ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ศึกยักษ์ชนยักษ์  

ดาต้าเซ็นเตอร์
FILE PHOTO : Elchinator จาก Pixabay

โควิดดันธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ไทยปี2563-2565 ทะลุ 32,000 ล้านบาท ล่าสุด กัลฟ์ จับมือ Singtel พัฒนาศูนย์ข้อมูลในไทยต่อยอดเสริมความแข็งแกร่งธุรกิจพลังงาน บีโอไอหนุนบริษัทลงทุนดาต้าไปแล้ว 9 บริษัท

วันที่ 3 ตุลาคม 2564 หลังจากบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาว่า ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ Singapore Telecommunications Limited (Singtel) เพื่อศึกษาและพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมลงทุนในสัดส่วนการถือหุ้น 50%เท่ากัน

ทำไมกัลฟ์ถึงลงทุนธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์

การประกาศความร่วมมือร่วมมือครั้งสำคัญนี้ กัลฟ์ ระบุว่า มองเห็นโอกาสจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศไทย จากการที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้ความต้องการในการจัดเก็บและจัดการข้อมูลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจากองค์กรในประเทศ และไฮเปอร์สเกลเลอร์ (Hyperscalers) ที่เข้ามาสู่ตลาดในประเทศไทย

โดยธุรกิจศูนย์ข้อมูลนี้จะบริหารจัดการ โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบกับการใช้พลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งกัลฟ์เชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดความแข็งแกร่ง ของกัลฟ์ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจผลิตไฟฟ้า รวมถึงพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่ Singtel มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจศูนย์ข้อมูลที่มีคุณภาพสูง และฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งและหลากหลายทั่วโลก ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจศูนย์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมเปิดโอกาสให้สามารถร่วมลงทุนขยายธุรกิจศูนย์ข้อมูลร่วมกับ Singtel ไปในภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย

Advertisment

ศึกยักษ์ชนยักษ์ ผู้เล่นเต็มสนาม

ความน่าสนใจ คือ ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งมีโครงการลงทุนด้านอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่อีอีซี  และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะผลักดันสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ทำให้พื้นที่การแข่งขันดาต้าเซ็นเตอร์ น่าสนใจขึ้นเท่าตัว

แน่นอนว่า พื้นที่การแข่งขันนี้ มีผู้เล่นรายหลักๆ อยู่แล้วทั้งผู้เล่นรายใหญ่จากต่างประเทศและในไทย ทั้ง CSL ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์รายใหญ่ในไทย ที่มีดาต้าเซ็นเตอร์ให้บริการ 11 แห่ง 9 สถานที่  ทั้งกรุงเทพ ปริมณฑลและต่างจังหวัด หรือ บริษัท เอ็นทีที  จำกัด ที่ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ แอฟริกา และเอเซีย ก็มีแผนจะขยายสาขาเพิ่มเติมในกรุงเทพ ประเทศไทยด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมี รัฐวิสาหกิจ อย่าง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที ที่ถือเป็นผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์รายใหญ่ของประเทศเช่นกัน ซึ่งหลักๆ ให้บริการแก่หน่วยงานรัฐ

รวมถึงทรูไอดีซี ที่มีศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ 5 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 4 แห่งและต่างประเทศ 1 แห่ง คือ 1.ศูนย์ทรู ไอดีซี – นอร์ท เมืองทองให้บริการครอบคลุมกรุงเทพฯ ตอนเหนือ 2.ดาต้าเซ็นเตอร์ที่ทรู ไอดีซี – มิดทาวน์ รัชดา 3.ทรู ไอดีซี – มิดทาวน์ พัฒนาการ ให้บริการครอบคลุมพื้นที่กลางกรุงเทพฯ 4. ทรู ไอดีซี – อีสต์ บางนา ให้บริการพื้นที่ทางตะวันออกของกรุงเทพฯ และ5.ทรู ไอดีซี-เมียนมาร์

Advertisment

อีกทั้งมีกลุ่มเทนเซ็นต์ คลาวด์ กลุ่มธุรกิจคลาวด์ภายใต้เทนเซ็นต์ ที่เพิ่งประกาศเปิดตัวศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Data Center) แห่งใหม่ในกรุงเทพฯ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ก็ได้ให้การสนับสนุนบริษัทที่ลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์ต่อเนื่อง โดยมีรายชื่อบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนแล้ว 9 บริษัท ได้แก่ บริษัท จั๊มเวย์ จำกัด บริษัท เจเนซิส ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท จำกัด บริษัท วันเอเซีย ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด(มหาชน) บริษัท เอ็นทีที โกลบอล ดาต้า เซ็นเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอ็นทีที จีดีที (ประเทศไทย) จำกัด

มูลค่าดาต้าเซ็นเตอร์ใหญ่แค่ไหน

“โอฬาร เอื้อวิทยาศุภกร” นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ทำหน้าที่ในการรับ จัดเก็บ ประมวลผล และส่งออกข้อมูล มีองค์กอบสำคัญ 3 ส่วน คือ 1.โครงสร้างอาคาร ดาต้าเซ็นเตอร์ 2.ระบบและอุปกรณ์ไอที และ 3. บุคลากร ทำหน้าที่ควบคุมและดูแลระบบ

ขณะที่ผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจ ดาต้าเซ็นเตอร์ กลายเป็นอีกธุรกิจที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 3 ส่วน ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้บริโภคในปัจจุบันหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น 2. ดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่น หรือการนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ ให้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

และ 3 ภาครัฐมีแนวโน้มผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์กลาง ของภาครัฐ รวมถึงการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียน

ทั้งนี้ EIC ประเมินว่ามูลค่าตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย ปี2563-2565 จะมีแนวโน้มเติบโต 20%หรือมีมูลค่า 32,000 ล้านบาท

ขณะที่การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากการเข้ามาของผู้ให้บริการจากต่างประเทศถือเป็นอีกปัจจัย ที่ต้องจับตามองและอาจก่อให้เกิดการแย่งชิงตลาดโดยใช้กลยุทธ์ทั้งด้านการบริการที่มีความหลากหลายสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการที่แตกต่างกันได้ ด้านความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้บริการในประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับ

รวมถึงการแข่งขันด้านราคาเนื่องจากเป็นบริษัทขนาดใหญ่มีงบประมาณการลงทุนสูง โดยผู้ให้บริการ จากต่างประเทศที่มีแผนขยายตลาดในไทย ได้แก่ STT-GDC ที่จับมือกับกลุ่ม Fraser, Huawei, NTT, Supernap, Tencent cloud และ KT Corporation เป็นต้น

จากข้อมูล EIC ยังระบุว่า ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ในไทยยังเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ เช่น Amazon, Google, Microsoft และ Alibaba เป็นต้น