มิตซูฯลั่นเมืองไทยต้อง “พีเอชอีวี” เร่งผุดสถานีชาร์จ

มิตซูบิชิระบุชัดรถยนต์พีเอชอีวี เหมาะสมกับไทยในปัจจุบันมากที่สุด พร้อมเร่งทุกฝ่ายร่วมมือกันเดินหน้าอย่างจริงจัง ผุดสถานีชาร์จและระบบรองรับต่าง ๆ เผยแผนลงทุน 7 พันล้าน ผุดโรงพ่นสี ยังเดินหน้าต่อเนื่อง คาดปีหน้าแล้วเสร็จ หวังช่วยเสริมเขี้ยว ศักยภาพการผลิตในภูมิภาค ตามโรดแมปบริษัทแม่

นายโมะริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงนโยบายการผลักดันเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยนั้นถือเป็นนโยบายที่ดี แต่ทั้งนี้ การจะให้เกิดการใช้งานแพร่หลายต้องได้รับการผลักดันและส่งเสริมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ สถานีชาร์จ จำนวนที่ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น และยุโรป และหากจะดูแผนการติดตั้งของประเทศไทยในอนาคตก็ยังถือว่าน้อย

ประกอบกับการผลักดันให้รถอีวีเกิดขึ้นนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากค่ายรถและชิ้นส่วน โดยเฉพาะชิ้นส่วนไฟฟ้าต้องมียอดผลิตให้ได้อีโคโนมีออฟสเกลซึ่งยังถือเป็นโจทย์ใหญ่ ที่สำคัญ อีกด้านคือปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่หากพิจารณาจริง ๆ รถยนต์ไฟฟ้ายังมีการปล่อยคาร์บอนนิวตรอน และ CO2 ซึ่งหากพิจารณาแบบนี้ รถอีวีอาจจะเป็นรถไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในขณะนี้ เนื่องจากรถยนต์อีวีไม่ได้ปล่อย CO2 แต่กระบวนการผลิตไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งต้องใช้กำลังไฟฟ้าเป็นจำนวนมากก่อให้เกิด CO2 นั้น ประเทศไทยจำเป็นจะต้องใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และขณะนี้รัฐบาลศึกษาอยู่ว่าจะผลักดันไปได้อย่างไรเพื่อร่วมกันทำให้รถอีวีแพร่หลาย

สำหรับมิตซูบิชิมองว่าขณะนี้รถยนต์พีเอชอีวี เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด บริษัทจึงได้ตัดสินใจนำรถมิตซูบิชิ เอาท์แลนด์เดอร์ พีเอชอีวี เข้ามาผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย และจากการสนับสนุนของรัฐบาล ทำให้สามารถทำราคาได้ใกล้เคียงรถยนต์เครื่องสันดาปภายใน แต่ทั้งนี้เชื่อว่าการสร้างตลาดรถพีเอชอีวี ให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายได้นั้น ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันทั้งค่ายรถยนต์ รัฐบาล เพื่อให้มีตัวเลือกมากขึ้นด้วย

ส่วนแผนการลงทุนมูลค่า 7,000 ล้านบาท ที่บริษัทได้ลงทุนไปเมื่อปีที่ผ่านมา สำหรับก่อสร้างโรงงานพ่นสีรถยนต์แห่งใหม่ ซึ่งยังมีกระบวนการและรายละเอียดต่าง ๆ อยู่มาก คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า

Advertisment

และในช่วง 1-2 ปีนี้ บริษัทจะยังไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื่องจากต้องรอดูความชัดเจนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งยังส่งผต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทแม่ในภูมิภาคอาเซียน

โดยเฉพาะแผนการเข้าไปลงทุนในเมียนมา ซึ่งยังต้องชะลอออกไปแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากสถานการณ์ภายในเมียนมาและโควิด แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายชัดเจนที่จะเดินหน้าลงทุนในประเทศภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต

ปัจจุบันมิตซูบิชิมีโรงงานผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้กระจายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประเทศไทย มีกำลังผลิต 440,000 คันต่อปี อินโดนีเซีย มีกำลังผลิตกว่า 200,000 คันต่อปี ฟิลิปปินส์ 50,000 คัน และเวียดนาม 10,000 คัน

ส่งผลให้ปัจจุบันมิตซูบิชิมีกำลังผลิตรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียนกว่า 700,000 คันต่อปี เป็นภูมิภาคที่มีการผลิตขนาดใหญ่รองจากญี่ปุ่น ซึ่งมีกำลังผลิต 1.4 ล้านคันต่อปี และไทยถือเป็นประเทศที่มีกำลังผลิตมากเป็นอันดับ 2 รองเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น แม้ว่าปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์ของโควิด-19 จะทำให้ไทยมีการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 230,000 คัน และรวมกับการประกอบ CKD อีก 20,000 คัน รวมปี 2563 ที่ผ่านมา มิตซูบิชิมียอดผลิตทั้งสิ้น 250,000 คัน สำหรับรองรับความต้องการภายในประเทศ และตลาดส่งออก

Advertisment

“ตอนนี้การลงทุนของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และเมียนมานั้น เราคงต้องชะลอออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ต่าง ๆ ให้แน่ชัดที่สุด มิตซูบิชิมองว่าอนาคตภูมิภาคอาเซียนจะเป็นตลาดหลักที่สำคัญ เราจึงจำเป็นต้องมีการกระจายการลงทุนออกไปให้ทั่วภูมิภาค เป็นการมองธุรกิจระยะยาว ๆ”

นอกจากนี้ นายชกกิยังกล่าวถึงการปรับโครงสร้างภายในบริษัทว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป ตนเองจะขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัท เพื่อรับผิดชอบงาน CORPORATE GOVERNANCE AND FAIR ธรรมาภิบาลบริษัท เพื่อดูแลให้มิตซูบิชิ ประเทศไทย มีความแข็งแรงและสามารถขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ให้เติบโต

โดยที่ นายเออิอิชิ โคอิโตะ รองกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ สายงานขายในประเทศ และบริการหลังการขาย บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ ได้เปิดเผยถึงนโยบายของบริษัทจากนี้ว่า จะมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้กับรถยนต์มิตซูบิชิ และแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่ง โดยมุ่งเน้นให้พนักงาน-ลูกค้ามีความสุขกับมิตซูบิชิ

“เราไม่ได้มองที่จำนวนยอดขายหรือมาร์เก็ตแชร์เป็นผลลัพธ์สุดท้าย แต่เราโฟกัสทำให้ลูกค้าเข้าใจ พึงพอใจในสินค้าของเรา สิ่งสำคัญอยากเป็นแบรนด์ที่ซื้อไปแล้วต้องดีใจ พึงพอใจต่อบริการหลังการขาย ลูกค้าพึงพอใจกับมิตซูบิชิ ไทยยังมีลูกค้าที่ยังไม่เคยสัมผัสมิตซูบิชิเป็นจำนวนมาก เราอยากสร้างแบรนด์มิตซูบิชิได้ถูกสื่อสารไปยังกลุ่มนี้”

ส่วนปีนี้ มิตซูบิชิประเมินสถานการณ์ของตลาดรถยนต์ว่า น่าจะมียอดขายอยู่ที่ 830,000-850,000 คัน ส่วนมิตซูบิชิยังไม่สามารถเปิดเผยเป้าหมายยอดขายในปีนี้ได้ เนื่องจากต้องรอดูสถานการณ์โดยรวมอีกครั้ง

ที่สำคัญ นโยบายหลักที่ต้องการมุ่งเน้นคือ การสร้างแบรนด์แวลู ส่วนปัญหาผลกระทบจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น บริษัทไม่ได้รับผลกระทบกับปัญหาดังกล่าวมากนัก และในเดือนมกราคมที่ผ่านมาบริษัทมีการประชุมระดับโกลบอลรายวัน สถานการณ์นี้ยังตึงตัวอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ยืนยันว่าไม่ได้ส่งผลกับการผลิตของบริษัท