ค้าปลีก”มือถือ”บุกออนไลน์ รับเทรนด์ขาช็อปอีคอมเมิร์ซ เพิ่มช่องขายรับตลาดเดือด

ค้าปลีก “มือถือ-ไอที” บุกตลาดออนไลน์รับเทรนด์ขาช็อปอีคอมเมิร์ซ “ทีจีโฟน-คอมเซเว่น-เจมาร์ท” แห่เพิ่มช่องทางขายเสริมช่องทางธุรกิจ งัดกลยุทธ์ “ออมนิแชนเนล” เชื่อมออนไลน์-ออฟไลน์ครบเครื่อง ยอมรับอุณหภูมิการแข่งขันสุดดุเดือด

นายไพโรจน์ ถาวรสภานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด หรือทีจีโฟน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดรวมยอดขายสมาร์ทโฟนในปีนี้น่าจะมียอดขายอยู่ที่ 20 ล้านเครื่อง หรือมีมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ถือว่าอยู่ในภาวะทรงตัวเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากตลาดค่อนข้างอิ่มตัว แต่การแข่งขันในตลาดกลับมีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีแบรนด์ใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก ขณะที่แบรนด์ที่ทำตลาดมาก่อนก็แข็งแรงขึ้น จึงมีโปรโมชั่นออกมาแข่งขันกันมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ราคา 10,000-15,000 บาท ประกอบกับนวัตกรรมในเครื่องระดับไฮเอนด์เริ่มเข้ามาในกลุ่มราคานี้ ส่งผลให้ยอดขายสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ทรงตัว ภาพรวมราคาเฉลี่ยของเครื่องขยับขึ้นมาอยู่ที่ 8,000-10,000 บาท แต่ระยะเวลาในการเปลี่ยนเครื่องของผู้บริโภคยังอยู่ที่ 1 ปีครึ่ง-2 ปี ส่วนการแข่งขันเพื่อดึงลูกค้าเข้าระบบของโอเปอเรเตอร์ก็ยังรุนแรง จากปัจจัยทั้งหมดส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เพราะลูกค้าต้องหาข้อมูลเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจค้าปลีกต้องทำการบ้านหนักขึ้น แค่พัฒนาช่องทางขายอย่างเดียวไม่พอ ต้องเพิ่มโปรโมชั่นเสริมเข้าไปอีก

อย่างไรก็ตาม แม้การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ในระยะสั้นและระยะกลางยังไม่กระทบกับธุรกิจค้าปลีกสมาร์ทโฟนมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องการบริการ เช่น สอนการใช้งาน, เซตอัพเครื่อง เป็นต้น อีกทั้งมีโปรโมชั่นหลากหลายมาก ทั้งจากฝั่งโอเปอเรเตอร์ที่ไม่สามารถทำบนออนไลน์ได้ รวมถึงรูปแบบการผ่อนชำระทำให้ราคาอาจถูกกว่าซื้อทางออนไลน์ ประกอบกับแบรนด์บางส่วนยังมองประสบการณ์ของลูกค้าสำคัญ จึงอยากให้มาซื้อผ่านตัวแทนขายหน้าร้านมากกว่า

นอกจากนี้ สินค้ายังมีราคาสูง ผู้บริโภคบางส่วนจึงยังไม่มั่นใจที่จะซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ประกอบกับพฤติกรรมคนไทยชอบเดินเล่นในห้าง การมีหน้าร้านจึงยังมีข้อได้เปรียบ แต่ในอนาคตการซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซและหน้าร้านไม่ต่างกัน ก็อาจส่งผลกระทบ ซึ่งธุรกิจต้องปรับตัว โดยใช้กลยุทธ์ “ออมนิแชนเนล” (omnichannel) เช่น ลูกค้าซื้อสินค้าทางออนไลน์ แต่ให้ไปรับหน้าร้าน หรือเปิดให้พรีออร์เดอร์ เป็นต้น จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายได้ โดยบริษัทเองในปีหน้าจะเริ่มทำอย่างเข้มข้น

