“ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภาคนใหม่ จิตอาสา-ตามรอยรัฐประศาสโนบาย ร.9

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 วันที่ 25 พ.ค. มีมติเห็นชอบให้นายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและยังเป็นประธานรัฐสภา ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยคะแนนเสียง 258 คะแนน ต่อ 235

“ประชาชาติธุรกิจ” ขอนำบท “สัมภาษณ์พิเศษ” นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และ “ว่าที่” ประธานรัฐสภาคนใหม่ ที่น้อมนำพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และยึดถือปฏิบัติตลอดเส้นทางการเมือง 15 ปี…

70 ปี แห่งรัชสมัยการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราโชบายแก่พสกนิกรชาวไทย เปรียบดั่งมรดกอันล้ำค่า

“ชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลอดเส้นทางนักการเมือง 15 ปี ได้ถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ปัจจุบันยังเดินตามรอยพระยุคลบาท…ตราบนิจนิรันดร์เพื่อน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

ครั้งหนึ่งในงานเลี้ยงวันขอบคุณนักศึกษาที่ช่วยกันจัดงานกาชาด ผมและเพื่อน ๆ เป็นตัวแทนนักศึกษาธรรมศาสตร์ขึ้นไปแสดงบนเวที แต่ธรรมศาสตร์ไม่ได้เตรียมตัว พรรคพวกจึงให้ผมขึ้นไปออกตัวบนเวทีซึ่งผมได้กล่าวถึงความสำคัญของการแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง ตอนหนึ่งว่า

“การแสดงต่อหน้าพระที่นั่งต้องมีการเตรียมตัวมานานเพราะเป็นเรื่องใหญ่ การไม่ได้เตรียมตัวจึงเป็นปัญหา เช่น การร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาร่างหลายปี พอพูดคำนี้จบ พรรคพวกก็ส่งเสียงวี้ด เพราะขณะนั้นเป็นยุคของจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอม ร่างรัฐธรรมนูญมาหลายปีแต่ยังไปไม่ถึงไหน”

พระองค์รับสั่งตอบเรื่องนี้ว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขาออกตัวว่า ไม่ได้เตรียมตัวมา จึงเกรงว่าจะเล่นได้ไม่ดีแต่ความจริงเขาก็เล่นได้ดี ที่บอกว่า งานสำคัญต้องใช้เวลา เช่น ร่างรัฐธรรมนูญนั้น บางทีของนานก็ไม่ใช่ของดีเสมอไป”

เป็นพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ประจักษ์ต่อสายตานายชวนครั้งแรกซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันเฉพาะในหมู่เพื่อนนักศึกษาไม่กี่คนเท่านั้น

ประชาชนมีสิทธิ-มีเสียง

นายชวนเล่าประสบการณ์ตลอดชีวิตเส้นทางการเมืองได้สัมผัสพระราชปณิธานประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมรัฐสภาเป็นประจำทุกปีว่า ให้คิดถึงสิ่งที่ประชาชนและประเทศชาติจะได้ประโยชน์และทรงแนะนำเรื่องความสุขุม รอบคอบ บริสุทธิ์ใจทุกครั้ง ช่วงหลังเปลี่ยนไปบ้าง เช่น การยึดหลักนิติธรรมและคุณธรรม

“ครั้งหนึ่งประธานสภาในขณะนั้นรีบร้อนเลือกนายกรัฐมนตรี โดยอ้างถึงพระราชดำรัสว่า ทำอะไรอย่าให้ชักช้า ผมจึงยกมือพูดทันทีว่า ท่านประธานครับ ไม่ใช่เพียงรับสั่งว่า อย่าชักช้าแต่ให้ สุขุม รอบคอบด้วย ประธานสภาตกใจมาก รีบตัดบทไม่ให้พูดและปิดสภาทันที”

พระราชดำรัสบางปี ภายหลังการยึดอำนาจซึ่งมีการร่างรัฐธรรมนูญโดยสภานิติบัญญัติ พระองค์รับสั่งว่า หวังว่าสภานิติบัญญัติจะทำหน้าที่เพื่อให้มีกฎหมายหลักของบ้านเมืองโดยให้ “ประชาชนของข้าพเจ้า” มีสิทธิ มีส่วน มีเสียงต่อไปในวันข้างหน้า

ปชช.อยู่ดีกินดี ประเทศมั่นคง

พระราชดำรัสทุกครั้งทรงกล่าวถึงเรื่องความเป็นอยู่ประชาชน ถ้าทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่มั่นคงขึ้นได้ ความมั่นคงประเทศจะเกิดขึ้น “ความมั่นคงของประเทศอยู่ที่ความเป็นอยู่ของประชาชน”

พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยแต่ในความเป็นประชาธิปไตยนั้น ทรงมีพระราชดำรัสต่อรัฐสภาว่า ขอให้ท่านทั้งหลายได้สำนึกและตระหนักว่าการพูดสิ่งใดในสภา สิ่งที่พูดนั้นเป็นประโยชน์ของประเทศชาติ

“อภิปรัชญา” ที่อยู่เหนือศาสตร์สามัญทั้งปวง อาทิ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสมาตั้งแต่ปี 2517 ในโอกาสพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พอเพียง : บ้านเมืองอยู่รอด

พระองค์ทรงแนะนำประชาชนดำรงชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ต่อมาแนวทางคำแนะนำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อรู้จักพออยู่ พอกินแล้ว ให้ขยายพื้นที่เพื่อเป็นรายได้เพิ่ม ยกคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นดั่งพระราชดำริโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่

ในหลวงทรงแนะนำว่า “บ้านเมืองจะอยู่รอดต้องประหยัด ใช้จ่ายต้องมีเหตุมีผล” ความฟุ่มเฟือย เป็นที่มาของปัญหาครอบครัวและประเทศชาติ

“ผมมีโอกาสตามเสด็จฯ ไปเชียงใหม่ สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ทรงเยี่ยมสหกรณ์ซึ่งขณะนั้นมีปัญหาทุจริต ทรงเตือนสติว่า เงินทั้งหมดเป็นภาษีของประชาชน ต้องบริหารให้ดี”

พระอัจฉริยภาพหลายเรื่องกลายเป็น “อมตะ” เพราะคลี่คลายปัญหาได้ยาวนาน อาทิ โครงการหนองใหญ่ จังหวัดชุมพร พระองค์ทรงอ่านแผนที่แล้วสามารถรู้ทันทีว่า แม่น้ำสายนี้ไหลไปบรรจบกันอย่างไรไม่ให้น้ำท่วม

วันหนึ่งพระองค์ท่านทรงชี้แผนที่ให้เห็นว่า หากสร้างสะพานข้ามไปถนนศรีอยุธยา จะสามารถแก้ปัญหาการจราจรได้ ปัจจุบันจึงได้สร้างถนนเป็นสะพานข้าม ผมจำได้แม่นยำเพราะรับสั่งถึงซอยหมอเหล็ง-บ้านพักของผมด้วย

ขาดทุน คือ กำไร

ตลอดการขึ้นครองราชย์ 70 ปี พระราชทานคำแนะนำต่อรัฐบาลหลายชุดแตกต่างไปตามยุคสมัย ตามปัญหาบ้านเมืองในเวลานั้น ทรงเป็นนักปฏิบัติ นักปราชญ์ ผู้รู้จริง พระราชดำรัสแนะนำจึงมาจากประสบการณ์จริง

โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ทรงแนะนำให้ทำ ถึงแม้ต้องใช้เงินจ่ายค่าเวนคืนที่ดินมากกว่าค่าก่อสร้าง คนไม่สนับสนุน ในหลวงทรงใช้คำว่า Our loss is our gain แปลว่า “ขาดทุน คือ กำไร” ในวันเปิดโครงการนายชวนบอกว่า “ได้เห็นในหลวงมีความสุขมากเพียงใด”

เพียงปีแรกของการเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สามารถลดบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยเกินกว่าที่ลงทุนไปทันที

ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องตัดสินใจซื้อเครื่องบิน Alpha jet ของเยอรมัน จำนวน 2 ฝูง ในราคาถูก ขณะนั้นภายในกองทัพอากาศเห็นไม่ตรงกัน สุดท้ายตัดสินใจ “ซื้อ” โดยศึกษาแล้วว่า เป็นของถูก-ของดี สามารถใช้ได้ต่ออีกหลาย 10 ปี ปัจจุบันยังใช้อยู่

“วันหนึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศในขณะนั้นเข้าเฝ้าฯ เรื่องอะไรไม่ทราบ ภายหลังมาบอกผมว่า พระองค์รับสั่งเรื่องการซื้อเครื่องบิน Alpha jet ว่า ตัดสินใจถูกต้องแล้ว ทรงย้ำเรื่องความประหยัด ความพอเพียงแต่ไม่ใช่ความตระหนี่”

ทุกคนต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

พระอัจฉริยภาพด้านนิติศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีดวงตาเห็น “แสงสว่าง” ในยามบ้านเมืองมืดมิดเสมอมา เพราะ “พระบารมี” เป็นพระอัจฉริยภาพอันเกิดจากพระบารมี ในหลวงทรงทำงานหนัก ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพูดกับคู่กรณีแต่ละครั้งได้

