องค์กร “ไทย” ในตลาดทุน สยายปีก DJSI สู่การค้าโลก

ต้องยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม หรือการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและสังคม มีความสัมพันธ์และเกี่ยวโยงกับกระบวนการดำเนินธุรกิจในทุก ๆ ขั้นตอน ทั้งยังขยายขอบเขตจากองค์กรของตนมาสู่คู่ค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ หรือตลอดซัพพลายเชน ทั้งยังเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุน ตลอดจนสังคมในวงกว้างให้ความสนใจ

โดยปัจจุบันผู้ลงทุนทั่วโลกต่างนำเรื่องการดำเนินธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน 3 ด้าน คือ
สิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และ บรรษัทภิบาล (governance) หรือ ESG มาเป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจลงทุน เพราะนอกจากจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ยังช่วยให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เติบโตไปพร้อมกัน

ทั้งนั้น จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ณ สิ้นเมษายน ปี 2561 สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการลงทุนอย่างยั่งยืน จากการสำรวจขององค์กรที่สนับสนุนการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ (The United Nations-supported Principles for Responsible Investment : UNPRI) มีมูลค่าสูงถึง 82 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยมูลค่าการลงทุนอย่างยั่งยืนในปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่า 14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 18% เมื่อเทียบกับปี 2560

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมามีการออกดัชนี หรือตัวชี้วัดในการประเมินองค์กรเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยหนึ่งในนั้นคือ ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices-DJSI) ที่จัดทำโดย RobecoSAM และ S&P Dow Jones Indices ซึ่งจะคัดเลือกจาก 2,521 บริษัทในตลาดทุนทั่วโลก และ 802 บริษัทในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (ข้อมูลปี 2561) ที่มีขนาดใหญ่และผ่านเกณฑ์เบื้องต้นในการเข้าลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน

ด้วยการประเมินผลการดำเนินงานในมิติเศรษฐกิจ บรรษัทภิบาล สิ่งแวดล้อม และสังคม เพื่อคัดเลือกบริษัทที่มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้กองทุนต่าง ๆ ทั่วโลกใช้พิจารณาประกอบการลงทุน

ทั้งนี้ มีบริษัทไทยที่ผ่านการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนี DJSI เป็นครั้งแรก ในปี 2547 คือ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และล่าสุดในปี 2561 มีบริษัทไทยถึง 20 บริษัท ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนี DJSI ประกอบด้วย กลุ่มดัชนี DJSI World มีจำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วย KBANK, SCB, PTTEP, PTT, CPALL, THBEV, PTTGC, SCC และ CPN

กลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets มีจำนวน 20 บริษัท ประกอบด้วย KBANK, SCB, MINT, BANPU, IRPC, PTTEP, PTT, TOP, CPALL, CPF, THBEV, TU, IVL, PTTGC, SCC, CPN, HMPRO, TRUE, AOT และ BTS ทำให้ไทยเป็นที่หนึ่งในประเทศที่มีบริษัทได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นสูงสุดในดัชนี DJSI Emerging Markets อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ ในปีนี้บริษัทไทยจำนวน 6 บริษัท ยังได้คะแนนสูงสุดด้านความยั่งยืน เป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม (industry leaders) ซึ่งถือเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม energy ประเภท coal & consumable fuels ได้แก่ BANPU ประเภท oil & gas refining & marketing ได้แก่ IRPC และประเภท oil & gas upstream & integrated ได้แก่ PTT

ส่วนผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม food, beverage & tobacco ประเภท beverages ได้แก่ THBEV ประเภท food products ได้แก่ TU และผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม telecommunication services ประเภท telecommunication services ได้แก่ TRUE

สำหรับ “เอสซีจี” ถือเป็นองค์กรแรกของไทย และอาเซียน ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนี DJSI มาตั้งแต่ปี 2547 และยาวนานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 15 จนถึงปัจจุบัน “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถ้ามองย้อนหลังกลับไปถึงการติดลิสต์ DJSI มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ถือว่าเป็นจุดที่ทำให้องค์กรได้เข้าไปเป็นเน็ตเวิร์กกับบริษัทที่มีเป้าหมายการทำงานแบบเดียวกัน ซึ่งจากแรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน criteria ของ DJSI มีความเข้มข้นขึ้น เพราะมีการปรับปรุงมาตรฐานตลอดเวลา ส่งผลให้บริษัทต้อง push ตัวเองมากขึ้น ด้วยการหานวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

