สำนักนายกรัฐมนตรีออกตัว ลูกสาวเศรษฐา ไม่ใช้เงินราชการแม้แต่บาทเดียว

เศรษฐา ทวีสิน

นัทรียา รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายบริหาร แจงจ้างบินไทยเหมาลำ 30 ล้านบาทไปยูเอ็น ไม่แพง ยันลูกนายกฯเศรษฐา ควักเงินส่วนตัวชำระทุกอย่างเอง-ไม่ใช้ของราชการแม้แต่บาทเดียว

วันที่ 19 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งช้ากว่าไทย 11 ชั่วโมง น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ชี้แจง ถึงการวิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อจัดจ้างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รับขนคนโดยสารทางอากาศโดยเครื่องบินพาณิชย์เพื่อปฏิบัติภารกิจ การเดินทางไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน 2566 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พร้อมคณะ

เส้นทาง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ-กรุงโตเกียว (ฮาเนดะ)-นครนิวยอร์ก-กรุงโตเกียว (ฮาเนดะ)-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ (ไป-กลับ) ราคา 30 ล้านบาท โดยวิธีเฉพาะเจาะว่า เนื่องจากเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการนำเสนอและจัดหาพาหนะสำหรับการเดินทางปฏิบัติภารกิจราชการในต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี

น.ส.นัทรียากล่าวถึงกรณีสังคมสงสัยว่าเป็นการเช่าหมาลำที่มีราคาแพงเกินไปหรือไม่ ว่า การเช่าเหมาลำในครั้งนี้ เราพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ

โดยเปรียบเทียบกันระหว่างการใช้เครื่องของกองทัพอากาศ (ทอ.) กับการใช้เครื่องเช่าเหมาลำ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้ว เครื่องของกองทัพอากาศ หรือ airbus 350 ซึ่งภายในมีที่นั่งเฟิร์สคลาส 6 ที่นั่ง บิสสิเนสคลาส 30 ที่นั่ง แต่ใช้งานได้เพียง 15 ที่นั่ง ด้านหลังเป็นอีโคโนมีคลาส สภาพภายในเป็นไปตามสภาพ

Advertisment

“ทอ.เสนอราคามาแพงกว่าการบินไทย ประการที่สอง ทอ.ไม่สามารถประกันได้ว่า เมื่อถึงเวลาเดินทางแล้วเกิด ทอ.ติดภารกิจขึ้นมา เขาไม่สามารถให้บริการเราได้ แม้กระทั่ง 1 วันล่วงหน้าก็สามารถทำได้ ทีนี้ก็จะเกิดปัญหา ภารกิจต่าง ๆ ก็จะล่ม ไม่สามารถจัดการบริหารได้ทันเวลา” น.ส.นัทรียากล่าว

น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร
น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร

“บอกเลย ทอ.เสนอราคามา 32 ล้านบาท ซึ่งราคา ณ วันที่ ทอ.เสนอมา ตอนนั้นยังไม่ได้คิดค่าน้ำมันที่สูงขึ้น เดิมการบินไทยเสนอราคามา 25 ล้านบาทด้วยซ้ำ แต่มาเพิ่มเป็น 30 ล้านบาท เพราะว่า ทางสหรัฐ ที่เราต้องมาเติมน้ำมันเขาแจ้งว่าราคาน้ำมันสูงขึ้น และที่โตเกียวด้วย ก็เลยต้องบวกขึ้นมา 5 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ถ้าใช้ ทอ. มันอาจจะเป็นเกือบ 40 ล้านบาทก็เป็นได้” น.ส.นัทรียากล่าว

น.ส.นัทรียากล่าวว่า ส่วนที่สอง ราคาเครื่องบินของการบินไทยเอาราคากลางแต่ทำไมถึงใช้วิธีเฉพาะเจาะจง เราเฉพาะเจาะจงของการบินไทยเพราะว่า เป็นการบินตรงกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก และบริการต่าง ๆ เคยทำให้กับข้าราชการมาก่อน การโคดราคาต่าง ๆ ก็เป็นไปตามความจริง

“ขอเคลียร์ประเด็นเรื่องค่าอาหารทำไมสูงนัก ค่าอาหาร การบินไทยคิดตามปกติที่คิดกับเครื่องบินพาณิชย์ทั่วไปเลย อาหารที่เสิร์ฟบนเครื่องบินไม่ใช่อาหารที่เรารับประทานกันทั่วไป