“พระองค์ท่านต้องลงไปเชิญคู่กรณีมาเจรจา ไม่ใช่ไม่เสี่ยง ถ้าทำแล้วคู่เจรจาไม่ยอมรับ พระองค์ท่านเสียหาย ในหลวงทรงทำเพื่อประชาชนของพระองค์ ตามครรลองของกฎหมาย ทรงกล้าหาญเสด็จออกรับเพื่อแก้ปัญหา บ้านเมืองผ่านวิกฤตหลายครั้งมาได้ ไม่เกิดความสูญเสีย”

“ข้อสรุปที่ดีที่สุด เป็นมรดกสำหรับคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต คือ พระราชดำรัสในปี 2552 และ 2553 ทรงรับสั่งให้ศึกษาอย่างถ่องแท้เรื่องการทำหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทรงใช้ถ้อยคำเหมือนกัน 2 ปีติดต่อกัน”

ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้เป็นปัญหาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 “สะเทือนใจที่สุด” พระองค์รับสั่งย้ำเรื่องหลักนิติธรรมเพราะทอดพระเนตรเห็นการไม่เคารพกฎหมาย เป็นที่มาของพระราชดำรัส “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

“พระองค์ทรงเหนื่อยพระวรกายตลอด 40 ปี ทุกเดือนสิงหาคม กันยายนทรงเสด็จภาคใต้ อยู่กับชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาทำกิน ทรงใช้รัฐประศาสโนบายแก้ปัญหาอย่างดีมาโดยตลอด จนปัญหาภาคใต้สงบ ผมรู้สึกเสียใจเพราะความผิดพลาดในการแก้ปัญหาในช่วงหลังทำให้พระองค์ทรงสะเทือนใจมาก”

รู้รักสามัคคี

เรื่องของความสามัคคีปรากฏอยู่ในพระราชดำรัสเกือบทุกครั้ง คำว่า “รู้รักสามัคคี” รับสั่งว่า “ความสามัคคีเท่านั้นที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่รอด”

ในฐานะประมุขของประเทศทรงเห็นความแตกต่างในบ้านเมือง สามารถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ด้วย “ความรัก ความสามัคคี”

“ในหลวงเสด็จฯ ยังภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเยี่ยมประชาชนให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระองค์ทรงอยู่กับประชาชน แสดงให้เห็นถึงประชาธิปไตยภาคปฏิบัติ”

“พระองค์รับสั่งว่า The king can do no wrong แต่ทรง Does no wrong พระองค์ท่านไม่ทำผิด ไม่ใช่เพราะคำว่า King can do no wrong ทำให้พระองค์ไม่ทำผิด ไม่ใช่ King ทำผิดได้ แต่ที่พระองค์ไม่ทำผิดเพราะพระองค์ไม่ทำผิด”

พระราชดำรัสอันเป็น “อมตะ” กับนักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ พระองค์ตรัสตอบคำถามล้ำลึกไปอีกว่า “ทรงต่อสู้กับความอดอยากหิวโหย”

“ผลจากการเปลี่ยนแปลงของประเทศเพราะความผูกพันลึกซึ้งระหว่างในหลวงกับประชาชนเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน ในที่สุดเราไม่ได้ล้มไปตามทฤษฎีโดมิโนอย่างที่ฝรั่งคิด”

คำตอบในเวลานั้นแสดงให้เห็นผ่านความรู้สึกของพสกนิกรชาวไทยในเวลานี้ในวันที่ฟ้ามืด-ประชาชน “เสียใจรุนแรง อาลัยอย่างสุดซึ้งเมื่อในหลวงเสด็จสวรรคต เพราะเกิดจากความผูกพันที่ได้สะสมมา

ส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมือง

นายชวนทิ้งท้ายหลักการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตราบนิจนิรันดร์ว่า สิ่งที่ต้องระวัง คือ “รับรู้ เชื่อ แต่ไม่ปฏิบัติ”

“ในหลวงให้องคมนตรีออกไปสำรวจโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อให้ผลิตคนเก่งและดี (เน้นเสียงหนัก) พระราชทานทรัพย์ 200 ล้านบาท เรื่องนี้ประชาชนทั่วไปไม่รู้”

คำว่า “คนดี” พระองค์ทรงเคยใช้กับนักกฎหมาย ว่าอยากเห็นนักกฎหมายที่ดี กล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง ต้องเป็น “ดีแท้” จะเห็นว่าบ้านเมืองนี้มีคนเก่งมาก แต่จะวัดว่าดีแท้หรือไม่ ต่อเมื่อถึงเวลาเกิดวิกฤตและต้องตัดสินใจ ว่าอะไรคือประโยชน์ตัวเองกับประโยชน์ส่วนรวม

ในหลวงต้องการให้คนดีรับผิดชอบบ้านเมือง รับสั่งว่า “บ้านเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี อยากให้ส่งเสริมคนดีได้ปกครองบ้านเมือง”