“เรายังต้องการให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ตรง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้โปรโมชั่นต่าง ๆ ก็ยังทำออนไลน์ได้ไม่ครบถ้วน เราเข้ามาทำออนไลน์เพื่อซัพพอร์ตให้ธุรกิจมีความคล่องตัวขึ้น ในแง่ยอดขายคาดว่าในปีนี้จะทำได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ใกล้เคียงปีที่แล้ว และปีหน้าจะใช้ออมนิแชนเนลเต็มรูปแบบ ส่วนการขยายสาขาคาดว่าจะยังเปิดเพิ่ม แต่อาจต้องดูพื้นที่อีกครั้ง ยังไม่ชัดว่าจะเพิ่มอีกเท่าไร จากปัจจุบันมี 195 แห่ง”

Advertisment

ด้านนายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดสมาร์ทโฟนปีนี้น่าจะโตขึ้น 10% แต่บริษัทเติบโต 20% มากกว่าตลาดรวม คาดว่าในสิ้นปีจะมีรายได้ถึง 20,000 ล้านบาท เพราะมีสมาร์ทโฟนเกือบครบทุกแบรนด์ สำหรับภาพรวมตลาดไอที เช่น คอมพิวเตอร์ ก็ไปได้ดีจากกระแสบิตคอยน์ ขณะที่โน้ตบุ๊กยังขายได้ในราคาเฉลี่ยที่สูงขึ้น รวมทั้งแท็บเลตโตขึ้น ทำให้มั่นใจว่าในปีหน้าจะโตได้อีกมาก ขณะที่ภาพรวมการแข่งขันยังดุเดือดเหมือนเดิม เพราะแต่ละรายแข็งแรงขึ้น แต่ร้านเล็ก ๆ อาจต้องหาพันธมิตรเพิ่ม

“ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น 5-10% เพราะกำลังซื้อยังดีและต้องการสินค้าที่ดีขึ้น ดูได้จากในไตรมาส 3 ปกติเป็นช่วงโลว์ซีซั่น แต่ปีนี้ยังไปได้ดี ส่วนการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่เติบโตขึ้นมากตนมองว่าเป็นตัวเสริม โดยคอมเซเว่นใช้วิธีการทำตลาดแบบออมนิแชนเนล เช่น สั่งซื้อทางออนไลน์แล้วมารับหน้าร้าน หรือเมื่อไปที่สาขาแล้วของหมดก็จะมีการส่งให้ภายใน 3 ชั่วโมง เป็นต้น เราจะมีทั้งออนไลน์และออฟไลน์คู่กัน ตั้งเป้าว่าภายในปี 2563 สัดส่วนรายได้จากออนไลน์จะมีสัดส่วน 20% ของรายได้รวม จากปัจจุบันไม่ถึง 5% การจะทำออนไลน์อย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะต้องแข่งที่ราคา”

นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สัดส่วนการขายผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทยังอยู่ที่ประมาณ 5% และค่อย ๆ ขยับขึ้น โดยมีเว็บไซต์ www.smartitem.co.th ออกมารองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ขณะที่การแข่งขันในตลาดค้าปลีกก็รุนแรงขึ้น เนื่องจากเติบโตน้อย แต่เริ่มมีคู่แข่งรายใหม่ ๆ เช่น Banana IT เข้ามาทำตลาดสมาร์ทโฟนมากขึ้น รวมถึง Big Mobile ขณะที่การแข่งขันของแบรนด์มือถือเองก็มีสีสันขึ้นจากแบรนด์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะแบรนด์จีนที่แข็งแรงขึ้นในกลุ่มสินค้าราคา 8,000-10,000 บาท

สำหรับเจมาร์ทตั้งเป้ารายได้ปีนี้ไว้ที่ 12,500 ล้านบาท โตขึ้นจากปีที่แล้ว 20% จากสินค้าที่มีความหลากหลายขึ้น ล่าสุดมีกล้องดิจิทัล โดยขายผ่านร้าน J Camera ที่มี 10 สาขา และมีสินเชื่อ J Money เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ไม่สูง แต่ต้องการสมาร์ทโฟนรุ่นแฟลกชิป จึงช่วยกระตุ้นยอดขายรุ่นแฟลกชิปได้เพราะผ่อนได้นานสูงสุด 24 เดือน

Advertisment