ว้าว “เอาต์แลนเดอร์ปลั๊ก-อิน” มิตซูเคาะ 2 ล้าน ขึ้นไลน์ผลิตโรงงานแหลมฉบัง

มิตซูบิชิขึ้นไลน์ผลิต PHEV โรงงานแหลมฉบัง ระบุปีหน้าคลอดโมเดลแรก “เอาต์แลนเดอร์ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด” ราคาต่ำกว่า 2 ล้าน มั่นใจโกยยอดในไทยอื้อ หลังบีโอไอไฟเขียวลงทุน

นายเอกอธิ รัตนอารี กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ สายงานขายในประเทศและบริการหลังการขาย บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มิตซูบิชิพร้อมขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์ PHEV หรือปลั๊ก-อิน ไฮบริด โดยจะใช้โรงงานแหลมฉบังเดินเครื่องโมเดลแรก หลังบีโอไอไฟเขียวเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะเปิดตัวได้ภายในปี 2563 ราคาจำหน่ายไม่น่าเกิน 2 ล้านบาท

“เราเตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่วิศวกรรมและการผลิต สิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้ คือ การเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากร ทีมช่าง พนักงานขาย พนักงานบริการ ให้มีความพร้อมสูงสุด

สำหรับลูกค้า รวมถึงการศึกษาโอกาสเพื่อเตรียมความพร้อมในส่วนของสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อดำเนินการร่วมกันในอนาคต”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ตัวแรกของมิตซูบิชิ ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ในปีหน้า คือ รุ่น “เอาต์แลนเดอร์ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด”

Advertisment

ซึ่งก่อนหน้านี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้มีการนำเข้ามาเพื่อทดลองใช้งานในประเทศไทยมาพักใหญ่แล้วกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ สายงานขายในประเทศและบริการหลังการขายมิตซูบิชิ กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมของตลาดรถยนต์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีการเติบโต 9.3% และมิตซูบิชิเองมีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกับตลาดมิตซูบิชิโต 12%

ขณะที่รถยนต์รุ่นใหม่ที่เพิ่งแนะนำออกสู่ตลาดไปก่อนหน้านี้อย่างมิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ยังคงได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยเป็นอย่างดี ปัจจุบันมียอดขายอยู่ราว 1,200-1,300 คันและบริษัทได้พยายามที่จะเจรจากับโรงงานประกอบที่อินโดนีเซีย เพื่อขอโควตาเพิ่ม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวไทยได้มากขึ้น

“ก่อนหน้านี้ ความต้องการขายรถยนต์ประเภทครอสโอเวอร์ และเอ็มพีวี มีความต้องการอยู่ราว 700-800 คันต่อเดือน แต่หลังจากบริษัทได้แนะนำเอ็กซ์แพนเดอร์ สามารถสร้างกระแสและความนิยมในตลาด ให้ความต้องการของรถประเภทนี้ขยับขึ้นไปถึง 2,000 คันต่อเดือน และมิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ มีส่วนแบ่งอยู่ 53% ของตลาดรถประเภทนี้”

ส่วนผลกระทบจากมาตรการความเข้มงวดทางด้านการเงิน ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อตลาดมากนัก และมิตซูบิชิเองมี “มิตซูบิชิ ลิสซิ่ง” ไว้รองรับและให้บริการลูกค้าอยู่ และมิตซูบิชิยังยืนยันเป้าหมาย ส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 8% ส่วนความต้องการของตลาดรถยนต์โดยรวมน่าจะมีมากกว่า 1 ล้านคัน

Advertisment

ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัวรถยนต์มิตซูบิชิ ไทรทัน รุ่นตัวเตี้ยหน้าใหม่ ขับเคลื่อนสองล้อ 3 รุ่น คือ ซิงเกิลแค็บ เมกะแค็บและดับเบิลแค็บ ประกอบด้วย 4 รุ่นย่อย และอีก 1 รุ่นย่อยใหม่ คือ ซิงเกิลแค็บ 4WD 2.4GL 6AT เกียร์อัตโนมัติ ในงานฟาสต์ ออโต้ โชว์ ไทยแลนด์ 2019 และจะจำหน่ายที่เครือข่ายผู้จำหน่ายทั่วประเทศในวันที่ 1 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป

ส่วนความคืบหน้าของการปรับเครื่องยนต์เพื่อให้รองรับกับน้ำมันบี-20 นั้น ขณะนี้มิตซูบิชิอยู่ระหว่างการดำเนินการกับบริษัทแม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1-2 เดือน จึงจะได้ข้อสรุป

สำหรับโปรเจ็กต์กิจการการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) ก่อนหน้านี้ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้อนุมัติส่งเสริมให้กับ

มิตซูบิชิ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 3,130 ล้านบาท โดยการอนุมัติส่งเสริมนั้น ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทุกค่ายนั้นจะต้องใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตภายในประเทศ 1 ใน 4 ของชิ้นส่วนที่สำคัญ คือ 1.แบตเตอรี่ 2.traction motor 3.ระบบการบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) 4.ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) โดยจะพัฒนาชิ้นส่วนหรือนำเข้าชิ้นส่วนบางประเภท แล้วนำมาผลิตในประเทศได้

อนึ่ง ผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับส่งเสริมจากบีโอไอให้ผลิตรถยนต์ประเภท BEV หรือไฟฟ้า 100% แต่ต้องการผลิตรถยนต์ HEV สามารถยื่นเรื่องขอบีโอไอ

เพิ่มเติมได้ โดยขณะนี้มีการอนุมัติส่งเสริมไปแล้ว 9 ราย รวมมูลค่า 51,550 ล้านบาท แบ่งเป็น รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) จำนวน 4 ราย ได้แก่ มิตซูบิชิ มูลค่า 3,130 ล้านบาท เมอร์เซเดส-เบนซ์ มูลค่า 500 ล้านบาท บีเอ็มดับเบิลยู มูลค่า 400 ล้านบาท เอ็มจี มูลค่า 1,000 ล้านบาทรถไฟฟ้าแบบไฮบริด (hybrid electric vehicle) หรือ HEV จำนวน 4 ราย โตโยต้า มูลค่า 19,016 ล้านบาท, มาสด้า มูลค่า 11,481.6 ล้านบาท, นิสสันมูลค่า 10,960 ล้านบาท, ฮอนด้า มูลค่า 5,820 ล้านบาทส่วนรถยนต์ไฟฟ้า 100% (battery electric vehicle) หรือ BEV จำนวน 1 ราย ฟอมม์ มูลค่า 700 ล้านบาท และผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า10 โครงการ มูลค่า 6,800 ล้านบาท