“โคก หนอง นา” กรมการพัฒนาชุมชนมุ่งหวังให้ประชาชนมีเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงชุมชนพึ่งพาตนเองได้

“โคก หนอง นา” กรมการพัฒนาชุมชน มุ่งหวังจะช่วยทำให้พี่น้องประชาชนมีเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงชุมชนพึ่งพาตนเองได้

การดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” กรมการพัฒนาชุมชน เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ของกรมการพัฒนาชุมชนที่มุ่งหวังว่า จะช่วยทำให้พี่น้องประชาชน มีเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2565 ซึ่งงานพัฒนาชุมชน ถือได้ว่าเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของประเทศชาติ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” จะเป็นหนทางหนึ่ง ที่จะทำให้กรมการพัฒนาชุมชน เดินไปถึงจุดมุ่งหมายที่ได้วางไว้ นำไปสู่สังคมอุดมคติ ร่วมกันได้อย่างประสบผลสำเร็จ

“โคก หนอง นา” น้อมนำพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตร โดยมีการผสมผสานภูมิปัญญาพื้นบ้านให้สอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ โคก หนอง นา จึงเป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน จัดสรรธรรมชาติอย่างสมดุล โดยแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10

‘โคก’ โดยความหมายและลักษณะทางภูมิประเทศคือพื้นที่สูง แต่ในความหมายของ “โคก หนอง นา” ไม่ได้หมายถึงส่วนที่เป็นเนินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคันนา ซึ่งคันนาตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ จะใหญ่กว่าคันนาทั่วไป เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการปลูกพืชต่างๆ ด้วย

ในการปลูกพืช “ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ ปลูกพืช ผัก สวนครัว ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย

Advertisment

ไม้ 3 อย่าง ได้แก่ 1.ไม้ใช้สอย คือ ไม้โตเร็ว สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น สะเดา, ไผ่ 2.ไม้กินได้ เช่น มะม่วง ผักกินใบต่างๆ และ 3.ไม้เศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้ที่ปลูกเพื่อจำหน่าย เช่น ไม้สัก เป็นต้น

ส่วนประโยชน์ 4 อย่าง คือ 1.ไม้ใช้สอย นำมาสร้างบ้าน ทำเล้าเป็ด เล้าไก่ ฟืน 2. ไม้กินได้ นำมาเป็นอาหารและยาสมุนไพร 3.ไม้เศรษฐกิจ นำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ และ 4.ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งการปลูกพืชที่หลากหลาย จะสร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้กับพื้นที่

การขุดหนองน้ำ ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในการกักเก็บน้ำเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงกับการทำโคก อีกด้วย เพราะดินที่ได้นั้น จะนำไปถมเป็นพื้นที่ในส่วนที่อยู่อาศัย และการเพาะปลูก ตลอดจนเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ทั้ง วัว ควาย หมู เป็ด และไก่ ฯลฯ

ส่วนโคกอีกส่วนหนึ่งต้องแบ่งเพื่อปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ นี่จึงนับเป็นการใช้สอยประโยชน์จากพื้นที่ในสัดส่วนโคกได้เกิดผลสูงสุด

Advertisment