“การเข้าร่วมการประเมินกับ DJSI สามารถเปรียบเทียบได้ว่า เหมือนเรากำลังขึ้นเขา ถ้าเราเห็นเขาที่อยู่ข้าง ๆ ด้วย และเห็นคนที่อยู่บนยอดเขาเหมือนกัน ก็เป็น motivation ที่สำคัญสำหรับเราเช่นกัน”

สำหรับความท้าทายจากนี้ไปของเอสซีจี “รุ่งโรจน์” บอกว่า คงเป็นเรื่อง circular economy เพราะผมมองว่าเป็นเทรนด์ที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือองค์กรใหญ่ ๆ ระดับโลกเริ่มตอบเทรนด์ และนำ circular economy เข้ามาใช้ ซึ่งประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้แล้ว โดยในส่วนของเอสซีจีตั้งเป้าว่าต้องทำให้คนในองค์กรมีความเข้าใจต่อเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อนำเข้ามาใช้กับธุรกิจ หรือกิจกรรมที่ทำกับภาคสังคม รวมถึงกระจายต่อไปในภูมิภาคด้วย

ส่วน “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ที่มีบริษัทในเครือถึง 3 บริษัทที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนี DJSI ได้แก่ CPF, CPALL และ TRUE ซึ่งเรื่องนี้ “ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ บอกว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในชุมชน และสังคมทั่วทุกแห่งที่เข้าไปดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักปรัชญา 3 ประโยชน์ ที่คำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศ สังคม และองค์กร

“ซึ่งที่ผ่านมามีการกำหนดเป้าหมายความยั่งยืน ออกเป็น 12 เป้าหมาย เพื่อเป็นกรอบการทำงาน และยังใช้ในการตรวจสอบว่าบริษัทได้ดำเนินการเรื่องใดแล้วบ้าง อีกทั้งยังนำดัชนี DJSI เป็นตัวชี้วัดในอีกชั้นหนึ่ง อย่างปีนี้ 3 บริษัทที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI โดย CPF ได้รับเลือกในกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ขณะที่ CPALL ได้รับคัดเลือกในกลุ่ม DJSI Emerging Markets ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และในปีนี้ยังได้รับคัดเลือกในกลุ่มดัชนี DJSI World Index เป็นครั้งแรก ส่วน TRUE ได้รับเลือกในกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 อีกทั้งในปีนี้ TURE ยังได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมอีกด้วย”

“การจะรักษาสถานะตัวเองให้อยู่ในลิสต์ DJSI ต่อไปเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก โดยส่วนตัวแล้วมองว่าองค์กรจะต้องสร้าง engagement และต้องร่วมกันเป็นเครือข่ายในการทำงาน ทั้งยังต้องมองถึงการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึง business model ที่ต้องมีความยั่งยืน เนื่องจากข้อมูล ข่าวสาร มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องมีการลงทุนในเรื่องของวิจัยและพัฒนา ควบคู่ไปกับการพัฒนาคน ซึ่งเป็นจิตวิญญาณขององค์กร”

“ขณะเดียวกันต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกคนในองค์กร ตั้งแต่ระดับบน จนระดับล่าง มีการติดตามผล ประเมินผลตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ เพราะการทำเรื่องความยั่งยืน ไม่ใช่แค่เพียงการทำซีเอสอาร์ ความรับผิดชอบต่อสังคมเท่านั้น แต่เป็นการยกระดับกระบวนการทางธุรกิจ ตลอดจน stakeholders กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มให้มีความสมดุล สร้างการเติบโต ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถให้กับองค์กร ทั้งยังลดความเสี่ยงในทุกมิติที่จะเกิดขึ้น”