ทำงานถวายในหลวงครั้งสุดท้าย

ในจำนวน “จิตอาสาเฉพาะกิจ” ที่ร่วมแรงร่วมใจกันในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั่วประเทศ มีถึง 30 ล้านชีวิต

เฉพาะจิตอาสาใน กทม.ที่ลงทะเบียนมีมากกว่า 3 แสนคน แยกเป็นงานดอกไม้จันทน์ 57,990 คน งานประชาสัมพันธ์ 30,509 คน งานโยธา 16,545 คน งานขนส่งเพื่อความปลอดภัยของประชาชน 8,954 คน งานบริการประชาชน 1612,699 คน งานแพทย์ 16,240 คน งานรักษาความปลอดภัย 12,037 คน และงานจราจร 6,920 คน

ในจำนวนนั้นมี “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี ขันอาสาทำงานถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการเป็นจิตอาสาเขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิง

“ผมไม่ต่างอะไรจากคนไทยคนอื่น อะไรที่ทำถวายพระองค์ท่านได้ก็อยากจะทำ ให้ผมไปกวาดขยะ กวาดพื้น ถูพื้นผมก็ทำ เมื่อมีงานผมก็ไปโรงหล่อ เขาปั้นครุฑกันอยู่ ผมมีหน้าที่ไปขูดดิน แต่ตอนหลังหัวหน้า (นายมณเฑียร ชูเสือหึง รักษาการจิตรกรเชี่ยวชาญ สํานักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร) เห็นว่าผมมีประสบการณ์”

“หัวหน้าจึงถามว่า ท่านทำได้ไหม จึงให้ผมไปเขียนเทวดา 2 แผ่น แผ่นละ 8 องค์ รวม 16 องค์ ผมเริ่มไปทำสิ่งที่เราถนัด คือการลงสีผิวเทวดา นางฟ้า ครุฑทั้งหมด และลงพื้นผ้านุ่ง ลงสีเหลืองในส่วนมงกุฎและเครื่องประดับสำหรับปิดทองต่อไป”

“จากนั้นลงลายผ้า ตอนลงลายผ้า ที่ผมคิดอะไรขึ้นมาว่าเทวดา นางฟ้าเหล่านี้คือผู้ที่จะรับเสด็จพระองค์ท่านสู่สวรรคาลัย เราใส่เครื่องนุ่งห่มของชาวบ้านให้เทวดานางฟ้าใส่ตอนรับเสด็จด้วยได้ไหม ขอผ้านุ่งนางฟ้าให้นุ่งผ้าปาเต๊ะได้ไหมหัวหน้าก็ยอม เรามาคิดต่อว่านางฟ้า เทวดา อย่านุ่งผ้าปาเต๊ะเลย เอาผ้าที่ชาวบ้านนุ่งดีกว่า เราเอาลายผ้าไทย 4 ภาค โดยค้นลายผ้าที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงสนับสนุนในแต่ละภาค ปรากฏว่า เหนือ กลาง อีสาน หาง่าย เพราะชาวบ้านยังทอผ้าอยู่ จึงจะเห็นว่ามีเทวดาองค์หนึ่งนุ่งผ้าขาวม้าลายปักธงชัย ของ จ.นครราชสีมา แต่ภาคใต้หายากที่สุด”

“เป็นโอกาสสุดท้ายก่อนถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นงานที่ทำจริงจัง ทุ่มเทให้กับความรู้สึกว่าในหลวงท่านคงเห็น เป็นช่วงสุดท้ายแล้วที่เราทำสิ่งนี้ แต่ไม่ได้หมายถึงสิ่งสุดท้ายที่เราจะยึดสิ่งที่ในหลวงทรงทำไว้เป็นแบบอย่าง แต่งานชิ้นนี้เป็นงานเราอุทิศให้พระองค์”

กว่า 3 เดือน ที่ “ชวน” เป็นส่วนหนึ่งในการวาดภาพฉากบังเพลิงที่ใช้ตกแต่งพระเมรุมาศวันที่ 10 ตุลาคม ถือฤกษ์ 9 โมง 9 นาที นำฉากบังเพลิงแห่มาที่สนามหลวงมาติดตั้งที่พระเมรุมาศ

“เราถือว่าได้ทำงานถวายในหลวงมาตลอดชีวิตการเมืองในแง่ความเป็นนายกฯ นาน 6 ปี แน่นอนมีโอกาสเข้าเฝ้าฯหลายครั้ง รับสั่งเป็นการส่วนพระองค์บ้าง ได้ฟัง ได้เห็นพระจริยวัตรอันงดงามของในหลวง ความคิดมองเรื่องประโยชน์ประเทศชาติ ของประชาชน เป็นความรู้สึกในใจทำอะไรถวายต่อพระองค์ได้ก็จะทำ”