นิธิ 80 ปี : วิเคราะห์ชะตากรรมชนชั้นนำ ไม่มีความรู้พยุงอำนาจ

อ.นิธิกล่าวในงานเสวนาถึงเรื่องศักดินาและความเป็นไทย
นิธิ เ​อี​ยว​ศรี​วงศ์

นิธิ มอง ระบบความรู้ในไทย กำลังพังทลาย-ไร้ทางคุม ชี้ คือเหตุผลที่ชนชั้นนำ อาศัย ‘อำนาจดิบ’

วันที่ 5 เมษายน 2564 มติชน รายงานว่า ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาเรื่อง “เสรีภาพทางวิชาการ ในสภาวะเสื่อมถอย” เนื่องในโอกาสตีพิมพ์หนังสือ “80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนสยามยุคเปลี่ยนผัน” โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวตอนหนึ่งว่า เสรีภาพทางวิชาการ คือ การอยากรู้ อยากถาม อยากให้คนอื่นรู้อย่างไร ก็สามารถทำได้ แต่ความรู้นั้นสัมพันธ์อยู่กับอำนาจของกลุ่มคนในสังคม ความรู้ชนิดหนึ่งอยู่ในอำนาจคนกลุ่มหนึ่ง อีกชุดอยู่ในคนอีกกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ มาเกี่ยวข้องกับความรู้ได้ การดำรงอยู่ของความรู้ในสังคม

จึงต้องมีกลไกอื่น ๆ ช่วยพยุงให้ความรู้นั้นดำรงอยู่ได้ เพราะความรู้คืออำนาจ ที่มีระบบซึ่งอยู่รอบความรู้นั้น พยุงไว้ ในทุกสังคม ความรู้จึงไม่ใช่สิ่งที่เสรี แต่จะถูกกำกับ ควบคุมเสมอในสังคม มากบ้าง น้อยบ้าง ที่สำคัญมากกว่า คือควบคุมโดยใคร

“สำหรับไทยในปัจจุบัน ความรู้ที่พยุงอำนาจและผลประโยชน์กำลังพังลง แบบที่ไม่ชู 3 นิ้วก็พัง ความจริงที่เคยเชื่อ ก็ถูกตั้งคำถาม โดยมีเหตุผลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือกว่าความรู้ที่เคยให้ไว้ทั้งสิ้น กล่าวโดยสรุป ในปัจจุบัน ไม่เหลือใครที่จะสามารถควบคุมระบบความรู้ที่มีในสังคมได้ สมัยก่อนเราเชื่อว่า อธิการบดีจะควบคุมได้ ในการส่งผ่านความรู้ สู่คนรุ่นหลังในมหาวิทยาลัย

Advertisment

แต่ ณ ปัจจุบัน ไม่สามารถควบคุมระบบความรู้ในสถาบันการศึกษาไว้ในมือได้อีกต่อไป ไม่เว้นระดับมัธยม ที่แสวงหาความรู้จากทางอื่นนอกเหนือจากโรงเรียน ด้วยเหตุนี้ ความรู้ที่เคยเป็นอยู่ในสังคมไทย จึงไม่มีทางพยุงไว้ได้ จนต้องอาศัยอำนาจรัฐ เสรีภาพทางวิชาการ มีคนคุม อยู่ที่ว่าใครคุม และคุมอย่างไร ซึ่งปัจจุบันระบบความรู้ในสังคม กำลังพังทลายลงไปต่อหน้า ไม่มีทางคุมได้ นอกจากวิธีการป่าเถื่อนเท่านั้น” ศ.ดร.นิธิกล่าว

ศ.ดร.นิธิ กล่าวต่อว่า อำนาจทุกสังคมที่ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความรู้ และระบบความรู้ ในอดีตเคยมีระบบความรู้พยุงอำนาจไว้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจ ก็มีการปรับปรุงความรู้ เช่น ในอดีต เกิด ‘ศาสนามวลชน’ ขึ้นครั้งแรก โดยออกไปสอนความรู้ให้ชาวบ้านในต่างจังหวัด ระบบความรู้ที่เคยพยุงศาสนาอยู่ไว้ได้ จึงต้องเปลี่ยนระบบความรู้ใหม่ เพื่อรองรับศาสนามวลชน

“ชนชั้นนำไทย ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนความรู้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้เก่งมาก เพราะหากเปรียบเทียบแล้ว จะมีการสืบเนื่องระบบความรู้ในสังคมไทยค่อนข้างสูง ความเปลี่ยนแปลงที่เร็ว และชนชั้นนำตอบสนองได้มากสุด เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 เป็นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความทันสมัยอย่างรุนแรง ไม่เฉพาะเอเชีย กระทั่งยุโรป ก็พัง สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมโหฬาร

เช่น อย่างไรคุณต้องมีรถไฟ อย่างไรคุณก็ต้องสั่งปืนกลให้ทหารไทย ฉะนั้น จึงต้องคำนึงว่า เมื่อความทันสมัยโผล่เข้ามา จะกระทบกับการเปลี่ยนแปลงได้แรงมาก ๆ แต่ชนชั้นนำไทย สามารถรักษาความรู้เดิม หรือสร้างความรู้ใหม่มาสืบทอดได้ เก่งมาก ๆ จึงไม่เกิดผลกระทบที่รุนแรงนัก

Advertisment

ในศตวรรษ ที่ 19 ชนชั้นนำไทยเก่งมากในการกลืนทั้งสองอย่าง โดยเปลี่ยนระบบความรู้พอสมควร โดยไม่กระทบต่อโครงสร้าง อำนาจ และผลประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อย่างรุนแรงจนเกินไป ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเฉพาะประเทศอาณานิคม ในจีน ญี่ปุ่นก็ตาม ทำให้ตัวระบอบเก่าพังลง หากเปรียบเทียบแบบนี้ ชนชั้นนำไทยถือว่าเก่ง

สิ่งสำคัญที่สุด ระบบความรู้ใหม่ที่ชนชั้นนำไทยสามารถสร้างขึ้น และพยุงความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด คือความรู้เกี่ยวกับเรื่องความเป็นไทย กลายเป็นความรู้ที่ถูกจับจอง โดยกลุ่มชนชั้น ศาสนาไม่ใช่เรื่องสำคัญในการสร้างความเป็นไทยในช่วงแรก แต่ตามมาภายหลัง

ความเป็นไทยมี 2 ลักษณะ 1.เป็นสารัตถนิยม เป็นเหมือนออกซิเจน ที่ไม่มีวันเปลี่ยนไป ตั้งแต่ล้านปีที่แล้ว จนถึงล้านปีข้างหน้า 2.เปรียบเทียบได้กับสิ่งในโลกสากล ที่มีเหตุผล มีประโยชน์ เทียบได้กับคุณค่าความเป็นสากล แต่ปัจจุบัน เมื่อมีคนไปพูดถึงความเป็นไทย ว่าเราไม่เหมือนใครในโลก นั่นคือความเสื่อม พลังความเป็นไทยที่สร้างกันมาคือความเป็นสากลในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่การทำให้ความเป็นไทยคือข้อยกเว้น ความเป็นไทยจะยิ่งเสื่อมคุณค่า และความน่าเชื่อถือลง

ศ.ดร.นิธิกล่าวอีกว่า ‘ประวัติศาสตร์ และ ไทยคดีศึกษา’ หัวใจสำคัญของทั้ง 2 อย่าง ถูกสร้างขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยคนที่เก่ง เช่น  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตาม หลวงประดิษฐไพเราะ ก็ตาม เก่งมาก รวมถึงเครือข่าย และลูกศิษฐ์ ที่เก่งระดับโลก

หากลองคิดในปัจุบัน ระบบความรู้แบบบเก่า ผลิตคนเก่งแบบนี้ในปัจจุบันหรือไม่ คำตอบคือ 0 ไม่มี จึงทำให้ตัวการสร้างระบบความรู้แบบใหม่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้าต่าง ได้ระบบความรู้ที่เก่งมาก ๆ แต่ก็ไม่มีอะไรถาวร

มาถึงต้น ศตวรรษที่ 20 ไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งในช่วงปี พ.ศ.2475 – 2490 มีความพยายามของผู้นำคณะราษฎร ในการสร้างระบบความรู้เกี่ยวกับความเป็นไทยขึ้นมาใหม่ แต่ไม่สำเร็จ หนึ่งในนั้นคือ ไม่มีคนเก่งเท่า มือคนละชั้นที่จะสร้างให้มั่นคงจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเช่นนั้นได้ ระบบความรู้จึงเสื่อมลงเรื่อย ๆ

กระทั่งปี 2500 มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ จากการละทิ้งมรดกของคณะราษฎรออกไปทั้งหมด จึงไปรื้อฟื้นความเป็นไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็รองรับไม่ได้มาก

“การเสื่อมถอยของเสรีภาพทางวิชาการ เกิดขึ้นพร้อมการพังสลายของระบบความรู้ที่จะรองรับอำนาจ และผลประโยชน์ในสังคมไทย คุณจะเห็นชะตากรรมของชนชั้นนำ ที่ต้องอาศัยเพียง อำนาจดิบ กฎหมาย ปืน ตำรวจควบคุมฝูงชน ในการผดุงรักษาอำนาจไว้ เพราะไม่มีระบบความรู้ที่รองรับเพียงพอ ดังนั้น ภายใต้ระบอบที่กดขี่เสรีภาพทุกอย่าง เราจะเรียกร้องแต่เสรีภาพทางวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ รวมทั้งการลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการ ที่ ลึก ละเอียด ชนิดที่อาจมองไม่เห็นก็ได้” ศ.ดร.นิธิกล่าว และว่า

“หากสละเวลาได้ อยากชวนไปยืนหยุดขัง 112 นาที ที่หน้าศาลฎีกา เย็นนี้ด้วยกัน”