Advertisment

ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ ไม่ให้เกิดอาการท้องเสีย มีเชื้อ ต้องผ่านกระบวนการให้มันสะอาด สามารถผ่านขึ้นมาเสิร์ฟบนเครื่องได้ มันก็จะมีราคาที่มันไม่เท่ากับอาหารทั่วไปที่เราทาน เพราะฉะนั้นค่าอาหารที่เฉลี่ย ที่เขาคิดว่าเกือบล้านห้า เฉลี่ย 50 คน ตกหัวละ 30,000 บาทระหว่างไปกลับ เป็นราคาปกติทั่วไปที่เขาเสิร์ฟกัน เพราะเขาใช้มาตรฐานเท่ากันหมด” น.ส.นัทรียากล่าว

เมื่อถามว่า มีกระแสโซเซียลมีเดียว่าคณะผู้ติดตามมีบุคคลใกล้ชิด มีนักธุรกิจจะชี้แจงอย่างไร น.ส.นัทรียากล่าวว่า ผู้โดยสารจะมีในส่วนของคณะทางการและผู้โดยสารที่ติดเครื่องมา

“อย่างบุตรสาวของนายกรัฐมนตรี (ชนัญดา ทวีสิน) ท่านชำระทุกอย่างเอง ไม่ว่าค่าเครื่องบิน ก็ชำระตามเกณฑ์ ตามหลักค่าใช้จ่ายเลย ค่าอาหารก็ใช้เงินส่วนตัวในการชำระทุกอย่าง ไม่ได้ใช้อะไรของราชการแม้แต่บาทเดียว เป็นหลักตาม พ.ร.บ.ของทำเนียบที่ใช้กับคนทั่วไปปฏิบัติ” น.ส.นัทรียากล่าว

“และบุตรสาวท่านนายกฯที่มาภารกิจ ก็เพราะท่านภริยาท่านนายกฯ (พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน) มาด้วย เพราะทางสหรัฐเชิญคู่สมรสมาด้วย และท่านภริยาก็มีภารกิจของคู่สมรส ท่านจะไปดูศูนย์บริการบริหารผู้สูงวัยของสหรัฐ

และไปดูชุมชนไทยที่เป็นอยู่และมีปัญหา ซึ่งบุตรสาวท่านภริยานายกฯก็จะไปช่วยศึกษาและไปช่วยดูแล ท่านไม่มีภารกิจใด ๆ เกี่ยวข้องกับราชการหรือภารกิจของท่านนายกรัฐมนตรีเลย” น.ส.นัทรียากล่าวและว่า

“ถ้าพูดง่าย ๆ คือ มาดูแลคุณแม่ และมาช่วยภารกิจของคุณแม่ มาศึกษาเรื่องการดูแล การบริหารศูนย์ผู้สูงวัย เพราะเมืองไทยมีปัญหาเรื่องการจัดการผู้สูงวัย ท่านก็สนใจเรื่องนี้ คุณแม่มาดู ท่านก็มาช่วย” น.ส.นัทรียากล่าวเมื่อถามว่า ไม่มีเอกชนร่วมคณะมาด้วยใช่หรือไม่ น.ส.นัทรียากล่าวว่า “ไม่มีเลย เอกชนมาก็เดินทางของเขามาเอง”

น.ส.นัทรียากล่าวว่า ที่สำคัญเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัย โดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นแขกของผู้นำของสหรัฐ จึงมีหน่วยงาน Secret Service จาก Homeland Security ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่คุ้มกัน ตั้งแต่เครื่องแตะพื้น ซึ่งจะทำให้เครื่องบินที่นายกรัฐมนตรีโดยสารมาต้องจอดบนลานจอด เพื่อให้หน่วย Secret service ดูแลระบบรักษาความปลอดภัย นับตั้งแต่เครื่องลงจอด นายกรัฐมนตรีลงจากเครื่อง จนนายกรัฐมนตรีและคณะขึ้นรถ

ถ้าหากนายกรัฐมนตรีโดยสารเครื่องพาณิชย์จะทำให้กระทบผู้โดยสารทั่วไป ที่ต้องเสียเวลารอกระบวนการ อย่างต่ำ 1 ชั่วโมงกว่าจะได้ไปลงที่อาคาร

ซึ่งส่งผลกระทบเป็นอย่างมากกับผู้โดยสารท่านอื่น หากต้องขึ้นเครื่องบิน Connecting Flight หรือผู้โดยสารที่เร่งรีบในการเดินทาง นอกจากผลกระทบต่อผู้โดยสารบนเครื่องแล้ว อาจทำให้เกิดกรณีฟ้องร้องและชดใช้ได้