ตรงนี้จะทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องผลกำไรเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของความโปร่งใส การมีธรรมาภิบาล ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ขณะที่ “บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)” ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนี DJSI World ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และกลุ่มดัชนี DJSI EmergingMarkets เป็นปีที่ 3 และในปีนี้ยังเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ที่ได้คะแนนสูงสุดถึง 90 คะแนน โดย “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไทยเบฟ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่ไทยเบฟได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า เรามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำทางด้านเครื่องดื่มครบวงจรของอาเซียน และพร้อมใส่ใจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก

“หลังจากนี้ต่อไป เราต้องทำให้ดีที่สุดในทุก ๆ เรื่อง ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ยาก เพราะนอกจากจะต้องทำให้ตัวเองติดลิสต์ DJSI ต่อไปแล้ว ยังต้องรักษาแชมป์ที่เป็นผู้นำกลุ่มเอาไว้ด้วย โดยเรื่องความยั่งยืนถือเป็นสิ่งที่ไทยเบฟให้ความสำคัญ และต้องมุ่งดำเนินการต่อไปในทุกกระบวนการ”

ด้าน “โฆษิต สุขสิงห์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง ไทยเบฟ กล่าวว่า การที่ไทยเบฟนำเอาดัชนีความยั่งยืนมาปรับใช้ในองค์กร เนื่องจากดัชนีดังกล่าวแตะไปถึงเนื้อแท้ของกระบวนการภายในองค์กร และการจะทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นจริง จะต้องเกิดจากภายในองค์กรก่อน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนขั้นตอนในการดำเนินงาน ที่ต้องตอบโจทย์ ตอบสนองความเชื่อมั่นให้กับ stakeholders กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนให้ได้

“ที่ผ่านมาการทำเรื่อง DJSI ของเราถือว่าเป็นการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย stakeholders ทุกกลุ่มว่ามีความต้องการอะไร อีกทั้งยังเข้าไปจัดการ หรือทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ ทำให้เกิดการจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบมากขึ้น มีความยั่งยืนมากขึ้น ตรงนี้เองจะตอบโจทย์ผู้ลงทุนในเรื่องของความเชื่อมั่น เพราะบริษัทมีนโยบายในการบริหารจัดการความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และหากได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนที่เป็นสากลอย่าง DJSI แล้ว หมายความว่าบริษัทเหล่านี้มีความยั่งยืนมากกว่าบริษัทอื่น ๆ และถ้าเลือกลงทุนจะมั่นคงมากกว่า ไว้วางใจได้มากกว่า”

“การจะคงสถานะไว้ในลิสต์ DJSI ในแต่ละปี ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะแต่ละคะแนนที่กว่าจะได้มาถือว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะทุกปีจะมีการปรับเปลี่ยนคำถามเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ๆ หรือถ้าในกลุ่มอุตสาหกรรมใดมีบริษัทที่ได้คะแนนเต็ม ในปีถัดไปจะมีการ reset คำถามใหม่ทั้งหมดอีกด้วย”

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการส่งเสริมบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่เข้าสู่ตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนในระดับสากล เพื่อพัฒนาบริษัทจดทะเบียนไทยให้ได้รับการยอมรับด้านความยั่งยืนในระดับสากล และสามารถก้าวไปสู่การเป็นสมาชิกดัชนี DJSI ซึ่งผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกให้การยอมรับและใช้เป็นข้อมูลในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหลักสูตร DJSI exclusive training ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงการให้คำปรึกษาเชิงลึก เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประเมินเข้าสู่ดัชนี DJSI

อีกทั้งยังส่งเสริมให้ บจ.ตระหนักถึงความสำคัญและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเป็นแกนหลักในทุกกระบวนการ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับโลก ขณะเดียวกัน ข้อมูลด้าน ESG ยังจะช่วยให้ บจ. มี checklist เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ stakeholders ได้

นอกจากนี้ ในระดับประเทศ ตลท.ยังจัดทำดัชนีความยั่งยืนของ บจ.ไทย (SET Thailand Sustainability Index : SET THSI) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ บจ.ไทยยกระดับความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับและไว้วางใจจากผู้ลงทุนในอีกทางหนึ่งด้วย