 1 ท่านทรงวางวงจักรบนผืนผ้าแดง จึงเป็นสัญลักษณ์ของธงชาติสยามแบบแรก โดยวงจักรยังถือเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์จักรี โดยใช้เฉพาะบนกำปั้นหลวงเท่านั้น ส่วนสามัญชนใช้ธงแบบแดงเกลี้ยงเช่นเดิม

“เมื่อขึ้นรัชกาลที่ 2 จึงได้นำช้างมาวางไว้กลางวงจักร ส่วนสามัญชนทั่วไปยังคงใช้ธงสีแดงเกลี้ยงเหมือนเดิม เมื่อขึ้นรัชกาลที่ 3-4 ประเทศไทยได้มีการค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น เมื่อประชาชนไปค้าขายที่สิงคโปร์ ไม่มีใครรู้ว่ามาจากท่าสยาม พอรัชกาลที่ 4 ทรงรับรู้เรื่อง จึงมีราชประสงค์ให้นำวงจักรออกเหลือเพียงช้างเผือกและขยายช้างให้ใหญ่ขึ้น จึงเป็นที่มาของธงช้างเผือกและเป็นธงแรกราษฏรได้ใช้ในฐานะชนชาติสยาม”

อาจารย์พฤฒิพล กล่าวต่อว่า ในวันที่ 13 กันยายน 2459 ได้มีการประดับธงกลับหัวรับเสด็จรัชกาลที่ 6 ที่จังหวัดอุทัยธานี การประดับธงกลับหัวในวันนั้น เป็นเหตุใหญ่หลังจากที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นธงกลับหัวซึ่งช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์ท่าน เมื่อช้างเผือกกลับหัวแสดงให้เห็นว่าช้างเผื่อตาย จึงทำให้เป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคล เมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จกลับ ชาวบ้านไม่มีธงมารับเสด็จ เพราะต้องสั่งจากยุโรป สามัญชนจึงได้นำผ้าสองสีที่เป็นสีแดงและสีขาวมาต่อกัน จึงเป็นที่มาของธงแดงขาวห้าริ้ว จึงเป็นธงแถบครั้งแรก ประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2459 และยุติการใช้ธงช้างมานับตั้งแต่ตอนนั้น

“เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 ประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมีสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งมีธงชาติสามสี พระองค์จึงประกาศให้เปลี่ยนแถบสีแดงตรงกลางธงแดงขาวห้าริ้วเป็นสีน้ำเงินแก่หรือสีขาบ เพื่อให้เป็นธงสามสีอย่างธงของประเทศมหาอำนาจ โดยประกาศใช้เป็นธงสยามในวันที่ 28 กันยายน 2460 เป็นต้นมา” อาจารย์พฤฒิพลกล่าว

ด้าน พลตรี กิตติศักดิ์ บุญสุข ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2460 รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานธงไตรรงค์เป็นครั้งแรก ทางรัฐบาลจึงเห็นว่าให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็นวันธงชาติไทย โดยถือว่าเป็นวันสำคัญแต่ไม่ได้เป็นวันหยุดราชการ

“ในวันที่ 28 กันยายน ของทุกปีจะมีการประดับธงชาติ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ปีนี้ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ของธงไตรรงค์ จึงให้มีการประดับต่อไปอีก 1 เดือน ทางด้านเพลงชาติไทยก็มีการปรับเปลี่ยนนำเสียงผู้หญิงเข้ามาขับร้องเพื่อให้มีความนุ่มนวลขึ้น ด้านภาพประกอบมีการปรับเปลี่ยน เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนรัชกาล แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนเนื้อเพลงชาติแต่อย่างใด” พลตรี กิตติศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีไทย จำกัด กล่าวถึงแสตมป์ที่ทำเกี่ยวกับธงชาติไทยว่า มีการจัดทำขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2510 เป็นแสตมป์ฉลองครบรอบ 50 ปี ธงชาติไทย ในครั้งนั้นได้ผลิตออกมาในชุด มี 2 ดวง ดวงแรกมีราคา 50 สตางค์ ดวงที่ 2 ราคา 2 บาท และตลอดเวลาที่ผ่านมายังได้มีภาพธงชาติไทยที่ทำออกมาใช้สำหรับงานทั่วไปอีกหลายชุด

“ในวาระครอบรอบ 100 ปี ธงชาติไทย ไปรษณีย์ไทยได้จัดทำแสตมป์ชุดพิเศษ ในภาพแสตมป์พื้นหลังเป็นพระราชวัง มีธงชาติไทยอยู่ตรงกลาง และด้านล่างจะเป็นธงชาติในรัชกาลต่างๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ดวงละ 3 บาท ใน 1 แผ่น มีทั้งหมด 10 ดวง แผ่นละ 30 บาท และมีซองที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เป็นภาพทหารถือธงซึ่งเป็นลายเส้นสีพระหัตถ์ของ รัชกาลที่ 6 ราคา 11 บาท แสตมป์ครบรอบ 100 ปีนี้ ผลิตมาจำนวน 500,000 ดวง แผ่นละ 10 ดวง 50,000 ชุด เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2560 เป็นต้นไป สามารถซื้อได้ที่ทำการไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศ” นางสมรกล่าว

นอกจากนี้ทางไปรษณีย์ไทยยังมีนิทรรศการกี่ยวกับวิวัฒนาการของธงชาติไทย และแสตมป์ที่เกี่ยวกับธงชาติทั้งหมด ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2560 นี้