แพลนต์เบส…ปรับฐาน ธุรกิจ ‘โตรวด-ร่วงแรง’

คอลัมน์ : Market Move

กระแสแพลนต์เบสโปรตีนหรือการนำพืชมาผลิตเป็นวัตถุดิบทดแทนเนื้อสัตว์ อย่างเนื้อบด ไส้กรอก ฯลฯ ที่มาแรงต่อเนื่องในวงการอาหารตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา กลับกำลังแผ่วลงอย่างรวดเร็วในปีนี้ จนราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตแพลนต์เบส อาทิ บียอนด์มีต (Beyond Meat) และโอตลี่ (Oatly) ลดลงไปมากกว่า 50% ของราคาเมื่อปีที่แล้ว

สำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานว่า ขณะนี้ราคาหุ้นของบียอนด์มีตต่ำกว่าราคาสูงสุดเดิมถึง 87% ส่วนหุ้นของโอตลี่มีสภาพไม่ต่างกันโดยซื้อขายกันต่ำกว่าราคาไอพีโอไปถึง 80% แล้ว ส่งผลให้มูลค่าของทั้ง 2 บริษัทลดลงจากระดับ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียงประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารคาดว่าเป็นเพราะความนิยมของผู้บริโภคเริ่มลดลง สะท้อนจากข้อมูลของบริษัทวิจัยนีลเส็นที่ระบุว่า ยอดขายปลีกสินค้าแพลนต์เบสในช่องทางต่าง ๆ ไม่เติบโตมานานกว่า 52 สัปดาห์ (สิ้นสุด 30 เมษายน 2565) ต่อเนื่องกันแล้ว

สอดคล้องกับข้อมูลของบริษัทวิจัยไออาร์ไอ ที่เปิดเผยว่า ในช่วง 52 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณการขายสินค้าทดแทนเนื้อสัตว์ลดลง 5.8% เช่นเดียวกัน

ขณะที่การแข่งขันสูงขึ้น หลังกระแสฮิตช่วงต้นของการระบาด ผู้บริโภคจำนวนมากต่างมองหาวัตถุดิบใหม่ ๆ มาทำอาหาร ผลักดันให้บรรดาผู้เล่นในตลาดเติบโตแบบก้าวกระโดด

Advertisment

และสามารถระดมเงินทุนจากทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯได้แบบเป็นกอบเป็นกำนั้น ดึงดูดให้ผู้เล่นหน้าใหม่ตบเท้าเข้าสู่ตลาดหวังชิงส่วนแบ่งเม็ดเงินเหล่านี้ แม้แต่ “ไทสัน ฟูดส์” หนึ่งในผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ยังเปลี่ยนจากการลงทุนในบียอนด์มีตหันมาปั้นแบรนด์สินค้าแพลนต์เบสของตัวเองขึ้น

“มิเชล อูคอยน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทอีตแอนด์บียอนด์โกลบอล ซึ่งลงทุนในบริษัทแพลนต์เบสหลายแห่ง ที่กล่าวว่า จุดเปลี่ยนของตลาดเกิดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

เมื่อ “เมเปิลลีฟ ฟูดส์” หนึ่งในผู้ผลิตแพลนต์เบสออกมาส่งสัญญาณถึงอัตราเติบโตของสินค้าหมวดนี้ที่เริ่มลดลงอย่างรวดเร็วต่อเนื่องกันถึง 6 เดือน และบริษัทกำลังทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่

หลังการส่งสัญญาณนี้เพียงสัปดาห์เดียวบียอนด์มีตได้รายงานผลประกอบการที่ไปในทิศทางเดียวกันออกมา และจนถึงไตรมาสแรกของปี 2565 ผลประกอบการของบียอนด์มีตยังคงขาดทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งมากกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ ถือเป็นการขาดทุนสูงกว่าที่คาดติดต่อกันถึง 9 เดือนแล้ว

Advertisment

โดยบียอนด์มีตให้เหตุผลว่า การขาดทุนนี้เป็นผลจาก 3 ปัจจัย คือ การชะลอตัวของตลาด ผู้บริโภคเปลี่ยนจากสินค้าแช่เย็นเป็นแช่แข็ง และการแข่งขันราคาที่ดุเดือดขึ้น ไปในทิศทางเดียวกับโอตลี่ที่เสียส่วนแบ่งตลาดไปหลังผู้เล่นรายใหญ่หันมาทำตลาดแพลนต์เบส พร้อมความได้เปรียบด้านต้นทุนจากขนาดธุรกิจที่เหนือกว่าผู้เล่นหน้าใหม่มาก

ด้าน “สตีฟ คาฮิลเลน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเคลล็อกซ์ ซึ่งถือหุ้นใน “มอร์นิ่งสตาร์ ฟาร์มส์” ผู้ผลิตสินค้าทดแทนเนื้อสัตว์รายใหญ่

และเป็นเจ้าตลาดด้วยส่วนแบ่งด้านมูลค่าถึง 27% นำหน้าบียอนด์มีตและอิมพอสซิเบิลฟู้ดที่มีส่วนแบ่ง 20% และ 12% ตามลำดับ อธิบายว่า อุตสาหรรมแพลนต์เบสกำลังเข้าสู่ช่วงปรับฐานซึ่งเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในอุตสาหกรรมใหม่ที่เติบโตรวดเร็วในช่วงเริ่มต้น

เนื่องจากก่อนหน้านี้ตลาดเติบโตแบบไม่สมเหตุสมผล และมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาจำนวนมาก นำไปสู่การแข่งขันชิงพื้นที่ชั้นวางสินค้ากันอย่างดุเดือด รวมถึงการทดลองสินค้าและเทคนิคการตลาดหลากหลาย ความชุลมุนนี้ทำให้บางครั้งมีสินค้าที่อาจไม่ดีนักเข้ามาในชั้นวาง

อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายยังเชื่อมั่นว่าตลาดจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งแม้จะไม่หวือหวาเท่าก่อนหน้านี้ เห็นได้จากการเติบโต 85% ในช่วงไตรมาส 4 ของ “อิมพอสซิเบิลฟู้ด”

เนื่องจากการรุกเข้าสู่ช่องทางร้านชำ นอกจากนี้ “โจส เททริก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจัสเอก บริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบทดแทนไข่ไก่รายใหญ่ของสหรัฐ ด้วยส่วนแบ่งตลาดถึง 95% ระบุว่า ตลาดวัตถุดิบทดแทนเนื้อสัตว์ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก จากการสร้างการรับรู้กับผู้บริโภคและขยายฐานลูกค้าไปในกลุ่มร้านอาหาร

เป็นไปในทิศทางเดียวกับอูคอยน์ ที่เชื่อว่า ผู้บริโภคจะกลับมาสนใจวัตถุดิบแพลนต์เบสอีกครั้งเช่นเดียวกับบรรดานักลงทุน และจะทำให้ตลาดกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่คงไม่ร้อนแรงเหมือนช่วงก่อนหน้า เพราะครั้งนี้ในตลาดน่าจะเหลือแต่ผู้เล่นรายหลัก ๆ เท่านั้น

เมื่อตลาดเกิดใหม่นี้เริ่มเข้าสู่ภาวะสะเด็ดน้ำแล้ว ปีหน้าอาจได้เห็นการควบรวมกิจการเกิดขึ้น รวมถึงได้เห็นตัวผู้เล่นรายหลักตัวจริงของตลาดอีกด้วย